รีวิวเจาะลึก Sony A6500 ตอน 1: The Intro of The Speed Monster Leave a comment

รีวิวเจาะลึก Sony A6500 ตอน 1: The Intro of The Speed Monster

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่ารีวิว Sony A6500 ครั้งนี้ไม่ใช่บทความตอนเดียวจบเหมือนทุกครั้งนะจ๊ะ ในตอนที่ 1 นี้เราจะพูดถึง A6500 โดยภาพรวมกันก่อนและในตอนต่อๆไปจะทดสอบลงลึกกันในแต่ละประเด็นมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้าน ความเร็วโฟกัส การถ่ายกลางคืน ระบบกันสั่น และวิดีโอจากตัว A6500 อยากฝากทุกคนช่วยติดตามกันด้วยนะครับ ^_^

Speed Monster Introduction

Speed Monster เป็นชื่อเล่นสุดจิ๊ดที่ Sony ตั้งให้กับกล้อง Sony A6500 และ A6300 ซึ่งได้มากจากความเร็วสุดโหดของทั้งสองตัว ไม่ว่าจะเป็นระบบโฟกัสที่ไวและระบบ Tracking ติดตามวัตถุที่หนึบมากๆ การถ่ายภาพต่อเนื่องที่เร็วสุดถึง 11 ภาพต่อวินาที และที่ฮือฮาที่สุดสำหรับ A6500 กับการบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่ที่รัวภาพต่อเนื่องได้กว่า 300 ภาพโดยไม่หยุดพัก ยิงกันหูดับตับไม้เกรียม แถมด้วยความสามารถด้านวิดีโอ 4K ที่อาจเรียกได้ว่าดีอันดับต้นๆของ Sony Mirrorless ทั้งหมดทำให้ A6500 และ A6300 มีความโหดราว Monster ตัวน้อยๆที่เหมาะกับการโลดแล่นในโลกแห่ง Speed อย่างการถ่ายวัตถุความเร็วสูงเป็นอย่างมากสมชื่อ Speed Monster

Sony A6500 พี่ใหญ่สุดแห่ง Speed Monster

ณ ปัจจุบัน Sony A6500 ถือว่าเป็นรุ่นเรือธงสูงสุดในระดับ Mirrorless APS-C ของ Sony และไม่ได้ออกมาแทนที่ A6300 แต่อย่างใดเพียงแต่เป็นการเพิ่มตัวเลือกในตลาดให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ในหลายระดับราคามากขึ้น A6500 จึงวางตัวเป็นรุ่นเรือธงที่สูงกว่า A6300 ด้วยสเปคที่สูงตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้ที่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกอย่างจริงจังรวมไปถึงช่างภาพมืออาชีพ ทำให้ตอนนี้ไลน์ของ A6000 Series จึงประกอบด้วย 3 รุ่นด้วยกัน A6000, A6300 และรุ่นล่าสุด A6500

ซึ่งจุดเด่นของ A6500 คือคุณภาพของวิดีโอ 4K และความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่สูง ระบบ Tracking ติดตามวัตถุที่ดีและบัฟเฟอร์ภาพขนาดใหญ่ ทำให้กล้องรุ่นนี้เหมาะสำหรับผู้ถ่ายวิดีโออย่างจริงจัง ช่างภาพที่ถ่ายกีฬาหรือถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว

การออกแบบดีไซน์

การออกแบบของ A6500 นั้นเกือบจะเหมือนกับ A6300 เดิมเป๊ะๆเรียกว่าให้แฟนพันธุ์แท้มาปิดตาคลำก็ยังทายยากเลย เพราะเขาเปลี่ยนแค่ในส่วนของกริ๊ปจับที่ลึกขึ้นและตำแหน่งการวางปุ่มบางปุ่มเท่านั้นได้ยินแบบนี้แล้วอย่าเพิ่งเบื่อกันเพราะจุดแข็งของ A6500 ไม่ใช่ข้างนอกแต่เป็นข้างในต่างหาก!

บอดี้และวัสดุที่ใช้

Sony A6500 ใช้บอดี้ที่ทำจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ทั้งตัวซึ่งทำให้มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา กล้องระดับโปรเกือบทั้งหมดมักเลือกใช้วัสดุนี้เพราะมีความแข็งแรงมาก นอกจากนี้ยังเสริมความถึกทนด้วย Weather Seal ทำให้กล้องสามารถป้องกันฝุ่นและละอองน้ำได้ซึ่งช่วยให้กล้องสามารถทำงานกลางสายฝนได้สบายๆแต่อย่าลืมว่าเลนส์ที่ใส่ก็ต้องกันน้ำด้วยนะครับ

การจัดวางปุ่มและการจับถือ

เรื่องการจับถือ Sony ทำได้ดีมาตั้งแต่สมัย NEX เลยครับมาในรุ่นนี้เอง Sony A6500 มีการปรับในส่วนของกริ๊ปจับให้มีความลึกมากขึ้นกว่า A6300 คล้ายๆกับกริ๊ปจับของ A7 ช่วยให้การจับถือทำได้ถนัดขึ้น เกาะติดนิ้วดีขึ้นไปอีก

อีกจุดที่ A6500 เปลี่ยนไปจาก A6300 คือปุ่ม C1 และ C2 ที่ถูกย้ายมาไว้ตำแหน่งนี้ ใกล้นิ้วชี้มากขึ้นเพื่อให้กดใช้ได้สะดวก(เดิมจะอยู่ทางด้านหลัง)

ในจุดอื่นๆการวางปุ่มยังคงสไตล์ของ Sony ตามปกติ หากใครใช้ Sony มาก่อนอยู่แล้วก็แทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย

จากที่ผมได้ทดสอบนำ Sony A6500 ไปใช้การจับถือนั้นทำได้ดีเลยครับ กริ๊ปจับใหญ่และลึกทำให้ถือมือเดียวได้สะดวกไม่ต้องเอานิ้วจิกไว้แค่วางนิ้วเกี่ยวกริ๊ปเบาๆก็เกาะติดมือได้ดีแล้ว ในการออกแบบการจับถือนับว่า Sony ทำออกมาได้ดีอันดับต้นๆในตลาดเลย บางท่านอาจจะมีความเห็นต่างจากผมเพราะมือเราทุกคนต่างไม่เหมือนกันแนะนำให้ไปลองจับดูด้วยตัวเองก่อนที่ร้าน ZoomCamera ได้นะครับ ส่วนตัวผมลองแล้วขอบอกเลยว่าการจับถือนั้น”รักเลยยย”

Front End LSI อะไรเอ่ยเพิ่มเข้ามาใหม่

Front End LSI(Large Scale Integration) เป็นชื่อชิปใหม่ที่ Sony ใส่มาใน A6500 มาทำหน้าที่เป็นเพื่อนช่วยคิดให้กับ Bionz X เจ้าเก่าผลที่เกิดขึ้นคือการประมวลผลที่รวดเร็วขึ้น บัฟเฟอร์ที่ขยายใหญ่มากขึ้นมหาศาลรองรับ JPEG ได้กว่า 300 ภาพและ RAW กว่า 100 ภาพ Sony ยังกล่าวว่าการจัดการ Noise ใน ISO สูงก็จะดีขึ้นด้วย แต่ดีแค่ไหนรอติดตามกันได้ในรีวิว A6500 ตอนต่อไปนะครับ

มาแล้ว Touchscreen ที่แฟนๆเรียกร้อง

เรามักคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของ Sony ที่เป็นเจ้าเทคโนโลยีอันดับต้นๆน่าแปลกที่กล้อง Mirrorless ของ Sony ส่วนใหญ่กลับไม่มีหน้าจอแบบ Touchscreen ซึ่งแทบจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในสมัยนี้ซึ่ง Sony จะมีเพียงกล้อง Mirrorless ในระดับเริ่มต้นไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่มี Touchscreen ส่วนหนึ่งเพราะ Sony มองว่ามันไม่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพแต่ด้วยความที่สาวกในบ้านเราเรียกร้องกันเขาก็สนองให้ใน A6500 ตัวนี้ด้วยการใส่หน้าจอขนาด 3.0 นิ้วแบบ Touchscreen มาให้แล้ว

จอ Touchscreen ทำอะไรได้บ้าง

1. ประโยชน์แรกเลยคือ Touch AF การจิ้มเลือกจุดโฟกัส เราไม่จำเป็นต้องกดปุ่มย้ำๆๆๆๆๆๆเพื่อเลื่อนจุดโฟกัสอีกแล้ว แค่เอาปลายนิ้วจิ้มเบาๆบนจุดที่ต้องการก็เลือกจุดโฟกัสได้เลยช่วยให้เกิดความรวดเร็วและช่วยได้มากในการเลือกจุดโฟกัสขณะถ่ายวิดีโอ

2. เราสามารถใช้หน้าจอเป็น Touch Pad ได้โดยเมื่อกำลังใช้ช่องมองภาพสามารถใช้นิ้วกวาดบนหน้าจอเพื่อเลื่อนจุดโฟกัสได้

3. การจิ้มสองครั้งขณะดูภาพถ่ายจะเป็นการขยายภาพ

Touchscreen ที่ยังพัฒนาได้อีก

การเพิ่มหน้าจอ Touchscreen เข้ามานับเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของ A6500 แต่ก็ยังมีหลายจุดที่ผมมองว่ามันยังดีได้อีกแค่ Sony ให้เวลากับมันมากขึ้นอีกนิ๊ดดด

1. การสัมผัสเลื่อนจุดโฟกัสยังไม่ลื่นไหลเท่าไหร่นัก

2. ระบบ Touch Pad ถ้าปกติคุณเป็นคนใช้ตาขวามองช่องมองภาพจะใช้งานได้ดี แต่ถ้าคุณใช้ตาซ้ายซึ่งผมเองก็เช่นกันปัญหาที่เจอคือจมูกของเราจะไปโดนหน้าจออยู่เสมอๆทำให้เกิดการเลื่อนจุดโฟกัสโดยไม่ตั้งใจซึ่งปัญหานี้เป็นเหมือนกันทุกยี่ห้อที่มีลูกเล่น Touch Pad แบบนี้และเมื่อใช้ช่องมองภาพหน้าจะแนบใกล้จอมากเกินไปจนการนำนิ้วเข้าไปกวาดๆใช้ Touch Pad ทำได้ลำบาก ซึ่งผมเดาว่า Sony เองเห็นปัญหานี้อยู่ก่อนแล้วจึงเพิ่มเมนูให้ Touch Pad หรือ Touch AF สามารถเลือกเปิด-ปิดฟังก์ชั่นได้ หากใครไม่ชอบก็สามารถตั้งค่าปิดระบบนี้ได้โดยจะเลือกเปิดอันใดอันหนึ่งหรือปิดทั้งสองอย่างเลยก็ได้

3.  Touchscreen ของ A6500 นั้นไม่สามารถใช้ในหน้าเมนูได้ การจิ้มเลือกเมนู เลื่อนปรับค่าต่างๆไม่สามารถทำได้ ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากเพราะหลายครั้งการจิ้มเมนูที่ต้องการเลยมันเร็วกว่าการกดปุ่มเลื่อนไปหาเมนูที่อยู่ไกลๆ ส่วนนี้ถ้า Sony จะปล่อยเป็นอัพเดตเฟิร์มแวร์ออกมาก็คงไม่ยากนัก

ระบบกันสั่น 5 แกนครั้งแรกใน Mirrorless APS-C

ต้องปรบมือกันก่อนซัก 10 ทีเพราะนี่คือครั้งแรกในโลกสำหรับกล้อง Mirrorless APS-C ที่ใส่ระบบกันสั่นไหว 5 แกนบนเซนเซอร์เกิดขึ้นแล้วใน Sony A6500 แน่นอนข้อดีของระบบกันสั่น 5 แกนคือช่วยชดเชยการสั่นไหวได้มาก ทำให้ถ่ายกลางคืนได้ง่ายขึ้นแถมเป็น 5 แกนบนเซนเซอร์ทำให้ไม่ว่าจะใส่เลนส์อะไรเราก็มีระบบกันสั่นคอยช่วยเสมอซึ่ง Sony เองกล่าวว่ามันช่วยลดการสั่นไหวได้ถึง 5 สตอป

ระบบ 4D Focus ที่ใช้งานได้จริง

Sony A6500 มีระบบโฟกัสแบบ Hybrid ทำงานผสมระหว่าง Phase Detection 425 จุดและ Contrast Detection 169 จุด พูดกันตรงๆแบบไม่อวยจากที่ได้ทดลองใช้สำหรับโฟกัสแบบ AF-S ความเร็วอยู่ในระดับที่ดี เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป มีงอแงบ้างถ้าถ่ายกลางคินในที่แสงน้อยมากๆความเร็วจะช้าลงไปบ้าง

แต่ของเด็ดเลยคือ 4D Focus ซึ่งผมขอเรียกว่ามันเป็นระบบวิธีคิดของกล้องที่พยายามจะมองวัตถุต่างๆเป็น 3 มิติและมีคาดเดาการเคลื่อนไหวของวัตถุนั้นไว้ล่วงหน้า แถมยังจดจำวัตถุนั้นด้วยแม้วัตถุจะหลุดออกจากเฟรมไปและกลับเข้ามาใหม่กล้องจะโฟกัสตามต่อทันที 4D Focus จะเข้ามาทำงานในโหมด Tracking ติดตามวัตถุซึ่งผมได้มีโอกาสนำไปทดสอบถ่ายนก ถ่ายการชกมวย พบว่ามันทำงานได้ดีมากเกาะติดตัวแบบได้แน่นหนึบชนิดไว้ใจได้เลยทีเดียว ใครอยากเห็นการทดสอบก็รอติดตามกันได้ในรีวิวตอนต่อๆไปที่จะมีออกมานะครับ

ตัวอย่างภาพบางส่วนจากการนำ Sony A6500 ไปทดสอบถ่ายการชกมวย

วิดีโอ 4K ที่ไม่ธรรมดา!

4K VDO ไม่พูดไม่ได้เพราะนี่เป็นจุดเด่นของ Speed Monster เขาเลยตั้งแต่ A6300 ต่อเนื่องมาจนถึง A6500 เคยมีคนจาก Sony บอกผมว่าหากเน้นอยากได้รายละเอียดในวิดีโอเขาแนะนำให้เล่น A6500 มากกว่า A7 Series เสียอีกที่มาที่ไปนั้นก็เพราะว่า…

Super 35mm Format แบบ Full Pixel Readout

Sony A6500 เมื่อถ่ายวิดีโอจะครอบเซนเซอร์เป็นแบบ Super 35mm Format ใช้ความยาวเซนเซอร์แบบเต็มขนาดแค่ตัดบนตัดล่างออกเท่านั้น(ปกติถ้าเซนเซอร์ 24MP จะถ่ายวิดีโอ 4K หลายค่ายจะใช้วิธี Crop เซนเซอร์มาใช้เฉพาะส่วนเล็กๆตรงกลาง 8MP เท่านั้น) ทำให้ขนาดเซนเซอร์ที่ใช้บันทึกวิดีโอจริงใหญ่กว่าเซนเซอร์ Four Third ซะอีกและด้วยพื้นที่ขนาดนี้การบันทึกวิดีโอจึงไม่ใช่แค่ 4K แล้วครับแต่ A6500 บันทึกจริงด้วยความละเอียด 6K 20 ล้านพิกเซล!!! ความละเอียดสูงเกิน 4K ไปมาก(4K 8 ล้านพิกเซล) จากนั้นกล้องจะทำให้ลดขนาดวิดีโอลงมาเป็น 4K ผลที่ได้คือแม้จะเป็นวิดีโอ 4K เหมือนกันแต่ 4K ที่ถูกลดขนาดลงมาจาก 6K ย่อมให้รายละเอียดที่ดีกว่า

ในส่วนนี้ผมเดาๆเอาเองด้วยว่าหากอนาคตทีวีทั่วไปเรารองรับ 6K ทาง Sony อาจปล่อยเฟิร์มแวร์เพื่อปลดล็อคให้ A6500 บันทึกวิดีโอที่ 6K เลยก็น่าจะทำได้ 0_0 เพียงแต่อาจจะไม่สามารถบันทึกลงการ์ดแต่ต่อเครื่องบันทึกภายนอกอะไรก็ว่ากันไป

ตัวอย่างวิดีโอความละเอียด 4K ที่ถ่ายโดยกล้อง Sony A6500

A6500 กับเรื่องความร้อน

ในรุ่น A6300 ที่ออกมาก่อนนั้นผู้ใช้เจอปัญหาเรื่องความร้อนขึ้นเร็วจากการถ่ายวิดีโอซึ่งเราก็พอจะเดากันได้จากการที่ตัวกล้องมีสเปควิดีโอสูงมากในบอดี้ร่างเล็กๆจะเจอปัญหาเรื่องความร้อนบ้างก็ไม่น่าแปลกใจ ปัญหาเรื่องความร้อนสูงทำให้กล้องไม่สามารถถ่ายวิดีโอเป็นเวลานานได้จำเป็นต้องมีการหยุดพัก พอมาถึงรุ่น A6500 เหมือนทาง Sony จะทำการบ้านมาแล้วและเคลมว่า A6500 สามารถถ่ายวิดีโอ 4K ได้นานประมาณ 20 นาทีและใน A6500 ยังมีเมนู Auto Pwr Off Temp เพิ่มเข้ามาซึ่งเมื่อใช้กล้องจะยอมให้อุณหภูมิสูงขึ้นได้กว่าปกติช่วยให้ถ่ายวิดีโอได้นานขึ้น นอกจากนี้หลายสำนักรีวิวทดสอบก็พบว่า A6500 สามารถถ่ายวิดีโอได้นานกว่า A6300 มากพอสมควรโดยไม่ตัดหยุดพัก

บัฟเฟอร์ขนาดยักษ์ให้รัวกันจนเบื่อ

บัฟเฟอร์คือความโหดสุดๆของ Sony A6500 ด้วยชิป Front End LSI ที่ Sony ใส่มาในรุ่นนี้คอยช่วยประมวลผลเก็บข้อมูลทำให้ A6500 มีบัฟเฟอร์เก็บภาพขนาดใหญ่มากรองรับการรัวถ่ายภาพต่อเนื่องได้ถึง 301 ภาพสำหรับไฟล์ JPEG และ 107 ภาพสำหรับไฟล์ RAW ถือว่าใหญ่มากแม้เทียบกับ DSLR ระดับโปรก็ยังหายากที่จะมีบัฟเฟอร์ใหญ่ขนาดนี้ การกดดูภาพที่ถ่ายมายังสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้เขียนการ์ดเสร็จก่อน A6500 จึงเป็นกล้องรุ่นหนึ่งที่สายถ่ายกีฬาน่าจะกริ๊ดกันเลยทีเดียว

การรองรับการ์ดความเร็วสูง

สาเหตุที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้เพราะว่า Sony A6500 ถ่ายวิดีโอด้วยความละเอียดสูง 4K 100Mbps แถมมีการถ่ายภาพต่อเนื่องเร็วถึง 11 ภาพต่อวินาทีและแม้จะมีบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่รองรับแต่เราก็ควรเลือกใช้การ์ดที่มีความเร็วสูงเพื่อให้กล้องสามารถเขียนข้อมูลลงการ์ดได้ทัน หากการ์ดเร็วพอเราอาจจะสามารถรัวภาพ JPEG ไปได้ไม่รู้จบจนแบตฯหมดเลยทีเดียว

ตัว Sony A6500 รองรับการ์ด SDXC แบบ UHS-I (น่าเสียดายที่ไม่ให้ UHS-II มา)โดยถ้าใครอยากรัวเป็นปืนกลแบบกดสูตรกระสุนไม่จำกัดละก็ผมแนะนำให้เลือกการ์ดที่มีความเร็ว 60MB/s – 90MB/s ขึ้นไปยกตัวอย่างบางรุ่นเช่น

ช่องใส่การ์ดและแบตฯอยู่ในตำแหน่งเดียวกันด้านใต้กริ๊ปและ A6500 ยังคงใช้แบตฯ NP-FW50 รุ่นเดิมหากใครมี Mirrorless Sony รุ่นอื่นอยู่แล้วก็สามารถนำแบตฯมาใช้กันได้ครับ

พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ

พอร์ตที่ให้มาใน Sony A6500 นั้นจะมี

microUSB ที่ใช้ในการโอนถ่ายข้อมูลและใช้ชาร์ตแบตเตอรี่กล้องด้วยครับ กล้อง Sony รุ่นใหม่ๆเดี๋ยวนี้ไม่ให้ที่ชาร์ตแยกแล้วอาศัยเสียบสายชาร์ตในตัวกล้องเลย ข้อดีคือมันสามารถชาร์ตผ่าน Power Bank ได้ด้วย และสำหรับในรุ่น A6500 เราสามารถชาร์ตไปถ่ายไปได้ด้วยครับ

microHDMI สำหรับส่งสัญญาณภาพออกจากกล้อง โดย A6500 รองรับ Clean HDMI ด้วย

3.5mm Microphone สำหรับต่อไมโครโฟนภายนอก แต่น่าเสียดายที่ไม่ให้ช่องต่อหูฟังมาด้วย กั๊กพอร์ตนี้กันมาตั้งแต่รุ่น A6300 เลย

Hotshoe แฟลชแบบ Multi-Interface Shoe มีขั้วไฟฟ้าด้านในเพื่อส่งข้อมูลดิจิตอลทำให้สามารถต่ออุปกรณ์อย่างไมโครโฟนภายนอกได้

การเชื่อมต่อทั้ง Wi-Fi และ NFC มีให้ครบเลย

เปรียบเทียบ A6000 vs. A6300 vs. A6500

A6500 vs. A6000

หากคุณใช้ A6000 อยู่และอยากจะขยับขึ้นไปสู่ระดับที่โปรมากขึ้นการเปลี่ยนมาเป็น A6500 ถือว่าก้าวกระโดดทีเดียวเพราะสิ่งที่จะได้เพิ่มมาคือ

  • บอดี้ที่จับถนัดมากขึ้น(กริ๊ปใหญ่ขึ้น)
  • บอดี้ทนทานมากขึ้นจากชิ้นส่วนแมกนีเซียมอัลลอยด์ที่มากขึ้นและมีซีลกันฝุ่นกับละอองน้ำ
  • ถ้าชอบถ่ายกีฬา Front End LSI จะทำให้บัฟเฟอร์ใหญ่ชนิดรัวภาพจนเบื่อไปเลย
  • ได้ระบบกันสั่น 5 แกนจากเดิมที่ต้องพึ่งกันสั่นในเลนส์เท่านั้น
  • จุดโฟกัสที่เยอะกว่ามาก(425+169 vs. 179+25)
  • A6500 สามารถใช้ PDAF กับเลนส์นอกค่ายได้ทำให้การใส่เมาท์แปลงอย่าง Techart Pro หรือ Sigma MC-11 จะโฟกัสได้เร็วสบายๆ
  • ได้ Silent Shutter สามารถแอบถ่ายได้โดยไม่มีเสียงชัตเตอร์
  • ได้ระบบ Touchscreen แม้จะเป็น Touchscreen ที่ดูทำอะไรได้น้อยไปหน่อยก็ตามแต่ก็ดีกว่าไม่มี ฮ่า ฮ่า
  • ช่องมองภาพ EVF ละเอียดขึ้นเกือบเท่าตัว
  • วิดีโอ 4K ละเอียดขึ้นกว่าเดิม 4 เท่า หรือหากจะถ่ายที่ Full HD ตัว A6500 ก็ยังทำเฟรมเรตได้สูงกว่าถึง 100fps(120fps)
  • ได้ช่องต่อไมโครโฟนเพิ่มมา
  • ได้ S-Log2, S-Log3 ซึ่งดีมากหากคุณคิดจะเอาวิดีโอไป Grading ต่อ
  • A6500  สามารถชาร์ตแบตฯผ่าน Power Bank ได้

A6500 vs. A6300

ถ้าคุณใช้ A6300 อยู่การเปลี่ยนไปใช้ A6500 ดูจะไม่จำเป็นขนาดนั้นเพราะสเปค A6300 เองก็นับว่าสูงมากระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้ากำลังตัดสินใจซื้อระหว่างสองตัวนี้คงต้องถามตัวเองแล้วครับว่า คุณใช้เลนส์ที่ไม่มีกันสั่นบ่อยมั้ย ถ่ายภาพต่อเนื่องบ่อยถึงขนาดต้องการบัฟเฟอร์รองรับเป็นร้อยๆภาพหรือเปล่า ถ้าหากเน้นถ่ายภาพทั่วไป ถ่ายเป็นงานอดิเรกแต่จริงจังอยากได้ไฟล์ดี วิดีโอโหด ผมมองว่า A6300 นั้นอาจเพียงพอแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยุ่กับการใช้งานของแต่ละคนนะครับลองเลือกกันดูเน้ออ

หากเลือก A6500 สิ่งที่จะได้เพิ่มมาจาก A6300 คือ

    • ระบบกันสั่นที่เซนเซอร์แบบ 5 แกน
    • จุดโฟกัสแบบ Contrast Detection ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การ Tracking ติดตามวัตถุแม่นยำมากขึ้น
    • บัฟเฟอร์รองรับภาพมากขึ้น
    • หน้าจอแสดงผลแบบ Touchscreen
    • จุดเล็กน้อยแต่เผื่อมีใครชอบคือปุ่ม C1, C2 ที่ย้ายไปอยู่ด้านบนทั้งหมด
    • Video Photo Capture ฟังก์ชั่นที่ใช้แคปภาพออกมาจากวิดีโอ 4K

บทสรุปตอนที่ 1

ถ้าคุณชอบ APS-C และกำลังมองหากล้อง APS-C ที่ตัวเดียวจบ…ณ ตอนนี้ผมมองว่า A6500 นั้นเหมาะมากสเปคภาพนิ่งโหด ไฟล์ดี รัวต่อเนื่องได้มาก โฟกัสไวไว้ใจได้ วิดีโอยิ่งโหดใหญ่  แต่ราคาตัวกล้องนั้นก็ค่อนข้างสูงจนไปแตะ A7 Series ที่เป็น Full Frame แล้วอันนี้คงต้องแล้วแต่การใช้งานของแต่ละคนครับ Sony A6500 นั้นค่อนข้างจะเป็นกล้องที่เน้นกลุ่มโปรพอสมควรเลยและวางตัวค่อนข้างชัดเจนว่าเหมาะสำหรับคนที่ถ่ายกีฬาหรือถ่ายสัตว์ป่าแบบสุดๆรวมถึงคนที่ถ่ายวิดีโออย่างจริงจัง และต้องยอมรับว่าโหดสมกับเป็นรุ่นเรือธงจาก Sony จริงๆ

Review Sony A6500 นี้เพิ่งเดินทางมาถึงตอนที่ 1 เท่านั้นนะครับรอดูการทดสอบที่เข้มข้นขึ้นได้ในตอนต่อๆไปจ้า อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ ^_^

แถมให้กับการทดสอบ A6500 ถ่ายสาว

ภาพทั้งหมดถ่ายโดย Sony A6500 + Sony E 50mm F1.8 ถ่ายไฟล์ RAW และใช้ Ligthroom เพื่อย่อขนาดรูปครับ เดิมๆไม่ปรับไม่แก้หลังกล้องออกมาเลยจ้า

บทความนี้เขียนเมื่อ วันที่ 27/03/2017

 

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save