5 พื้นฐานที่ต้องรู้ในการถ่ายภาพบุคคล Leave a comment

5 พื้นฐานที่ต้องรู้ในการถ่ายภาพบุคคล

 

การถ่ายภาพบุคคล เป็นเหตุผลในการซื้อกล้องของใครหลายๆคน บ้างซื้อมาถ่ายลูก ถ่ายสาว ถ่ายเพื่อน ยิ่งเดี๋ยวนี้กล้อง Selfie เกิดใหม่กันเยอะสาวๆหลายคนก็ซื้อมาเพื่อถ่ายตัวเอง การจะถ่ายคนยังไงให้สวยจึงกลายเป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นบ่อยอันดับต้นๆ ซึ่งเทคนิคในการถ่ายภาพบุคคลให้ดีนั้นมีมากมายเลยครับ ถ้าเราจะพูดกันทั้งหมดก็คงจะไม่ไหว ฮ่า ฮ่า ฉะนั้นผมจึงขอยกหัวข้อหลักพื้นฐาน 5 ข้อที่คุณจำเป็นต้องรู้ในการถ่ายภาพคนให้สวย มาให้อ่านกันอย่างง่ายๆ ใครเป็นมือใหม่ในการถ่ายคนลองจำไปใช้กันดูนะครับ

1. พื้นฐานการตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายบุคคล

การถ่ายภาพบุคคลส่วนใหญ่เราจะเน้นที่การละลายฉากหลังให้ความชัดเจนเฉพาะตัวแบบเนื่องจากเราต้องการให้แบบโดดเด่นมากที่สุดบนภาพ แต่หลายกรณีถ้าฉากหลังมีความสำคัญเราจะไม่ละลายฉากหลังออกนะครับเช่น มีวิวที่สวยงาม สถานที่สำคัญ หรือเส้นสายสวยงามที่ช่วยเสริมให้ภาพโดนเด่นเราจะไม่ละลายหลังออกซึ่งผมจะบอกเล่าให้ทุกท่านฟังในการตั้งค่าของทั้งสองแบบครับ

โหมดที่แนะนำให้ใช้สำหรับถ่ายภาพคน – โหมดที่ผมแนะนำคือ A หรือ M หรือหากใครไม่ถนัดเล่นโหมด Manual ขอให้เลือกใช้โหมดออโต้แบบ Portrait สังเกตง่ายๆว่าจะมีสัญลักษณ์รูปคนครึ่งตัว ซึ่งกล้องจะคำนวณค่าต่างๆให้เหมาะกับการถ่ายคนให้สวย ส่วนใครที่เลือกโหมด A หรือ M สาเหตุที่ผมให้เลือกโหมดนี้คือเราสามารถควบคุมความกว้างของรูรับแสงได้ซึ่งขนาดความกว้างของรูรับแสงจะมีผลโดยตรงว่าจะละลายฉากหลังได้มากแค่ไหน

ตั้งค่ากล้องให้ละลายหลัง – หากเราอยากถ่ายภาพบุคคลให้ละลายหลังมากๆ(ไม่เฉพาะคนนะครับใช้ได้กับการถ่ายภาพทุกอย่างเลย)สิ่งที่เราต้องทำคือตั้งค่ารูรับแสงให้กว้าง โดยในกล้องจะแสดงค่าขนาดรูรับแสงให้เราเห็นเป็นเลข F2.8 , F4, F5.6, F8,… ยิ่งค่า F มีเลขน้อยเท่าไหร่รูรับแสงจะยิ่งกว้างขึ้นทำให้ละลายหลังได้มากขึ้นเพราะระยะชัดมีอยู่น้อยเราเรียกว่า ชัดตื้น กลับกันถ้าเลข F มากรูรับแสงจะแคบภาพจะชัดตั้งแต่ข้างหน้าจนถึงข้างหลังเพราะระยะชัดมีมากเราเรียกว่า ชัดลึก

เลข F มากรูรับแสงแคบ เลข F น้อยรูรับแสงกว้าง

รูรับแสงกว้างยิ่งละลายหลัง รูรับแสงแคบหลังจะชัด

การเลือกใช้ช่วงเลนส์มีผลกับการละลายหลัง – หากเราใช้ช่วงเลนส์ที่กว้างหรือเลนส์ไวด์จะมีความชัดลึกมาก สังเกตง่ายๆจากการใช้เลนส์คิทถ่ายภาพที่ช่วงกว้างสุดจะเห็นว่าฉากหลังค่อนข้างชัดไม่ละลายมากนัก กลับกันหากเราเลือกใช้ช่วงเลนส์ที่ไกลหรือเทเลโฟโต้ เราจะได้ความชัดตื้นมากขึ้นทำให้ถ่ายภาพละลายฉากหลังได้ง่ายขึ้น

หากเราอยากละลายหลังให้ใช้ช่วงเลนส์ที่ไกล แต่ถ้าอยากให้หลังชัดควรใช้ช่วงเลนส์ที่กว้าง

สองภาพด้านบนใช้ช่วงเลนส์ต่างกันแต่พยายามถ่ายให้นางแบบในภาพมีขนาดตัวเท่ากัน

ยิ่งเข้าใกล้ยิ่งละลายหลัง – อีกพื้นฐานในการละลายฉากหลังของการถ่ายบุคคลคือการเข้าใกล้แบบมากขึ้น ยิ่งกล้องเราอยู่ใกล้แบบมากเท่าไหร่ฉากหลังจะยิ่งละลายเยอะขึ้น โดยมีเทคนิคคือนอกจากเราจะเข้าใกล้แบบแล้วให้เราเลือกฉากหลังที่อยู่ห่างออกไปจากตัวแบบมากๆ จะยิ่งทำให้ภาพออกมาละลายหลังได้มากขึ้น

กล้องยิ่งใกล้แบบยิ่งละลายหลังและฉากหลังยิ่งห่างแบบก็ยิ่งทำให้ละลายหลัง

ตัวอย่างวิธีการใช้เทคนิคนี้คือ สมมติผมจะถ่ายคนด้วยเลนส์คิท Olympus 14-42mm แล้วอยากให้ละลายหลังมากสุดเท่าที่จะทำได้ผมจะทำ 4 อย่างด้วยกัน

    • ซูมระยะเลนส์ไปให้สุดที่ 42mm
    • ใช้ค่ารูรับแสงให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้(ค่า F เลขน้อยที่สุด)
    • เดินเข้าไปใกล้แบบมากขึ้น
    • ให้แบบเดินออกมาห่างๆจากฉากหลังมากขึ้น

2. โฟกัสที่ดวงตา

จุดสำคัญมากที่สุดในการถ่ายภาพบุคคลคือการ โฟกัสที่ดวงตา เพราะดวงตาจะถ่ายทอดอารมณ์ของคนๆนั้นออกมาได้ การถ่ายภาพบุคคลนั้นไม่ใช่แค่เราถ่ายรูปคนๆหนึ่งยิ้มเฉยๆแต่ยังเป็นการเก็บอารมณ์ของเขามาอีกด้วยการโฟกัสที่ดวงตาขึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งระบบโฟกัสที่ผมแนะนำให้ใช้คือ AF-S(บางยี่ห้อเรียก One Shot) เลือกใช้จุดโฟกัสแบบจุดเดียว และในการใช้งานแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

โฟกัสก่อนแล้วจึงจัดองค์ประกอบ – วิธีนี้ให้เรากดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งโดยเล็งไปโฟกัสที่ดวงตาแบบก่อน แช่นิ้วค้างไว้แล้วค่อยๆเลื่อนกล้องอย่างช้าๆเพื่อจัดองค์ประกอบภาพ ระวังอย่าให้ระนาบระยะห่างระหว่างตัวแบบและกล้องเปลี่ยนไปมากนัก(จริงๆไม่ควรเปลี่ยนเลย)เพราะจะทำให้ดวงตาที่เราโฟกัสไว้หลุดออกจากระยะโฟกัส เมื่อจัดองค์ประกอบภาพได้แล้วจึงลั่นชัตเตอร์ วิธีนี้นิยมใช้กันมากที่สุดเนื่องจากมีความรวดเร็ว ในช่วงแรกๆเราจะยังไม่ชำนาญและทำให้ภาพหลุดโฟกัสบ้างตอนช่วงจัดองค์ประกอบ เป็นเรื่องปกติครับอย่าเพิ่งท้อ ทำต่อไปบ่อยๆเราจะยิ่งชำนาญจนแทบไม่พลาดเลย

จัดองค์ประกอบก่อนแล้วจึงโฟกัส – วิธีนี้โฟกัสเข้าแน่นอนกว่าวิธีแรกใครที่ซีเรียสงานมากๆจะใช้วิธีนี้คือเราจัดองค์ประกอบไว้ก่อนเลยจากนั้นจึงค่อยเลื่อนจุดโฟกัสไปหาดวงตานางแบบเพื่อโฟกัสแล้วกดถ่ายได้เลย วิธีนี้โฟกัสเข้าตาแน่นอนแต่ค่อนข้างช้าจนบางครั้งอาจทำให้เราเสียโอกาสจะได้รูปนั้นไปเลย

3. จัดองค์ประกอบภาพ

อย่าลืมที่จะปรับใช้องค์ประกอบภาพต่างๆร่วมกับการถ่ายภาพบุคคลเพราะจะช่วยทำให้ภาพดูมีความน่าสนใจมากขึ้นเช่นการใช้องค์ประกอบแบบจุดตัดเก้าช่อง กฎสามส่วน ฉากหน้า หรือการสะท้อน ตลอดจนการใช้โทนสีเองก็เป็นการจัดองค์ประกอบอย่างหนึ่ง สีของภาพที่กลมกลืนจะให้ความรู้สึกที่ไหลไปทางเดียวกันเช่น เขียวและฟ้า แต่หากเลือกใช้สีคู่ตรงข้ามเช่น แดงและเขียว จะทำให้เกิดการตัดกันอย่างรุนแรงและความรุนแรงนี้จะดึงความสนใจของคนมองตั้งแต่แรกเห็น ใครอยากศึกษาเรื่องคู่สีสามารถเข้าไปอ่านต่อกันได้ที่ เทคนิคกล้วยๆ เลือกคู่สีที่ใช่เพิ่มความน่าสนใจให้ภาพถ่าย

ภาพด้านบนนี้วางองค์ประกอบแบบจุดตัดเก้าช่อง นำตาของนางแบบวางเอาไว้ในตำแหน่งของจุดตัด

ภาพนี้ก็ใช้จุดตัดเก้าช่องเช่นกันและรวมกับเทคนิคการถ่ายย้อนแสงให้เส้นผมเกิดแสงสีทองสวยงาม

ตัวอย่างการใช้องค์ประกอบแบบเส้นนำสายตา เส้นต่างๆที่พุ่งเข้าหาตัวแบบช่วงดึงดูดสายตาคนดูเข้าหาตัวคน

การเล่นกับเงาสะท้อน

4. ระวังอย่าตัดตามข้อ

ในการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายคนนั้นให้เราระวังอย่าไปตัดร่างกายของแบบตามบริเวณข้อต่างๆเช่น คอ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า เป็นต้น เพราะจะทำให้ดูภาพแล้วรู้สึกเหมือนแขนขาขาด เป็นพื้นฐานที่เราจะต้องระวังให้ดี

ภาพจาก animoto.com

5. ระวังฉากหลังให้ดี

ก่อนจะถ่ายภาพอย่าลืมระวังฉากหลังของแบบให้ดีนะครับ ว่ามีอะไรรกเกินไปหรือเปล่า อย่างเช่นถ่ายคนฉากหลังเป็นต้นไม้เขียวๆแต่ดันมีใครซักคนใส่เสื้อสีแดงอยู่ในฉากหลังแบบนี้สีแดงจะแย่งความสนใจจากตัวแบบของเราจึงต้องไม่ลืมที่ระวังฉากหลังทุกครั้ง

หรือในกรณีไปถ่ายภาพชายหาดต้องระวังเส้นขอบฟ้าไม่ให้ตัดผ่านคอของตัวแบบเรา

อีกตัวอย่างที่ไม่ดีคือภาพนี้ที่ฉากหลังค่อนข้างรกและยังมีใบไม้หย่อนลงมากลางหัวนางแบบเลยทีเดียว

 

จากภาพบนจะเห็นไฟทั้งสองจุดซึ่งแค่ให้แบบถอยไปอีกหน่อยก็จะไม่ติดมาแล้ว

ส่งท้าย…

ท้ายที่สุดการถ่ายภาพบุคคลให้สวยมันไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวหรอกครับ คุณอาจทำผิดพื้นฐานทั้ง 5 ข้อนี้แต่ถ่ายภาพคนออกมาสวยก็ได้ ฉะนั้นผมไม่อยากให้ทุกคนยึดติดว่าจะต้องทำตาม 5 ข้อนี้เป๊ะๆแต่อยากให้ใช้จินตนาการและความรู้สึกที่อยากถ่ายทอดภาพนั้นออกมาสร้างสรรค์แนวทางในแบบของตัวเอง เพียงแต่หากวันไหนเราตันๆคิดอะไรไม่ออก(ซึ่งผมเองก็มักเป็นแบบนั้น ฮ่า ฮ่า)การทำตามพื้นฐานนี้จะช่วยให้เราได้ภาพที่ดีได้ไม่ยากเย็น

ZoomCamera Live! : พื้นฐานการถ่ายภาพ Portrait!

พบกับ Zoom Camera Live! กันอีกเช่นเคย มาเรียนรู้พื้นฐานการถ่ายภาพ Portrait กันแบบสดๆ ได้เลยจ้า ^___^#ZoomLive #ZoomCamera #Portrait

Posted by ZoomCamera on Tuesday, 2 May 2017

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save