รีวิว Nikon V1 ฉบับเต็ม Leave a comment

รีวิว Nikon V1 ฉบับเต็ม

 

เป็นที่ฮือฮากันมากตั้งแต่ Nikon ประกาศจะทำกล้อง mirrorless หรือกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้แบบไร้กระจกสะท้อนภาพ จนกระทั่งเปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการ 2 รุ่น Nikon V1 และ J1 โดยเรียกระบบกล้อง mirrorless ของ Nikon ว่า Nikon 1 หนีไม่พ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา Nikon V1 และ J1 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆให้กับวงการกล้อง mirrorless ทั้งในแง่คำชมและเสียงบ่น เพราะมีทั้งคุณสมบัติและฟังก์ชั่นที่สุดยอด รวมไปถึงสิ่งไม่พึงปรารถนาสำหรับช่างภาพ บทความนี้จะลงรายละเอียดว่าจริงๆแล้วกล้อง Nikon V1 หรือ J1 นี้มีข้อดีข้อด้อยอะไร และเหมาะสมหรือไม่เหมาะกับใคร

ปูพื้น Nikon 1 กันก่อน

ถ้าจะเรียกให้เต็มยศ กล้องรุ่นนี้ต้องเรียกว่า Nikon 1 V1 ซึ่งเป็นชื่อระบบตามด้วยชื่อรุ่น นอกจาก V1 แล้วก็ยังมีอีกรุ่นคือ J1 ที่เปิดตัวมาพร้อมๆกัน Nikon 1 เป็นระบบกล้อง mirrorless ของ Nikon โดยมี J1 และ V1 เป็นกล้องรุ่นแรก Nikon 1 system ใช้ระบบเมาท์เลนส์แบบใหม่ ไม่สามารถใช้ร่วมกับเลนส์ Nikon รุ่นอื่นๆได้โดยตรง แต่สามารถใช้ผ่าน mount adapter รุ่น FT1 ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมได้โดยต้องจ่ายเงินซื้อต่างหาก

ระบบเมาท์เลนส์แบบใหม่นี้มีขนาดเล็กกว่าเมาท์เดิมหรือที่เรียกว่า DX format ส่งผลให้ขนาดเลนส์ก็เล็กลงกว่าเลนส์รุ่นเดิมหรือเลนส์ตระกูล AF / AF-S ซึ่งทำให้ Nikon สามารถออกแบบกล้องที่เล็กลงได้ง่ายขึ้น โดยที่ Nikon ก็ต้องใช้เซนเซอร์รับภาพที่มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของ image circle หรือภาพที่ฉายจากเลนส์ โดยเซนเซอร์ระบบใหม่นี้เรียกว่า CX format ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 นิ้ว (13.2 x 8.85mm) ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่าเซนเซอร์ของระบบ four/third ของ Olympus และ Panasonic ซึ่งมีขนาด 4/3 นิ้วเสียอีก

คุณสมบัติของ Nikon V1 

ในที่นี้คงไม่ขอลงรายละเอียดระดับตารางสเปก เพราะสามารถหาดูได้ง่าย หรือจะคลิกไปดูตารางของเว็บ zoomcamera ก็ได้

จุดเด่นของ Nikon V1 และ J1 คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ Nikon เอามาชูใน promotional video ตัวนี้ ลองมาดูกันก่อนแล้วจะลงรายละเอียดไปทีละเรื่อง

Motion Snapshot โหมดนี้บอกตรงๆ ไม่เข้าใจว่ามันสำคัญขนาดที่ต้องมาอยู่บน mode dial ด้วย เว็บต่างประเทศที่รีวิวก็มองว่าเป็นแค่ลูกเล่น ผมก็ยังสงสัยว่าใครจะได้ใช้ มาดูกันว่าโหมดนี้มันทำอะไรได้
ในโหมดนี้ ตอนเรากดชัตเตอร์กล้องจะบันทึกภาพนิ่ง และบันทึกวีดีโอช่วง pre-focus (ตอนที่เพิ่งกดครึ่งเดียว) ไว้ประมาณ 1 วินาทีโดยบันทึกเป็น slowmotion เมื่อ playback กล้องก็จะแสดงวีดีโอที่สโลว์แล้วยาวรวม 2 วินาที พร้อมดนตรีประกอบที่เราเลือกได้และจบลงด้วยภาพนิ่ง จะว่าไปอารมณ์เหมือนเป็นฉากประทับใจสั้นๆในหนัง เช่น นางเอกค่อยๆหันหน้ามายิ้มหวาน 😉 หรือลูกสาวค่อยๆเป่าเทียนเค๊กวันเกิน หลังจากนั้น สิ่งที่เราจะได้ในเมมโมรี่การ์ดก็คือไฟล์ภาพนิ่ง และไฟล์วีดีโอแบบสโลว์ยาว 2 วินาทีที่ไม่มีดนตรีประกอบเพราะตัวดนตรีอยู่ในกล้อง ได้ฟังเฉพาะตอน playback จากกล้อง

ตัวอย่างภาพนิ่ง และวีดีโอที่ได้จากโหมดนี้

Smart Photo Selector ในโหมดนี้ตามสเปกบอกว่ากล้องจะถ่ายภาพ 20 ภาพในการกดชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว ที่บอกว่าตามสเปกเพราะว่าเวลาใช้งานเราจะไม่ได้เห็น 20 ภาพนั้น เพราะกล้องจะเลือกแค่ 5 ภาพที่ดีที่สุดเซฟให้เรา และยังเลือก 1 ใน 5 ที่ดีที่สุดมาร์คไว้ให้ด้วย ส่วนตัวคิดว่ามีประโยชน์ในการถ่ายช็อตที่คิดว่าเป็นจังหวะเด็ดพลาดไม่ได้ เช่น เป่าเค๊ก หรือภาพที่เคลื่อนไหว และภาพในสภาวะแสงน้อยที่อาจทำให้เบลอได้ ระบบการเลือกภาพของ Nikon V1 ทำได้ค่อนข้างดีโดยใช้หลักการวิเคราะห์การโฟกัส ความคมชัด ความถูกต้องของสีสัน และองค์ประกอบภาพ ในคู่มือยังบอกถึงขี้นว่ากล้องเลือกไม่เอาภาพกระพริบตาหรือจังหวะมือปิดหน้าได้ด้วย

ภาพที่ถ่ายจากโหมดนี้ เวลา playback จะแสดงภาพมีกรอบซ้อนๆ ให้รู้ว่ามีภาพอื่นๆให้เลือก เมื่อกดเข้าไปก็จะเห็นว่ามี 5 ภาพ (1/5 – 5/5) ไล่ดูได้และเปลี่ยนภาพ best shot เองได้

Full HD video สูงสุด 60fps โดยทั้ง V1 และ J1 สามารถถ่ายภาพนิ่งได้เต็มความละเอียดขณะกำลังบันทึกวีดีโอโดยการกดปุ่มชัตเตอร์ กล้องจะ snap ภาพนิ่งออกมาโดยที่วีดีโอที่บันทึกอยู่ก็ยังบันทึกต่อไปไม่สะดุด กดดูวีดีโอตัวอย่าง อย่าลืมเลือก 1080p และ full screen

Super slow motion video

โหมด slowmotion video ของ Nikon V1 และ J1 จะตั้งได้ที่ 400 และ 1200 fps โดยความละเอียดของวีดีโอจะถูกบังคับอยู่ที่ 640×220 และ 320×120 ตามลำดับ ซึ่งจะว่าไป 640×220 ก็พอใช้งานได้ แต่ 320×120 ออกจะเล็กไปหน่อย

ระบบออโต้โฟกัสของ Nikon V1 เป็นระบบที่ผสมทั้ง phase detecion และ contrast detection โดยกล้องจะเลือกใช้จากความเหมาะสมของ scene นั้นๆ ในสภาวะแสงพอเพียง กล้องโฟกัสได้ไวมากๆ ไม่ต่างกับ mirrorless ชั้นนำรุ่นอื่นๆ เช่น GF3, NEX-5N, E-P3 ส่วนในสภาวะแสงน้อยโฟกัสช้าลงบ้างแต่ก็ยังจัดว่าเร็วและไม่เจอปัญหาในการใช้งาน

Continuous Shooting ถือว่าเป็นฟีเจอร์พระเอกของ Nikon 1 เลย V1 ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็วสูงมากถึง 60fps ซึ่งแน่นอนว่าเร็วที่สุดในโลกตอนนี้เลย แต่แอบมีเงื่อนไขว่าในโหมด 60fps นี้ กล้องจะไม่ทำการ refocus และวัดแสงใหม่ทุกภาพ จะใช้ผลการคำนวณจากภาพแรกเป็นหลัก ถ้าหากจะให้กล้องทำงานทุกช็อต ความเร็วสูงสุดจะอยู่ที่ 10 fps ซึ่งก็ยังเร็วแบบไม่มีใครสู้ได้อยู่วันยังค่ำ บางคนอาจจะเถียงว่า NEX-5N ก็ 10 fps แต่ NEX-5N หากใช้ความเร็ว 10fps กล้องก็จะทำเหมือน V1 คือไม่โฟกัสใหม่ในภาพที่ 2 เป็นต้นไป ความเร็วในการถ่ายภาพต่อเนื่องปกติจะอยู่ที่ 5fps โดยเป็น mechanic shutter แต่สามารถปรับเป็น 10, 30, 60 fps ได้โดยเปลี่ยนเป็น electronic shutter ตัวอย่างข้างล่างทั้งหมดใช้เวลาถ่ายไม่ถึงวินาที ตั้ง frame rate ที่ 60fps บันทึกเป็นไฟล์ JPEG ความละเอียดสูงสุด กล้องเก็บได้ 30 ภาพ ตอนที่ถ่ายไม่มีเสียงชัตเตอร์เลย เพราะเป็น electronic shutter เราไม่รู้เลยว่ากล้องบันทึกไปกี่ภาพ จนกว่าจะมา playback ดูอีกที เป็นอะไรที่มันและเปลืองเมมโมรี่มากๆ

Electronic Viewfinder ความละเอียดสูง 1440000 dot ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ไม่ใช่แบบ OLED ภาพที่ได้คมชัดดีไม่รำคาญตา แต่สีไม่จัดมาก ตัว viewfinder แสดงผลครอบคลุมพื้นที่เต็ม 100% frame coverage ซึ่งน่าจะเป็นกล้องที่มีวิว built-in viewfinder ที่สุดตอนนี้ ที่ใกล้เคียงตอนนี้ก็มีแต่ Fuji X100 ที่มีความละเอียดเท่ากันแต่แสดงผลได้แค่ 90% coverage เท่านั้น

บอดี้และการออกแบบ

อุปกรณ์ในกล่องที่ให้มาสำหรับ V1 มีตัวกล้อง เลนส์ 10-30mm สายคล้องคอสีเดียวกับกล้อง แบตเตอรี่ลิเทียมรุ่น EN-EL15 ความจุ 1900mAh พร้อมที่ชาร์จ สายวีดีโอ (AV cable) สาย USB และสายไฟสำหรับต่อกับเครื่องชาร์จ ตัวกล้อง made in China ทั้งชุดจะต่างกับ J1 ตรงที่ J1 ไม่มีสายต่อวีดีโอมาให้เพราะไม่มีพอร์ท AV out ต้องหาซื้อสาย HDMI เอาเอง

หน้าตาของ Nikon V1 ถือว่ามีเอกลักษณ์มาก ออกไปในแนว minimalist เรียบหรู ไม่โบราณ ทั้ง V1 และ J1 มีขนาดใกล้เคียงกันและใกล้เคียงกับ Lumix GF3, NEX-C3 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มกล้อง mirrorless ตัวเล็ก

Nikon V1 มีรุ่นสีขาวและดำ ทั้งสองสีผิวเรียบมันแต่ไม่ลื่นมือ

V1 มีขนาดใหญ่กว่า J1 นิดหน่อยทั้งความสูงและความหนา

เลนส์คิท 10-30mm เป็นเลนส์ retractable คือเมื่อไม่ใช้งานสามารถหดเก็บได้เล็ก แต่ไม่บางถึงกับเลนส์แพนเค๊ก เปรียบเทียบขนาดตอนเก็บและตอนเปิดใช้งาน

ด้านบนตัวเครื่องของ V1 มีปุ่ม power, ปุ่มชัตเตอร์ และปุ่มบันทึกวีดีโอแยกจากกัน และมีรูลำโพง ด้านหลังส่วนบนก็จะมีปุ่มซูมเป็นปุ่มโยกขึ้น-ลง สำหรับซูมดูภาพใน playback mode และใช้ปรับค่าชัตเตอร์สปีดหรือรูรับแสงในโหมด A,S,M ด้วย ถัดไปปุ่ม F เป็นปุ่มที่ใช้งานต่างกันในแต่ละโหมด คล้ายๆปุ่ม shortcut หรือ function แต่จะไม่สามารถโปรแกรมเองได้ ในส่วนของ J1 ก็มีการวาง layout ปุ่มแบบเดียวกันทั้งหมด

ด้านบนของอีกข้างจะมีช่องต่ออุปกรณ์เสริม (accessory port) เช่น GP-N100 GPS unit, SB-N5 External Flash โดยช่องต่อซ่อนอยู่ใต้ฝาปิด ซึ่งฝานี้หากเปิดออกก็จะหลุดออกมาทั้งฝา ไม่มีส่วนต่อกับตัวกล้องต้องเก็บเองระวังหาย ถัดไปเป็นช่องมองภาพสามารถปรับความคมชัดได้ (diopter) และมี eye sensor สลับภาพระหว่างจอ evf และ LCD ให้อัตโนมัติ

ด้านหลังมียางรองนิ้วโป้งเพื่อให้จับถนัดขึ้น มีปุ่มเรียงกันอยู่เฉพาะฝั่งขวามือของจอตามรูป ถ้าเป็น J1 จะเปลี่ยนปุ่ม AF เป็นปุ่มแฟลชเพราะ J1 มีแฟลชในตัวมาให้ นอกนั้นเหมือนกันหมด

ด้านข้างมีพอร์ทอยู่หลังฝาปิดซึ่งทำจากยางเหมือนกล้อง Nikon รุ่นอื่นๆ มี 3 พอร์ท USB ใช้ร่วมกับ AV out, HDMI, และ mic output

จากการทดลองใช้งานพบว่าการที่บอดี้ถูกออกแบบมาให้เรียบทำให้จับค่อนข้างลำบากเพราะไม่มีกริปยื่นออกมาเท่าที่ควร ยังดีที่มียางรองนิ้วโป้งด้านหลังทั้ง V1 และ J1 ช่วยให้กระชับขึ้นบ้าง ขนาดของกล้องเหมาะกับการพกพาแต่คงไม่ใช่ในกระเป๋าเสื้อ เพราะขนาดของเลนส์ที่ไม่ใช่แพนเค๊ก แต่สามารถใส่กระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าถือได้สบายๆ

คุณภาพไฟล์รูป

ในเรื่องคุณภาพไฟล์ของ Nikon V1 (รวมถึง J1) เนื่องจากการรีวิวครั้งนี้เป็นแบบ hands on ไม่ได้ทำ studio shot จึงคงให้ความคิดเห็นที่ได้จากการใช้งานและเช็คไฟล์ภาพเอง โดยสรุปเห็นว่าไฟล์ภาพที่ได้จาก V1 คุณภาพดีกว่าที่คิดไว้ตอนแรก เพราะเซนเซอร์ขนาดเล็กกว่า micro 4/3 พอสมควรแต่คุณภาพที่ได้ใกล้เคียงกันมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความละเอียดที่ไม่สูงมากทำให้ขนาดของ pixel ใหญ่ขึ้นมาชดเชยกับขนาดของเซนเซอร์ที่เล็กลง จะติก็ตรงความละเอียดที่ 10 ล้านพิกเซลอาจจะเล็กเกินไปสำหรับงานที่ต้องปรินท์ขนาดใหญ่ แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปไม่มีปัญหาอะไร ลองคลิกเข้าไปดูภาพตัวอย่างจาก V1 ได้

สำหรับการเปรียบเทียบไฟล์ขออ้างอิงจากเว็บต่างประเทศที่มีการทดสอบในแบบ studio shot เริ่มกันที่ ISO test จาก DPreview

จากภาพ crop 100% จะเห็นว่าที่ ISO 200 รายละเอียดภาพที่ได้แทบแยกความแตกต่างกันไม่ออกเมื่อเทียบกับกล้อง mirrorless ตัวอื่นๆ จนถึง ISO 3200 ก็ยังใกล้เคียงกันมาก ที่เห็นว่าภาพของ V1 เล็กกว่าภาพอื่นๆเป็นเพราะความละเอียดแค่ 10 ล้านพิกเซล ต่ำกว่ารุ่นอื่นๆ

ภาพนี้เป็นผลการเปรียบเทียบการทดสอบจาก DxOmark (คลิกที่ภาพเพื่อไปยังเว็บไซต์) ซึ่งเน้นที่การให้คะแนนเซนเซอร์โดยตรง จะเห็นว่าคะแนนรวมมากกว่า E-P3 นิดหน่อย จะแพ้ก็เรื่อง low light ซึ่งเป็นผลจากขนาดของเซนเซอร์ แต่เรื่อง dynamic range, color depth ไม่เป็นรอง แต่ถ้าเทียบกับ Sony NEX-5N ก็ต้องยอมยกให้ คุณภาพไฟล์ของเซนเซอร์ Sony ช่วงนี้ไม่มีใครสู้ได้อยู่แล้ว

จุดแตกต่างระหว่าง Nikon V1 และ J1

  • V1 เพิ่มช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ (EVF) เข้ามาและมี accessory port สำหรับต่ออุปกรณ์เสริมได้เพิ่ม เช่น GPS, แฟลช, ไฟวีดีโอ, ไมค์ต่อภายนอก
  • V1 และ J1 ขนาดจอภาพ 3 นิ้วเท่ากัน แต่ V1 ความละเอียดสูงกว่าคือ 921000 pixel และ 460000 pixel
  • V1 ไม่มีแฟลชในตัว ส่วน J1 มี pop-up flash มาให้
  • V1 ตัวกล้องหนากว่า สูงกว่า
  • J1 ไม่มีช่องต่อ AV cable มีแค่ HDMI และ USB
  • เรื่องฟังก์ชั่นและประสิทธิภาพกล้องทั้งสองรุ่นเหมือนกันเกือบจะ 100%

จุดเด่น/ข้อดีของ Nikon V1 ในมุมมองของผม

  • บอดี้ น้ำหนัก และการประกอบแข็งแรงดีมาก เท่าที่จับและทดลองใช้คิดว่าดีที่สุดในกลุ่มกล้อง mirrorless สไตล์เดียวกัน
  • มีโหมด ISO auto with limit เช่น auto 800 ซึ่งกล้องจะเลือกค่า ISO ให้เราแต่จะไม่เกิน 800 การตั้งค่า ISO แบบนี้มีในกล้อง Nikon มานานแล้วและมีประโยชน์มากในกรณีที่เราต้องการควบคุมปริมาณ noise ในสภาวะแสงน้อย เพราะหากเราจะตั้ง 800 ไปเลย เจอบางช็อตที่แสงมากพอเราก็ต้องมาปรับลดลงเองเพื่อ minimal noise หรือถ้าจะตั้ง auto ไปเลยโดยไม่มี limit เจอแสงน้อยมากๆ กล้องอาจดันไปสูงเกินจน noise เยอะรับไม่ได้ ล่าสุด Fuji X10 ก็มีโหมดแบบนี้เพิ่มเข้ามาด้วยเหมือนกัน
  • การตอบสนองของกล้องไวมาก โฟกัสไว วัดแสงแม่นยำ ถ่ายภาพต่อเนื่องไวตามสเปก ไม่ได้โม้ ใช้ถ่ายแนว street ได้สนุกมาก หรือจะถ่าย sport ก็ยังไหว
  • slowmotion mode 400 fps ที่ความละเอียด 640 x 240 ใช้งานได้ดี ส่วน superslow ที่ 1200fps ความละเอียดต่ำไปหน่อย 320 x 120 ใช้ถ่ายสนุกๆพอได้
  • โหมด best shot selector ใช้งานได้จริง ทำให้โอกาสได้ภาพเสียลดลง เหมาะกับการยื่นกล้องฝากให้คนอื่นถ่าย
  • มีฟังก์ชั่น time-lapse shooting หรือ interval shooting มาให้กับตัวกล้องเลย ใช้ตั้งเวลาถ่ายเป็นช่วงๆได้อัตโนมัติ ซึ่งกล้องส่วนใหญ่จะไม่มีมาด้วย ต้องใช้รีโมทเฉพาะทาง
  • จอ LCD คมชัด สว่าง มองกลางแจ้งไม่มีปัญหา EVF ความละเอียด 1.44 ล้านจุดให้ภาพสวยงามคมชัดและใช้งานกลางแจ้งได้ดี ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มเหมือน NEX-5N
  • ระบบเมนูเรียบง่าย ตอบสนองดี

จุดด้อย/ข้อเสียในมุมมองของผม

  • Nikon V1 เป็นกล้องรุ่นสูงกว่า J1 ทำให้คาดหวังว่าตัวบอดี้น่าจะมีปุ่มต่างๆสำหรับปรับตั้งครบถ้วนและเหมาะกับการใช้งานแบบแมนนวลมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงทั้ง V1 และ J1 มีปุ่มบนตัวกล้องเหมือนกันเกือบ 100%
  • ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล ไม่น้อยเกินไปแต่ก็น้อยที่สุดในกล้องกลุ่มเดียวกัน
  • สำหรับคนที่ใช้งานแบบกึ่งแมนนวลหรือแมนนวลบ่อยๆ ไม่ว่าจะโหมด M, S, A อาจจะรำคาญที่ต้องเข้าเมนูเพื่อสลับโหมด ไม่ยอมทำให้ปรับบนปุ่มหมุน (mode dial) ด้านหลังได้เลย แต่กลับเอา motion snapshot ไว้บนปุ่มโหมด การปรับตั้งค่าชัตเตอร์สปีดและรูรับแสงใช้ปุ่มทิศทางที่หมุนได้ ร่วมกับปุ่มซูมที่ต้องโยกขึ้นลง
  • scene mode ของ V1 อยู่บน command dial หรือปุ่มหมุนด้านหลัง ซึ่งก็ปรับง่ายดี แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เลือก scene เองได้เหมือนกล้องทั่วๆไปเลย เมื่อหมุนเข้า scene mode ตัวกล้องจะเลือก scene ตามองค์ประกอบภาพและการประมวลผลของกล้องให้เลย
  • ไม่มีแฟลชในตัว และไม่มี hot-shoe ต้องใช้แฟลช SB-N5 ของระบบ Nikon 1 ต่อกับ accessory port เท่านั้น

บทสรุป Nikon V1

ตอนแรกที่คาดว่า Nikon V1 จะออกมาเพื่อแข่งกับ Olympus E-P3Sony NEX-5N หรือ Lumix G3GX1 เอาเข้าจริงๆ มาคนละแนวเลยและเป็นแนวที่ไม่ซ้ำใคร เพราะ V1 น่าจะเหมาะกับผู้ที่ใช้ที่ต้องการกล้องที่ตอบสนองได้ทันใจ เน้นใช้งานง่ายทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ให้ไฟล์ภาพคุณภาพสูง ส่วนเรื่องเซนเซอร์ที่ขนาดเล็กกว่ากล้อง mirrorless ยี่ห้ออื่นๆนั้น สำหรับผมไม่ถือว่าเป็นปัญหาเพราะคุณภาพรูปที่ได้จัดว่าอยู่ในขั้นดีมาก เทียบเคียงกันได้ สำหรับคนที่หวังจะใช้งานแบบปรับแต่งค่าต่างๆก่อนถ่ายแทบทุกภาพหรือเปลี่ยนโหมดไปมาบ่อยๆ คงไม่เหมาะเท่าไหร่เพราะอาจหงุดหงิดได้


sources: dpreview.com, dxomark.com

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save