รีวิว SIGMA 14mm F1.8 DG HSM ART Ultra wide F1.8 Leave a comment

รีวิว SIGMA 14mm F1.8 DG HSM ART Ultra wide F1.8

สวัสดีครับเพื่อน ทักทายกันก่อนเลย คราวนี้ผมได้มีโอกาสรีวิวเลนส์อีกแล้ว รอบนี้เป็นการ รีวิว SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั่นเองครับ ต้องขอขอบคุณทาง SIGMA ประเทศไทย หรือ  บริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มา ณ ที่นี้ด้วย ที่ให้ยืมเลนส์ใหม่สด ๆ ร้อน ๆ มารีวิวในนี้ เลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ถือได้ว่าเป็นเลนส์ไวด์ตัวแรกของโลกก็ว่าได้ที่ที่มีรูรับแสงกว้างสุดที่ F1.8 เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาจริง ๆ เสียดายที่ผมมีเวลาอยู่กับการ รีวิวSIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นน้อยไปนิดเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ซึ่งช่วงนี้ก็หน้าฝนซะด้วยเลยมีโอกาสเก็บภาพจากเจ้าเลนส์ตัวนี้น้อยไปนิด ใจจริงอยากลองเอาไปถ่ายดาวเพราะ F กว้างสะใจ แต่ก็พยายามจะเก็บภาพหลัก ๆ ของการรีวิวมาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เพื่อน ๆ ได้เห็นคุณภาพของเลนส์ เชิญติดตามได้เลยครับผม

สำหรับการ รีวิว SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นเราได้ทำเป็นวิดิโอด้วยสามารถดูได้ที่นี่ครับ

สเปคSIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART

ก่อนจะไปดูตัวจริง เรามาดูเสปกหลัก ๆ ของการรีวิว SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ตัวนี้กันก่อนครับ ซึ่งจะบอกรายละเอียด เสปกSIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นี้ไว้อย่างคร่าว ๆ ครับ

มาต่อกันด้วยการดูโครงสร้างเลนส์กันเสียก่อน โดยที่เลนส์ตัวนี้นั้นใส่ชิ้นเลนส์แบบพิเศษมามากมายเลยทีเดียวตามภาพโครงสร้างเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ด้านล่างครับผม

เลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นใส่ชิ้นเลนส์พิเศษไว้มากมายครับ ตามที่เห็นดังภาพด้านบน ทั้ง SLD 4ชิ้น  ASP 4ชิ้น และ FLD 4 ชิ้น ซึ่งมีคุณสมบัติตามนี้ครับ

ASP หรือ Aspherical มีคุณสมบัติในการแก้ความบิดเบี้ยวของภาพ (Distortion)

SLD หรือ Special Low Dispersion ลดการฟุ้งของแสง ลดความเหลื่อมของสี ให้ได้ภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น

FLD หรือ (“F” Low Dispersion) ช่วยลดการกระจาย หรือกระเจิงของแสง มีการหักเหแสงที่น้อยที่สุด แสงผ่านได้เยอะ ซึ่งเป็นชิ้นเลนส์ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าเลนส์ flourite นั่นเอง

รูปร่างหน้าตา SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART

เลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ถูกวางอยู่ในกลุ่มของเลนส์ ART ตามการแบ่งซีรี่ย์เลนส์ของ SIGMA ซึ่งเลนส์เหล่านี้จะถูกออกแบบมาตามแบบฉบับของเลนส์ ART ผิวด้านนอกเป็นแบบเรียบ ๆ เนียน ๆ ดูหรูหราเช่นเดิม ด้านข้างก้จะมีสวิทซ์สลับระหว่าง AF/MF ตามปกติทั่วไปของเลนส์ทุกตัวครับ

เรามาดูด้านบนจะเห็นว่ามีสเกลแสดงระยะโฟกัส พร้อมกับถัดมาด้านหน้าเลนส์ จะเป็นโฟกัสริง หรือวงแหวนปรับโฟกัส และมีฮูดติดมากับเลนส์ไม่สามารถถอดได้

อย่างที่บอกไปว่าหน้าเลนส์จะติดเลนส์ฮูดมาเลยบวกกับหน้าเลนส์จะนูนออกมาเยอะเลยเพราะฉะนั้นจะไม่สามารถใส่ฟิลเตอร์แบบธรรมดาได้แน่นอนครับ ซึ่งหลัง ๆ เลนส์ไวด์ของ SIGMA เองก็มีหลายตัวที่ไม่สามารถใส่ฟิลเตอร์วงกลมได้ สำหรับภาพเล็กสังเกตว่าที่ชิ้นเลนส์ด้านนอกจะเหมือนว่ามันไม่กลมนูนตามปกติ จะแบนตรงกลาง ซึ่งเลนส์แบบนี้คือเลนส์ Aspherical เป็นเลนส์พิเศษแก้ความคลาดเคลื่อนทรงกลม หรือแก้ความบิดเบี้ยวนั่นเอง (เหมือนเลนส์ Sigma 12-24mm F4 DG HSM ARTที่วางชิ้นเลนส์ Aspherical ไว้ด้านหน้า)

ในบทความรีวิวนี้ส่วนใหญ่แล้วเจ้าเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ตัวนี้จะถูกประกบกับกล้อง Sony A7R Mark II แต่ตัวเลนส์ถูกออกแบบมาเพื่อเม้าท์ Canon,Nikon,SIGMA แบบฟูลเฟรมการที่จะใส่กับกล้อง Sony Mirrorless แบบ Sony A7R Mark II ได้ก็ต้องผ่าน Adapter นั่นเองในที่นี้ผมใช้ MC-11 ของ SIGMA นั่นเองซึ่งสามารถนำเอาเลนส์ Sigma ที่เป็นเม้าท์ Canon มาใส่ได้และเป็น Auto focus ครับผม

แต่ด้วยความที่เลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นถูกออกแบบมาสำหรับกล้อง DSLR ขนาดและน้ำหนักตัวก็ไม่ค่อยจะสมดุลกับกล้องที่เป็น Mirrorless สักเท่าไหร่ครับ น้ำหนักจะค่อนไปทางเลนส์ซะมากกว่าเพราะเลนส์ตัวนี้มีน้ำหนักถึง 1,120 กรัมครับผม และอีกหนึ่งข้อสังเกตเมื่อใส่ตัวเลนส์ผ่าน Adater MC-11 แล้วตอนโฟกัสจะมีความรู้สึกเหมือนมีเสียงหรือความรู้สึกกึก ๆเหมือนมีการขยับก่อนจะโฟกัสเข้าเล็กน้อย และความเร็วโฟกัสจะช้ากว่าการใช้เลนส์เม้าท์ Sony โดยตรงนิดหน่อยครับ แต่ไม่ได้น่าเกลียดจนใช้งานไม่ได้ (แต่เอาไปใช้กับ Canon,Nikon จะไม่เจออาการนี้)

ความคมชัด รายละเอียดของ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART

ภาพตัวอย่างที่จะให้ดูรายละเอียดนี้ ผมถ่ายด้วยกล้อง A7R II เปิดรูรับแสงที่กว้างสุด F1.8 โดยตอนที่ถ่ายถ่ายเป็นไฟล์ JPEG และไม่ได้ตกแต่งเรื่องความคมแต่อย่างใด อาจจะมีการปรับแสงให้สว่างขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นครับ

เรามาดูตรงจุดแรกนั่นก็คือช่วงกลาง ๆ ภาพ จะเห็นว่ารายละเอียดที่ได้นั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ จากส่วนที่ผมครอปมาจะเห็นได้ว่า รายละเอียดในส่วนที่ไกลมาก ๆ อย่างตึก ก็ยังเห็นรายละเอียดอยู่ครับ

มาถึงส่วนที่สองนั่นก็คือส่วนที่อยู่ค่อนไปทางข้างภาพ เหตผลที่เลือกจุดนี้ก็เพราะว่าอยากให้เห็นว่าเลนส์สามารถเก็บรายละเอียดของตัวหนังสือซึ่งภาพเต็มภาพแรกแทบจะมองไม่เห็น แต่เมื่อซูมมาดูก็เห็นตัวหนังสือชัดเจนสามารถอ่านได้ชัดเจนครับ

ความคมขอบภาพ

มาถึงในส่วนของความคมขอบภาพเปรียบเทียบกับกลางภาพกันของเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART กันบ้างครับ โดยที่ผมจะทำการเปรียบเทียบรีวิวให้ดูเป็น F ที่กว้างสุด และ F ที่คมที่สุดที่ผมทำการทดสอบซูมดูภาพ นั่นคือกว้างสุด F1.8 และ ประมาณ F8 เป็นช่วงที่คมที่สุด (จริง ๆ F8 และ F5.6 ความคมใกล้เคียงกันแทบแยกไม่ออกครับ ต้องเรียกเพื่อน ๆมาเพ่งดูกันหลายคนเลย ฮ่า ๆ)

 

มาเริ่มที่ F1.8 กว้างสุดกันก่อนครับ โดยที่ความคมกลางภาพก็ตามภาพตัวอย่างด้านบน เป็นภาพ Crop 100%  คือความคมอยู่ในระดับที่ดีทีเดียวครับ รายละเอียดก็มาครบ จริง ๆ เราแทบไม่ต้องสงสัยถึงเลนส์ ART ของ SIGMA ที่ Fกว้างสุดเลยครับ เพราะหลาย ๆ ตัวทำได้ดีมาก ๆ เรียกได้ว่าที่ F กว้างสุดสามารถหวังผลได้สบายครับ

ด้วยความที่เจ้า SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นเป็นเลนส์ไวด์ที่กว้างมาก และ ยังใส่เลนส์ที่มีความสว่างสุด F1.8 แน่นอนว่าขอบภาพมีอาการเบลอกว่ากลางภาพอยู่แล้วครับ (ซึ่งเลนส์หลาย ๆ ตัวในตลาดก็ขอบภาพคมน้อยกว่ากลางภาพใน F กว้าง ๆ เป็นเรื่องปกติ) แต่มีข้อสังเกตว่าเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นขอบภาพตรงช่วงกลาง ๆ ก็ยังถือว่าทำได้ดีนะครับ จะมีเพียงแค่มุมภาพทั้ง 4 ด้านที่มีความยืดเบลอ ผมว่าก็ทำได้ดีในเลนส์ที่กว้างมาก ๆ และ รูรับแสงกว้างขนาดนี้ครับ

กลางภาพนี่หายห่วงครับ คมชัดเจนรายละเอียดมาเต็มชัดเจนครับ

ที่นี้มาดูขอบภาพครับ จะเห็นได้ว่าอาการดีกว่า F 1.8 มากทีเดียว ปกติการหรีรูรับแสงให้แคบลงจะช่วยให้อาการขอบภาพเบลอลดลงครับ นั่นเป็นเพราะเรื่องการกระเจิงของแสง แต่ถ้าแคบเกินไปก็จะทำให้ความคมน้อยลงเช่นกันครับ ซึ่งผมทดสอบมาแล้วว่าเลนส์ตัวนี้ความคมที่เหมาะสม และคมที่สุดนั่นก็คือ F8 นั่นเอง

เปรียบเทียบมุมระหว่าง 12mm,14mm,16mm

สำหรับคนที่ยังตัดสินใจหรืออยากรู้ว่าเลนส์แต่ละระยะที่ขายกันอยู่ในตลาด สำหรับ Fullframe นั้นมีองศารับภาพแตกต่างกันประมาณไหน นึกภาพไม่ออก ยังไม่รู้ว่าภาพแต่ละระยะนั้นเก็บได้ประมาณไหน ผมได้ทำการเปรียบเทียบให้เรียบร้อย เพื่อใครที่ตัดสินใจอยู่ว่าระยะไหนที่เราต้องการตามภาพตัวอย่างด้านล่างครับผม

Distortions ความบิดเบี้ยวของเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART

ด้วยความที่เลนส์ตัวนี้เป็นเลนส์ไวด์ และเป็นเลนส์ที่ระยะกว้างมาก ๆ บน Fullframe นั้นสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างนึงนั่นก็คือความบิดเบี้ยวหรือ Distortions นั่นเองครับ ดูจากภาพด้านบน ถ้าสังเกตเส้นเพดานสีขาวตัดกับผนังก็จะเห็นได้ว่าเลนส์ตัวนี้มีความปิดเบี้ยวน้อยมากครับ จะมีความโค้งลงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าใครดูไม่ออกก็สามารถดู กราฟด้านล่างที่ผมแนบให้ดูเพิ่มเติมก็ได้ครับผม

ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นครับว่าเลนส์ตัวนี้จะมีความบวมตรงกลางเพียงแค่นิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งผมถือว่าทำได้ดีมากสำหรับเลนส์ไวด์ครับ นั่นอาจจะเป็นเพราะทาง SIGMA ใส่เลนส์แก้ความบิดเบี้ยวคลาดเคลื่อนทรงกลม หรือเลนส์ Aspherical มาถึง 4 ชิ้นเลยทีเดียวครับผม

vignette ขอบมืด ของเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART

ด้วยความที่ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นเป็นเลนส์ไวด์รูรับแสงกว้าง สิ่งนึงที่เพื่อน ๆบางคนอาจจะอยากรู้เป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือเรื่อง vignette หรือ ขอบดำ ของเลนส์นั่นเองครับ

เลนส์ตัวนี้มีขอบภาพดำหรือ vignette ตั้งแต่ F1.8 ที่เห็นชัดอยู่พอสมควรครับ ซึ่งการหรี่รูรับแสงให้แคบลงจนจะทำให้ vignette ค่อย ๆลดลงและไม่ค่อยเห็นแล้ว ก็อยู่ที่ราว ๆ F5.6 ขึ้นไปครับ

CA ขอบม่วง

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเลนส์  SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นเป็นเลนส์ที่ แก้เรื่องขอบม่วงได้ดีครับ โดยปกติแล้วเลนส์ที่รูรับแสงกว้างขนาดนี้จะเห็น ขอบม่วงมาชัดเจนกว่านี้ครับ สำหรับเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ตัวนี้ถือว่าน้อยครับต้องซูมหา และ เมื่อเจอก็ไม่ได้กินออกมาเยอะ สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ได้ด้วย ไม่กี่คลิกในโปรแกรมแต่งภาพ หรือ การหรี่รูรับแสงก็ช่วยได้เช่นกันครับ

เลนส์ไวด์ F1.8 ละลายหลังได้มั้ย ?

อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจ สำหรับเลนส์ไวด์ที่ 14mm แต่ F กว้าง 1.8 นั้นสามารถที่จะเบลอฉากหลัง หรือละลายหลังได้หรือไม่ ผมตอบเลยก็ได้ครับ ว่า ได้ครับ แต่ได้แค่ไหน ดังนั้นผมจึงได้ทดสอบมาให้เห็นใน 3 รูปแบบครับ

เลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นสามารถเข้าใกล้ได้มากสุด 27cm เพราะฉะนั้นภาพแรกผมจึงถ่ายนายแบบของเราใกล้สุดที่ผมจะสามารถโฟกัสได้ เมื่อเข้าใกล้มาก ๆ และเปิดรูรับแสงที่ 1.8 ก็สามารถที่จะละลาย หรือ เบลอฉากหลังได้ สร้างมุมมองแปลก ๆ ได้ดีทีเดียวครับ เป็นมุมไวด์ที่ละลายหลังได้ เท่มั้ยหล่ะ !!

สถาณะการณ์ที่สองผมลองให้แบบถอยหลังออกไปอีกหน่อยก็จะได้การละลายหลังแบบที่เห็นในภาพด้านบนครับ

สุดท้ายแล้วให้ถอยออกไปถีกจนเรียกได้ว่าเป็นช็อตประมาณหัวเข่าการละลายหลังก็จะลดลงตามลำดับ แต่ก็ยังพอเห็นว่ามีความเบลออยู่บ้างในส่วนที่ไกล ๆ ออกไปครับ

Star Effect แฉกไฟ

สิ่งหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้เลยก็คือการทดสอบแฉกไฟ ของเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART กันหน่อยครับ เพราะสายถ่ายไฟก็น่าจะอยากรู้กัน ต้องบอกก่อนว่าวันที่ผมจะไปทำการถ่ายทดสอบแฉกไฟนั้นฝนตกหนักผมหามุมถ่ายยากมาก ที่จะให้เกิดแฉก และไม่โดนฝนสาด แต่ก็ถ่ายมาจนได้ครับ

ผมถ่ายโดยการไล่ F อีกเช่นเคย ผมคัดมาให้ดูเริ่มต้นที่ F4 เลย เพราะถ้ากว้างกว่านี้ก็ไม่เกิดแฉกหรือ Star Effect แม้ว่าผมจะถ่ายอยู่บนขาตั้งกล้องแต่ผมก็ต้องการสปีดที่เร็วพอสมควรในระดับหนึ่ง เพราะหากสปีดนานไป รถจะออกจากไฟแดง เลยต้องดัน ISO ช่วย ภาพอาจจะมี Noise บ้างครับ แต่ว่าเนื้อหาเรามาเพื่อดูแฉกครับ เพราะฉะนั้นภาพอาจจะแตกบ้างก็ไม่เป็นไร

เรื่องแฉกไฟสำหรับเลนส์ตัวนี้จะสังเกตได้ว่าจะเริ่มเห็นแฉกไฟที่ประมาณ F5.6 ครับ และไล่ไปเรื่อย ๆ จนสุดที่ F16 แฉกไฟของเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART นั้นจะมีทั้งหมด 18 แฉก เพราะมีกลีบรูรับแสงทั้งหมด 9 ใบ แชร์ให้ฟังนิดนึงว่าจริง ๆ แล้วผมได้ลองทดสอบถ่ายแฉกในหลาย ๆ รูปแบบหลายมุมพอสมควรสิ่งที่ผมพบเจอก็คือว่า เลนส์ตัวนี้แฉกเกิดขึ้นยากกว่าเลนส์ตัวอื่นๆ ที่ผมเคยลองครับ บางสถานะการณ์บางจุดก็เกิดแฉก บางจุดก็ไม่มีแฉก ทั้งที่อยู่ในรูปเดียวกัน บางจุดที่แสงไฟไม่พอดีที่จะให้เกิดแฉกก็ไม่เกิดแฉกเอาซะดื้อ ๆ

รูปตัวอย่างจากเลนส์ SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART

ผมมีโอกาสได้อยู่กับเลนส์ไวด์ 14mm ที่ F กว้างที่สุดในโลกอย่าง SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ไม่นานครับ ใจจริงอยากลองมากกว่านี้ อยากเอาไปถ่ายดาว แต่ก็ตามตามจำเป็น และก็ทำให้ผมได้ภาพมาประมาณหนึ่ง ซึ่งภาพเซ็ตนี้จะมีการตกแต่งในระดับหนึ่งครับ เชิญรับชมภาพตัวอย่างจาก SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ได้เลยครับผม

บทสรุป

จากการที่ผมได้ลอง รีวิว SIGMA 14mm F1.8 DG HSM  ART ผมจะสรุปให้ฟังง่าย ๆ เป็นข้อ ๆแบบนี้ละกันครับ

เลนส์เหมาะจะถ่ายอะไร ถ่ายวิว ถ่ายคน(ปาร์ตี้ที่แสงน้อย) ถ่ายได้หมด ให้มุมภาพอลังการงานสร้างฉบับเลนส์ไวด์ ที่สำคัญเป็นเลนส์ไวด์ที่ละลายหลังได้ด้วย อันนี้ชอบมาก และถ้าเอาไปถ่ายดาวผมว่าน่าจะว้าวน่าดูครับ

ความคม คมมั้ย ตอบได้ทันทีว่าคมเหลือเฟือครับ สำหรับการเอาไปถ่ายใช้งานหรือรับงาน หรือลงโซเชี่ยล หวังผลได้ตั้งแต่ F 1.8 ส่วนขอบภาพสำหรับเลนส์ไวด์ขนาดนี้ F กว้างขนาดนี้ ก็ทำได้โอเคในระดับหนึ่งแล้วครับ

Distortions ทำได้ดีมากที่เดียวเป็นเลนส์ไวด์ที่เบี้ยวน้อยมาก ๆ

ขอบม่วง (CA) เท่าที่ผมลองเป็นเลนส์ F1.8 ที่ขอบม่วงน้อยครับ ทำได้ดีทีเดียว ปกติลองเลนส์ F1.8 หลาย ๆ ตัวเจอเยอะกว่านี้

vignette ขอบดำ ถือว่ามีพอสมควรเลยทีเดียว (อันนี้บางคนก็ไม่ซีเรียส บางคนก็ซีเรียส นา ๆ จิตตังครับ)

แฉกไฟ ส่วนตัวชอบแฉกไฟที่แหลม ๆ แบบนี้ แต่ด้วยความที่มันเป็นเลนส์ไวด์ อาจจะเห็นเแฉกไฟยากหน่อย แสงไฟต้องใหญ่พอดี ถ้าใหญ่ไปและย้อนแสงตรง ๆ ก็แหลมยากครับ

ข้อสังเกต หากใช้ อแดปเตอร์ MC-11 จะทำให้โฟกัสช้าลงบ้าง และ มีการอื๊ด ๆ อ๊าด ๆ เล็กน้อยครับ

 

 

 

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save