รีวิว Sony A7 III กล้องที่ฮ็อตฮิตที่สุดในเวลานี้ I am Basic Model Leave a comment

สวัสดีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ คนรักการถ่ายภาพทุกคนครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่บทความรีวิว Sony A7 III ครับ ก่อนอื่นต้องยอมรับว่ากล้อง Sony A7 Mark III เป็นกล้องที่ฮ็อตฮิตและสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในวงการกล้องครับ กระแสมาแรงตั้งแต่ก่อนเปิดตัว ข่าวลือต่าง ๆ นา ๆ จนในที่สุดเปิดตัวมาด้วยราคา 68,990 บาท พร้อมด้วยสเป็กที่ให้มาแบบจัดเต็ม พร้อมกับฉายาจาก Sony ว่า Basic Model ความหมายคือกล้องระดับนี้สเป็กที่ให้มาถือว่าเป็นเรื่องเบสิคที่กล้องระดับนี้ควรจะมี ค่ายเพื่อนบ้านหลาย ๆ ค่ายมีหนาว ๆ ร้อน ๆ เหมือนกัน ไม่เว้นแม้แต่ค่ายตัวเองหลาย ๆ รุ่นเรียกว่าขึ้นดอยอันเหน็บหนาวให้ปวดใจเบา ๆ เป็นกล้องที่เรียกได้ว่าสร้างปรากฎการณ์ย้ายค่ายได้มากที่สุดตัวหนึ่ง เนื้อหอมมากยอดจองถล่มทลายเลยทีเดียวครับ ส่วนตัวผมเองก็ต้องยอมรับครับว่ารอคอยและก็ฟังข่าวกล้อง Sony A7 III ตัวนี้อยู่เรื่อย ๆ เพราะเล็งกล้องตัวนี้อยู่เหมือนกัน พอเปิดตัวในไทยที่ผ่านมาก็บอกได้เลยว่ากล้อง Sony A7 III เป็นกล้องที่ผมอยากรีวิวมากที่สุดตัวหนึ่งเสียดายไม่ได้ไปลองกับ Sony ตั้งแต่แรกเพราะติดภาระกิจ แต่ในที่สุดก็ได้กล้อง Sony A7 III มารีวิวครับ จะโดนไม่โดนไปดูพร้อมกันครับ มีเวอร์ชั่นที่เป็นวิดีโอรีวิวด้วยนะครับ

สเปคหลัก Key Specifications

ตามธรรมเนียมมาดูที่สเปคหลักของ Sony A7 III กันก่อนเลยดีกว่าครับ Features เด็ดที่เค้าบอกจัดเต็มน่ะ จัดเต็มแค่ไหน มีอะไรเพิ่มเข้ามาบ้าง และนี่คือสิ่งที่ SONY บอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีใน Basic Model อย่าง Sony A7 III ครับ

  • เซ็นเซอร์ Fullframe BSI CMOS 24.2 ล้านพิกเซล
  • ISO 100 ถึง 204800
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุด 10 fps
  • กันสั่น 5 แกนที่เซ็นเซอร์ เคลมไว้ถึง 5 Stops
  • ระบบโฟกััส 4D Focus Phase detection 693 จุด และ Contrast detection 425 จุด ครอบคลุม 93% ทั่วภาพ สามารถโฟกัสได้แม้ในที่แสงน้อย -3EV
  • มีโหมด 4K HDR
  • รองรับวิดีโอ 4K สูงสุด 30Fps / FHD สูงสุด 120 Fps
  • S LOG 3
  • ช่องใส่การ์ด 2 ช่อง รองรับการ์ดความเร็วสูง UHS-II 1 ช่อง
  • บัฟเฟอร์ JPEG Extra fine L: 163 เฟรม , RAW: 89 เฟรม , RAW + JPG: 79 เฟรม
  • USB 3.1 / USB Type-C Port
  • Weather-Sealed Design
  • แบตเตอรี่ NP-FZ100 ถ่ายได้ 610 shots (Viewfinder) / 710 shots (LCD)

รูปร่างภายนอก

ในส่วนของรูปร่างหน้าตาก็ตามสไตล์ Sony ที่เป็น Fullframe บอดี้เหมือนเป็นฝาแฝดกับ A9 แล้วก็ A7RIII บอดี้แบบเดียวกันเลย ขนาดอุปกรณ์เสริมอย่างพวกแบตเตอรี่กริป ก็ใช้ร่วมกันได้ ที่สำคัญแบตเตอรี่ก็ใช้ร่วมกันได้ เพราะเป็นรุ่นเดียวกันครับ

ตัวบอดี้มีเสริมความแข็งแกร่งด้วยแมกนีเซียมอัลลอยด์ แต่ไม่ได้เป็นแมกนีเซียมทั้งตัว มีเฉพาะด้านหน้าด้านบน และโครงข้างใน ส่วนท้ายฝั่งจอเป็นพลาสติกสังเคราะห์ หรือ โพลีคาร์บอเนต ดูด้วยตาธรรมดาก็แยกไม่ค่อยออกนะ เค้าทำผิวมาดี เหมือนเป็นวัสดุแบบเดียวกันเลย ในกล้อง Sony A7 III จะมีซีลกันสภาพอากาศมาให้ด้วยนะครับตามภาพ แต่ก็ไม่ได้อธิบายสเปคมาว่าทนได้เท่าไหร่ยังไง แต่คิดว่าใช้งานทั่ว ๆ น่าจะได้สบายครับ

พอร์ทต่าง ๆ ให้มาอย่างครบครัน ช่องไมค์,ช่องหูฟัง,HDMI,USB3.1,ช่องมัลติ&ชาร์จ ที่ผมรู้สึกเลยว่ากล้องระดับนี้ควรมีนั่นคือช่องหูฟัง เวลาที่ถ่ายวิดิโอเราจะได้มอนิเตอร์หรือเชคเสียงตอนถ่ายวิดิโอได้ และมันคือเสียงจริง ๆ ที่อยู่ในกล้องด้วย ซึ่งก็เป็นจุดเด่นของ Sony ที่ให้มาตั้งแต่ตัวก่อน ๆ แล้วหายห่วงครับ ส่วนที่เพิ่มมาจาก Sony A7ii ตัวเก่า ก็จะเป็น USB 3.1 ที่เพิ่มเข้ามา เพื่อรองรับการส่งข้อมูลได้เร็วยิ่งขึ้นครับ

ด้วยความที่เจ้ากล้อง Sony A7III นั้นสามารถถ่ายต่อเนื่องได้ 10 ภาพต่อวินาที และ บัฟเฟอร์ที่ให้มาเหลือเฟือ เพราะฉะนั้นการโอนถ่ายข้อมูลลงการ์ดก็เป็นส่งสำคัญ Sony A7III เพิ่มช่อง Slot สำหรับใส่เมมโมรี่การ์ดมาสองช่อง โดยที่หนึ่งช่องรองรับการ์ดที่มีความเร็วสูงในการถ่ายข้อมูลนั่นก็คือ UHS-II การเคลียร์บัพเฟอร์ลงการ์ดจึงทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นครับ

อีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามานั่นก็คือ Joystick นั่นเอง เราสามารถย้ายจุดโฟกัสไปมาได้โดยการโยกที่จอยสติ๊กด้านหลังได้เลยเท่าที่ลองใช้ก็สะดวกดีครับ แต่จะติดนิดหน่อยตรงที่ต้องใช้แรงเยอะไปนิด คิดว่าคงออกแบบมาเพื่อไม่ให้ไปโดนแล้วจุดโฟกัสเปลี่ยนง่าย ๆ แต่ถ้าใช้บ่อย ๆ คิดว่าคงชินมือมากขึ้นครับ

จริง ๆ ใน Gen ใหม่อย่าง A9 และ A7RIII ก็ถูกย้ายมาไว้ที่เดียวกันตั้งนานแล้วครับ แต่ที่แตกต่างก็จะเป็นตัว A7II ตัวเดิม ผมว่าเอามาไว้ตรงนี้แล้วใช้สะดวกขึ้น เพราะนอกจากจะย้ายแล้ว ยังทำให้นูนและกดง่ายมากขึ้นใช้นิ้วโป้งได้เลย เพราะที่เก่าอยู่ข้าง ๆ และต้องจิกค่อนข้างเยอะครับ

Electronic Viewfinder (EVF)

ในส่วนของ EVF หรือ Electronic Viewfinder นั้นความละเอียด 2.359 ล้านจุด ที่สำคัญชิ้นแก้วที่อยู่ด้านในใช้การเคลือบแบบเลนส์ Zeiss T* ช่วยลดการสะท้อนแสง และทำให้ได้ภาพที่มีความสมจริงมากขึ้นครับ

หน้าจอ LCD

ในส่วนของจอ LCD เป็นจอแบบ Tilts สามารถพับขึ้นลงได้ แต่ไม่สามารถพลิกมาถ่ายตัวเองได้ จอเป็นทัชสกรีนนะครับ สามารถใช้แตะเพื่อเลือกจุดโฟกัสได้ ในโหมดดูภาพสามารถทัชสองครั้งเพื่อซูมดูภาพได้ แต่ไม่สามารถเลื่อนภาพหรือใช้ทัชสกรีนในเมนูต่าง ๆ ได้ครับ

แบตเตอรี่

แบตเตอรี่ รุ่นใหม่เป็นรุ่น NP-FZ100 แบบเดียวกับ A9 และ A7RIII ความจุมากขึ้น อึดขึ้นแบบก้าวกระโดด ตามสเปคบอกว่าถ่ายได้สูงสุดถ้าใช้ LCD จะอยู่ที่ 710 ภาพ และถ้าใช้ EVF จะได้อยู่ที่ 610 ภาพ ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง แต่จากประสบการณ์เอาไปถ่ายคอนเสิร์ตมา ถ่ายรัวกลาง ๆ สามารถถ่ายทะลุ 2 พันภาพ ได้สบาย ๆ การ์ด 64GB ที่เตรียมไปเต็มก่อนแบตหมดครับ

คุณภาพไฟล์

ในส่วนของคุณภาพไฟล์นั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนให้ความสนใจครับ ซึ่งในกล้อง Sony A7 III ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรมแบบ BSI CMOS หรือ backside-illuminated นั่นเอง ความพิเศษของเซ็นเซอร์แบบนี้อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ ย้ายเอาวงจรไฟฟ้าไปไว้ข้างหลัง และเอาส่วนที่รับแสงมาไว้ข้างหน้าทำให้รับแสงได้ดีขึ้น นั่นหมายความว่าเราจะได้รายละเอียดของภาพที่ดีมากขึ้น  ในระบบการประมวลผลเป็นแบบใหม่ทั้งหมด ทำให้การส่งข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อเซ็นเซอร์และการประมาลผลใหม่ทำงานผสานกัน ทำให้ได้ไฟล์ภาพดีขึ้นทั้งในส่วนของ ISO และสกินโทนที่ดีมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นผมจะแยกเป็นแต่ละหัวข้อย่อยในเรื่องของคุณภาพไฟล์ครับ

ส่วนใครอยากทราบว่ากล้อง Sony A7 III ต่างจากรุ่นก่อนหน้ายังไงอ่านได้ที่นี่ครับ

Sony A7III : คุณภาพ ISO

ด้วยความที่เป็นฟูลเฟรมเซ็นเซอร์ใหญ่ และที่เค้าโฆษณาว่าเซ็นเซอร์ใหม่ ระบบการประมวลผลใหม่ ความคาดหวังในส่วนของไฟล์ภาพ โดยเฉพาะเรื่อง ISO นั้นต้องตามมาแน่นอน ซึ่งผมก็บอกว่า Sony เค้าทำได้ดีตามที่คุยไว้ครับ คุณภาพ ISO ดีมาก ๆ ผมขอตัด ISO น้อย ๆ แล้วเริ่มต้นที่ ISO สูง ๆ หน่อย ผมขอเริ่มต้นที่ ISO 800 เลยนะครับผม ดูกันยาว ๆ ถึง ISO 204800 กันไป โดยภาพตัวอย่างเป็นแสงไฟนีออนในห้องครับ

ในส่วนของ ISO ผมคิดว่าความพอใจของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันนะครับกล้องที่ผมใช้อยู่ปกติผมดันมากสุดที่ ISO 6400 เต็มที่แบบสุดเหยียด คือถ้าไม่จำเป็นจะไม่ดันสูงขนาดนี้ แต่กล้อง Sony A7III ตัวนี้ผมดันไปที่ ISO 6400 ได้แบบไม่ตะขิดตะขวงใจ ที่สำคัญในบางสถาณะการณ์ดันไป ISO 12800 ก็ยังรับได้ ไฟล์ยังคงมีรายละเอียดและสามารถใช้งานได้สำหรับผมครับ

อย่างภาพตัวอย่างด้านบนผมดันไปที่ ISO 12800 เพราะสภาพแสงน้อย และอยากได้สปีดที่หยุดความเคลื่อนไหวของนักดนตรีได้นิ่งสนิท ผมจึงลองดัน ISO สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าไฟล์ภาพเพียงพอที่จะใช้งานครับ

อีกสักมุมกับการใช้ ISO 12800 แบบในงานจริงจังสังเกตภาพที่ Crop 100% จะเห็นลวดลายที่เสื้อของนักร้องได้ชัดเจน รายละเอียดยังคงอยู่แม้ใช้ ISO ที่สูงมากก็ตามครับ

Sony A7III : Dynamic range

จุดเด่นของกล้อง Sony อย่างหนึ่งที่รู้กันมายาวนานคือความสามารถด้าน Dynamic range นั้นดีมาก ๆ เรื่องการขุดการดึงนี้ไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นผมก็จะลองดึงให้ดูเป็นธรรมเนียมปฎิบัติ ถ้าไม่มีมันก็กะไรอยู่ครับ ฮ่า ๆ การทดสอบผมก็แบบง่าย ๆ ครับ ไม่ได้พลิกแพลงอะไร โดยหลักการก็ถ่ายให้ส่วนที่เป็นไฮไลต์ หรือท้องฟ้ายังคงอยู่ ส่วนอื่นก็จะมืดเพราะมีความแตกต่างของ Dynamic range อยู่นั่นเองครับ

ถ้าสังเกต Histrogram ภาพต้นฉบับ จะเห็นได้ว่าแถบชิดซ้ายแบบสุด ๆ จนรายละเอียดส่วนมืดหายไป อย่างที่เห็นในภาพข้างบนครับ

ผมก็ดึงแบบง่าย ๆ แบบที่คนส่วนใหญ่ก็สามารถดึงได้ คือเพิ่ม Exposure +4 Stop และลด Hilights -100 เพียงเท่านี้รายละเอียดตรงส่วนมีดก็กลับมา และส่วนสว่างอย่างท้องฟ้าก็ยังคงอยู่ โดยที่ยังไม่ต้องดึง Shadows เลยครับ

ทีนี้มาซูมดูในส่วนที่เป็นส่วนมืดตรงผ้าใบ จากภาพต้นฉบับที่มืดมิด พอดึงขึ้นมาจะเห็นรายละเอียดที่เป็นเส้นของผ้าชัดเจนเลยครับ และภาพด้านล่างคือภาพที่ผมทำการขุดแบบบ้าน ๆ ให้ดูครับผม

Sony A7III : Skin Tone

สีผิว หรือ Skin Tone ของ Sony A7III ทำได้ดีมากขึ้นจากตัวเก่า ๆ อย่าง A7II ชัดเจนครับ มีความสดใส นวลเนียน

ในส่วนของ Skin Tone หรือสีผิว อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบอีกแล้ว บางคนบอกชอบแบบนั้น บางคนมาดูอาจจะไม่ได้ชอบก็ได้ ความเห็นส่วนตัวผมว่าไฟล์ที่ได้ผมชอบนะ ก็ตัดสินจากภาพที่ผมถ่ายมาเพื่อเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ

ก็ไม่ได้ถ่ายใครที่ไหนครับ ก็น้อง “นามิ” สาว Zoom Girl ของเรานั่นเองครับ แต่อย่างหนึ่งเลยคือรายละเอียดได้มาเยอะ เพราะฉะนั้น การเอาไปตกแต่งหรือทำต่อง่ายและยืดหยุ่นแน่นอนครับ อันนี้คอนเฟิร์ม

รีวิว Sony A7 III : ความเร็วโฟกัส 4D Focus แบบ A9 และ EYE AF

อันนี้คือสิ้งที่ดีงามมากถึงมากที่สุดของกล้อง sony A7 III ตัวนี้ก็ว่าได้ เรียกได้ว่ากลายเป็นกล้องที่ใช้งานง่าย และทำให้ผมติดนิสัยการใช้ Continue AF หรือ AF-C เลยก็ว่าได้ คือเร็ว ฉลาด และทำให้ง่ายต่อการถ่ายมาก ๆ ผมจะไม่อธิบายระบบ 4D Focus นะครับ หากใครอยากทราบการทำงานสามารถหาข้อมูลได้ง่ายดาย แต่ผมทดสอบมาให้ดูว่าความรวดเร็วและความฉลาดนั้นทำให้การถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายมาก ๆ ผมทดสอบให้น้องนามิ เดินเข้าเดินออกเดินซ้ยเดินขวาเนี่ยะแหละครับ เรามาดูการทดสอบกันครับ แบ่งเป็นสองส่วนในภาพนิ่งและวิดิโอครับ

ภาพนิ่ง

การทดสอบแรกเป็นแบบให้น้องนางแบบเดินเข้ามาตรง ๆ แล้วผมก็ใช้โฟกัสแบบ AF-C หรือ Continue AF นั่นเองครับ จะเห็นได้ว่าภาพทุกภาพเข้าหมด 100 %  ครับผม

แบบที่สองมาลองอะไรที่ยากขึ้น คือ ให้แบบเดินเข้ามาเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือให้เดินแบบฉวัดเฉวียน โยกซ้ายทีขวาที ไปพร้อมกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่าน้องเป็นครูสอนเต้น เดินเร็วมาก แล้วด้วยความที่ถ่ายใกล้มาก ๆ บวกกับเลนส์เป็นเลนส์ระยะค่อนข้างเทเล ก็ต้องบอกเลยว่าเป็นงานยาก มีหลุดไปสามช็อต แต่กล้องก็รีบกลับมาด้วยความเร็วที่น่าประทับใจครับ เชื่อหรือไม่ว่านี่คือเหตุการณ์ไม่กี่วินาทีเท่านั้นนะครับ เพราะถ่ายรัวแบบเต็มสปีดด้วยครับ

 Auto focus ในวิดิโอ

การโฟกัสในภาพนิ่งที่ว่าเร็วแบบทันใจ พอมาเป็นในส่วนของวิดิโอจะดูมีความนุ่มนวลมากขึ้น ดูไม่กระชาก ซึึ่งสำคัญมากนะครับในงานวิดิโอที่ต้องการความสมูท แต่ก็ยังสามารถติดตามวัตถุที่จะถ่ายได้ดีมาก ๆ หนึบดีทีเดียว ที่สำคัญฉลาดครับพยายามที่จะแกล้งกล้องแล้วเช่นให้ทีมงานกระโดดเข้ากระโดดออกก็ยังสามารถทำงานได้รวดเร็วทันใจและสมูทครับ

*สรุปในส่วนของความเร็วโฟกัส เร็วครับ เร็วมาก แต่ก็ยังแพ้ A9 รุ่นพี่ จริงอยู่ว่าระบบโฟกัสเป็น 4D Focus เหมือนใน A9 แต่ A9 จะมีการคำนวนค่า AF และแสงล่วงหน้าตั้ง 60 ซ็อต เพราะฉะนั้นความเร็ว และความแม่นยำ ผมให้เป็นที่ 1 แน่นอนที่สุด แต่สิ่งที่มีใน Sony A7III ก็ไม่ได้น้อยหน้านะ เป็นรอง A9 ไม่มากแต่ราคาห่างกันเกือบครึ่ง ถ้าชอบสุดและเงินถึงไป A9 ถ้าโฟกัสช้าลงมานิดเดียว ราคาถูกกว่าเกือบครึ่งเลือก A7 III ครับ ฮ่า ๆ

ทดสอบกันสั่น

ปกติเราจะมีความเร็วชัตเตอร์ที่เป็นเซฟโซน หมายความว่าใช้สปีดชัตเตอร์เท่านี้แล้วใช้มือเปล่าถือถ่ายจะมีความปลอดภัยจากภาพเบลอ สมมุติว่าคุณใช้เลนส์ช่วง 50mm สปีดที่สมควรใช้คือ 1/50s ขึ้นไป หลักการก็คือสปีดชัตเตอร์ต้องเท่ากับหรือมากกว่าช่วงระยะเลนส์ที่เราถ่ายจะทำให้ใช้มือเปล่าถือถ่ายได้โดยที่โอกาสสั่นไหวน้อยมาก ๆ

ทีนี้เราก็มาทดสอบกันครับ ผมก็ใช้สปีดตามหลักการนี้และค่อย ๆ ลดความเร็วชัตเตอร์ลงมาทีละ Stop นั่นเองครับ ผมใช้เลนส์ Sony FE 85mm F1.8 เพราะฉะนั้นผมก็ต้องใช้สปีดที่มากว่า 1/85 ขึ้นไป ในที่นี้ ผมใช้ 1/80 นะครับ มากกว่านี้จะเป็น 1/100 ก็จะเกินไป เรามาดูการทดสอบแบบง่าย ๆ กันดูครับ

จากที่ผมทดสอบมาผมสามารถถือกล้อง Sony A7III ได้ประมาณ 4 Stop จะสังเกตว่าที่สปีดชัตเตอร์อยู่ที่ 0.4” วินาที ซึ่งเป็น 5 Stop จะมีความเบลอของภาพให้เห็นตามที่ผมครอปมาให้ดูครับ อย่างที่บอกความนิ่งของมือแต่ละคนไม่เท่ากัน หลายท่านอาจจะถือได้ดีกว่าผม หรือ อาจจะแย่กว่าผม ก็อาจจะมีได้หมดครับ ซึ่งตอนที่ผมถือก็ใช้ความพยายามทำให้ตัวเองนิ่งมากที่สุดเท่าที่มือเปล่าจะทำได้แล้วครับ

กันสั่นในวิดิโอ

อธิบายยังไงก้คงไม่เท่าเห็นภาพจริง ผมเลยอัดมาเป็นคลิปเปรียบเทียบ เปิด และ ไม่เปิด ให้เห็นกันไปเลยครับเชิญรับชมครับ

ความสามารถด้านวิดิโอ

ความสามารถด้านวิดิโอก็เป็นจุดเด่นของ Sony แทบทุกรุ่นอยู่แล้ว รองรับการทำงานที่จริงจัง และต้องการคุณภาพสูง ๆ ได้สบาย สามารถถ่ายวิดิโอความละเอียดสูงสุดที่ 4K 30P และ 4K 24P ส่วน Full HD นั้น ถ่ายได้สูงสุด 120P สามารถเอามาดึงสโลว์โมชั่นได้ มีโหมด S&Q หรือ Quick & Slow สามารถถ่ายและดึงสโลว์หรือทำให้เร็วคล้าย ๆ กับ ไทม์แลปส์ได้ด้วยครับ ส่วนด้านล่างคือฟุตเทจดิบ ๆ ที่ผมเอามายำใส่เพลงแบบง่ายให้ดูเป็นตัวอย่างครับ

และสำหรับคนที่ต้องการเกรดสีในวิดิโอก็มี S log 3 ให้ได้ใช้กันด้วยครับ ที่สำคัญให้พอร์ทต่างเพื่อที่จะใส่อุปกรณ์เสริมภายนอกเพื่อคุณภาพที่มากขึ้น เช่น ช่องไมค์ ช่องหูฟัง ใส่มาให้ครบครัน เพื่องานเสียงที่ดีมากยิ่งขึ้นครับ

ทดสอบ Rolling Shutter

ในส่วนของ Rolling Shutter ผมทดสอบด้วยการแพนกล้องไปมาในวิดิโอ ให้สังเกตส่วนที่เป็น ประตู หน้าต่าง หรือเสา ที่เรารู้ว่ามันตรง ถ้าแพนแล้วมีการล้มเอียงของสิ่งที่ผมกล่าวมาก็หมายความว่าอาการของ Rolling Shutter นั่นเองครับ

จากวิดิโอทดสอบ จะเห็นได้ว่าที่ Full HD จะเห็นอาการโยน ไม่มากนัก จะดูไม่ค่อยชัด แต่พอเป็น 4K ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แน่นอนก็ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าไฟล์ 4K มีขนาดใหญ่กว่าทำให้เห็น Rolling Shutter ได้มากขึ้นครับนั่นเองครับ

ภาพตัวอย่างจากกล้อง Sony A7 III

สรุป รีวิว Sony A7 III

มาถึงตรงนี้ก่อนจะจากผมจะขอสรุปแยกเป็นข้อ ๆ ให้เหมือนเดิม ทั้งข้อดี และ ข้อสังเกต เพราะผมเชื่อว่าหากคุณเป็นคนที่สนใจจะซื้อกล้อง Sony A7 III ตัวนี้จริง ๆ ต้องอยากรู้มากกว่าข้อดีอย่างเดียวแน่ ข้อมูลเหล่านี้น่าจะช่วยในการตัดสินใจที่ควรจะควักกระเป๋าจ่ายตังค์หรือไม่ครับ

ข้อดี

-ไฟล์ดีงาม ISO สูง ๆ ทำได้ดีมาก ในบางกรณีที่อยากได้ภาพมาก ๆ ผมใช้ ISO 6400 ได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจถ้าจำเป็นต้องได้ภาพผมขึ้นได้มากกว่านี้

-Dynamic Range เยอะ รายละเอียดเยอะ เดิม ๆ ก็โอเคมาก ๆ แล้ว เอามาแต่งต่อนี่ยิ่งดีงาม

-4D Focus คือดีมาก ๆ โดยเฉพาะถ่ายคน Eye AF คือดีงาม ฉลาดมาก ๆ จับไว แต่ผมว่ายังแพ้ A9 อยู่นะ แต่เท่าที่มีคือเหลือ ๆ ครับ

-ถ่ายต่อเนื่องได้ 10 FPS หมายความว่าโอกาสที่คุณจะได้ภาพก็จะมากขึ้น บัพเฟอร์เหลือเฟือข้อดีคือถ้าบัฟเฟอร์ไม่เต็มคือถ่ายได้เรื่อย ๆ กล้องเคลียร์บัพเฟอร์ตลอด

-รองรับการ์ดความเร็วสูงอย่าง UHS-II เพราะฉะนั้นการเคลียร์บัพเฟอร์จะทำได้เร็วขึ้น

-วิดิโอถือเป็นจุดเด่นของ Sony แทบทุกรุ่น ซึ่งรุ่นนี้ก็ให้มาแบบไม่กั๊ก 4K 30P หรือ FHD 120P เอามาทำสโลว์ได้ ที่สำคัญมี Slog 3 เพื่องานเกรดสีด้วย

-สกินโทนดีขึ้นจากรุ่นเก่า ๆ สายถ่ายหญิงต้องกรี๊ด ผมลองถ่ายในมุมแสงคล้าย ๆ กันกับกล้อง Canon ที่มีในมือ ผมว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน แทบจะเหมือนกันเลยดีกว่า

-White Balance ดีขึ้นผิดตาจาก A7II เอาไปถ่ายวิวพร้อม ๆ กับกล้องอีกตัวในมุมเดียวกันดูจากจอและสีที่ได้ Sony A7III ทำได้ดีกว่า

-แบตอึดกว่าเดิม ถ่ายจริงตามการใช้งาน แปดร้อยกว่ารูป แบตเหลือ 70%

ข้อสังเกต

-จอทำได้แค่ tits ถ้าจอ flip มาถ่ายวิดิโอตัวเองได้จะแจ่ม วิศวะกร Sony บอกว่าจอ Flip มันพังง่าย แต่เห็นหลาย ๆ ยี่ห้อที่มีจอฟลิป ก็ไม่เห็นจะพังง่ายนะ อันนี้น่าคิด

-Touch Screen คือทำได้แต่มันไม่สุด เหมือนของแถม เอาจริง ๆ ก็พูดเรื่องจอทัช Sony ทุกตัวที่รีวิวนะ ถามว่าชินมั้ย ก็ตอบว่าชินนะ ไม่ใช้ก็ได้ ฮ่า ๆ

-ไม่มีแอพ อันนี้แอบเสียใจ แอพดี ๆ เยอะนะ และสิ่งที่อยากได้คือ Timelapse ขออัพเฟิร์มแวร์แล้วมีก็ยังดี T_T

-กันสั่น 5 แกน คือไม่ใช่ไม่ดีนะ คือกันสั่นใช้ได้ดีปกติ แต่ยังไม่ว้าว Sony บอกว่าเซ็นเซอร์ใหญ่เลยยากกว่า เพราะพื้นที่ในการขยับต้องใช้มากกว่า

ทั้งหมดนี้ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่ได้ทำการเอาไปใช้งานจริง ก็ต้องถามว่าสิ่งที่กล้องมีสามารถตอบโจทย์ตอบความต้องการของคุณได้หรือไม่ หรือข้อสังเกตนั้นมีผลกับคุณมากแค่ไหน ในส่วนของพวก Joystick หรือ Silent Shutter ผมอาจจะไม่ได้พูดถึงมาก เพราะจริง ๆ ก็ควรมีมาตั้งนานแล้ว พอมีเข้ามาแน่นอนว่าต้องเพิ่มประสิทธิภาพและเติมเต็มแน่นอน สำหรับผมกล้อง Sony A7III ที่ผมได้ลองเอาไปใช้ ในส่วนของประสิทธิภาพผมกล้าพูดว่าเหลือเฟือ ไฟล์ดี โฟกัสประทับใจ โอกาสได้ภาพดี ๆ สูงมาก ถ่ายง่าย คือโฟกัสฉลาดจนไม่ต้องคิดเลย ปล่อยกล้องคิด แล้วก็เพลิดเพลินกับการสร้างสรรค์ผลงานได้เลยครับ

สำหรับคนที่สนใจ สามาถสั่งซื้อได้ที่นี่ครับ

บทความนี้เขียนเมื่อ วันที่ 21/11/2018

ZoomCamera ตัวแทนจำหน่ายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีให้คุณเลือกมากที่สุดหาของที่ไหนไม่ได้มาหาได้ที่ ZoomCamera นะ

———– สอบถามเพิ่มเติม ————
แอดไลน์ ID:@ZoomCamera หรือหน้าเว็บไซด์ ZoomCamera
086-349-7224 / 02-635-2330 ต่อ 0 (หยุดวันอาทิตย์)

?สาขา Central Plaza เวสต์เกต 02-054-7462 / 097-063-4328
?สาขาสีลม 02-635-2330-1 / 080-271-2772
?สาขาเมกาบางนา 02-105-1926 / 086-554-1919
?สาขาเดอะมอลล์บางแค 02-454-9598 / 084-033-0498
?สาขาฟอร์จูนทาวน์ 083-068-2775
?สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน 02-951-8597 / 085-937-0123
?สาขา Central Festival เชียงใหม่ 052-068-787 / 096-878-4896
?สาขา Central Festival หาดใหญ่ 074-848-700/095-702-7585
?สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ 02-002-3894 / 096-901-7825
?สาขาสยามพารากอน 02-129 4765 / 096-901-7826

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save