พื้นฐานการตั้งค่าสำหรับคนเริ่มหัดถ่ายวิดีโอ ตอนที่ 2 Leave a comment

มาต่อกันกับตอนที่ 2 ใครหลงเข้ามาบทความนี้แล้วยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 สามารถไปอ่านกันได้ที่ พื้นฐานการตั้งค่าสำหรับคนเริ่มหัดถ่ายวิดีโอตอนที่ 1 

การตั้งค่าแสงของกล้องแบบ Manual

รอบนี้เราจะสอนใช้โหมด Manual นะครับ แต่ในการใช้งานจริงใครจะปรับเปลี่ยนใช้โหมดอื่นตามสถานการณ์ก็ได้แต่สำคัญคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าค่าแต่ละตัวส่งผลอะไร

1. Shutter Speed ความเร็วชัตเตอร์

จำความเร็วชัตเตอร์ในภาพนิ่งได้ใช่มั้ยครับ ถ้าช้าก็จะหยุดวัตถุที่เคลื่อนไหวไม่ค่อยได้วัตถุในภาพจะยืดเบลอ แต่ถ้าเร็วก็จะหยุดวัตถุที่เคลื่อนไหวให้นิ่งชัดเจนในภาพได้ในวิดีโอก็เหมือนกันแต่ผลของมันเกิดเร็วมากเพราะมีภาพตั้ง 30-60 ภาพถูกเล่นใน 1 วินาทีเราเลยอาจไม่ทันสังเกตว่าแต่ละเฟรมมีความยืดเบลอมากน้อยแค่ไหน วัตถุที่เคลื่อนไหวชัดแค่ไหนเพราะมันถูกเล่นต่อกันอย่างรวดเร็วจนเป็นภาพเคลื่อนไหว

ในการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์มันมีกฎพื้นฐานจำง่าย ๆ เลยคือต้องเป็น 2 เท่าของเฟรมเรตที่เราเลือกใช้

ใช้เฟรมเรต 24fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/48 วินาที(ใกล้เคียงที่สุดในกล้องเราคือ 1/50 วินาที)

ใช้เฟรมเรต 25fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/50 วินาที

ใช้เฟรมเรต 30fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/60 วินาที

ใช้เฟรมเรต 50fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/100 วินาที

ใช้เฟรมเรต 60fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/120 วินาที

ใช้เฟรมเรต 100fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาที

ใช้เฟรมเรต 120fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/240 วินาที(หรือใกล้เคียงสุดในกล้องเรา 1/250 วินาที)

ใช้เฟรมเรต 240fps = ต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/480 วินาที

สาเหตุที่เราต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ตามเฟรมเรตแบบนี้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยยุคฟิล์มเพราะทุกคนชื่นชอบที่ให้แต่ละเฟรมภาพมีความยืดเบลอของวัตถุเล็กน้อยเพื่อส่งต่อความรู้สึกว่าวัตถุนั้นเคลื่อนไหวให้กับเฟรมถัดไปอย่างนุ่มนวล การตั้งความเร็วชัตเตอร์ตามกฎนี้จะให้การเคลื่อนไหวของวัตถุในวิดีโอที่ดูนุ่มนวลกำลังดีเป็นธรรมชาติไม่แข็งหรือเบลอจนเกินไปฉะนั้นแนะนำให้จำกฎนี้ให้แม่นห้ามลืมเด็ดขาด

และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมคนถ่ายวิดีโอจริงจังถึงต้องหาซื้อพวก ND แบบหมุนปรับระดับได้มาใส่เพราะเราไม่สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ตามใจได้มันจำเป็นต้องคงที่เอาไว้และลองคิดดูว่าไปถ่ายวิดีโอตอนบ่ายโมงใช้ชัตเตอร์ 1/50 ISO200 และอยากได้หลังละลายแบบ F2.8 วิดีโอคงขาวแสงโอเวอร์แน่นอนจุดนี้แหละที่ ND เข้ามาช่วยตัดแสงให้ เป็นประโยชน์อย่างมากถึงมากที่สุด

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราแหกกฎนี้?

เราสามารถแหกกฎนี้ได้ครับอย่างถ้าผมถ่าย 24fps ในกรณีที่แสงน้อยมาก ๆ 1/50 แล้วแสงยังไม่พอบางครั้งผมจะยอมลดลงไปที่ 1/30 วินาที มันจะทำให้การเคลื่อนไหวของวัตถุดูยืด ๆ มากขึ้นซึ่งผมว่ามันยืดจนดูนุ่มนวลเกินไปหน่อยแต่ก็พอรับได้ถ้าวัตถุหรือตัวคนไม่ได้เคลื่อนที่เร็วนัก บางครั้งเราก็ใช้ชัตเตอร์ที่ช้ากว่านี้(ถ้ากล้องทำได้)เพื่อเอาเอฟเฟคภาพยืด ๆ แปลก ๆ เหมือนกำลังเมา ๆ มึน ๆ อยู่

ส่วนถ้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงเกินไปวัตถุมันจะเคลื่อนไหวแบบแข็ง ๆ โดด ๆ หน่อย(มันอธิบายให้เห็นภาพได้ยากมาก 555) จากเดิมเราใช้ความเร็วชัตเตอร์คูณ 2 จากเฟรมเรตเพื่อให้เกิดอาการยืดเบลอของวัตถุบ้างการเคลื่อนไหวของวัตถุในแต่ละเฟรมจึงดูลื่นต่อกันดีเวลาเราดูเป็นวิดีโอ แต่พอใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงวัตถุจะถูกหยุดนิ่งสนิทในแต่ละเฟรมทำให้ไม่รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของวัตถุและการเปลี่ยนตัวแหน่งของวัตถุในเฟรม 1 ไปเฟรม 2 มันอาจจะกระโดดไปแบบปุ๊บปั๊บทันทีทำให้การเคลื่อนไหวดูแข็ง ๆ ไม่นุ่มนวล

ผลของการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าหรือเร็วเกินไปจะสังเกตเห็นได้ชัดเวลาถ่ายของที่เคลื่อนไหวไปมาตลอด แต่ถ้าถ่ายของนิ่ง ๆ เราจะไม่ค่อยสังเกตเห็นเท่าไหร่

จะใช้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ต้องระวังเรื่อง Flicker ด้วย

เคยเห็นอาการที่ไฟในห้องมันกระพริบ หรือจอภาพกระพริบในวิดีโอเรามั้ยครับนั่นแหละอาการ Flicker เกิดจากการที่ความเร็วชัตเตอร์ที่เราใช้มันไม่สัมพันกับความถี่การกระพริบของไฟเพราะปกติหลอดไฟจะมีการกระพริบตลอดแต่ตาของเราไม่สังเกตเห็นเพราะมันเร็วมาก บ้านเราใช้ระบบไฟ 50Hz หลอดไฟจะกระพริบ 50 ครั้งต่อวินาทีหากเราตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้เท่ากันที่ 1/50 วินาทีอาการ Flicker จะหายไปเลย หรือจะปรับให้ช้าลงไปจนถึง 1/30 วินาทีก็หายเช่นกัน และหลาย ๆ ครั้งผมถ่ายที่ 1/100 วินาทีก็ไม่มี Flicker ทีนี้บางแหล่งกำเนิดแสงมันอาจจะไม่ได้กระพริบที่ 50Hz เราต้องลองปรับค่าแล้วเช็คดูหลังจอว่าเมื่อไหร่ที่ Flicker จะหายไป

สรุป : จำเรื่องกฎความเร็วชัตเตอร์สองเท่าของเฟรมเรตให้แม่นเราตั้งค่าตามนี้เลยและคอยระวังเรื่องอาการ Flicker ของหลอดไฟให้ดี

2. Aperture รูรับแสง

เรื่องนี้ไม่ยากแบบความเร็วชัตเตอร์หลักการมันก็เหมือนกับในภาพนิ่งเลยครับ F กว้างแสงเข้ามากละลายหลังได้เยอะ F แคบแสงเข้าน้อยได้ความชัดลึกมากกว่า

สรุป : เลือกใช้ได้ตามความชอบและสถานการณ์ผลของรูรับแสงเหมือนกับตอนถ่ายภาพนิ่งเลย

3. ISO ค่าความไวแสง

ค่าน้อยภาพมืดค่ามากภาพสว่างเหมือนกับในภาพนิ่งเป๊ะ ๆ ค่าไหน Noise ในภาพนิ่งเยอะ Noise นั้นก็จะตามมาในวิดีโอเช่นกันแต่เราจะสังเกตเห็น Noise ในวิดีโอได้น้อยกว่าภาพนิ่งสมมติปกติเราถ่ายภาพนิ่ง ISO6400 แล้วคิดว่า Noise มันเยอะจนแทบไม่ไหวแต่ในวิดีโอคุณอาจจะโอเคกับมันก็ได้เพราะด้วยความที่ภาพมันเล่นต่อกันอย่างรวดเร็วทำให้เราสังเกตเห็น Noise ได้น้อยลง

ในวิดีโอเนื่องจากความเร็วชัตเตอร์เราต้องตั้งค้างไว้ให้สัมพันกับเฟรมเรตจะเปลี่ยนก็ไม่ได้ และถ้าอยากให้ละลายหลังเท่าเดิมตลอด F ก็จะเปลี่ยนไม่ได้เช่นกัน ISO จึงกลายเป็นพระเอกตัวหลักที่ใช้งานบ่อยมาก อยากได้มืดหรือสว่างก็อาศัยปรับเจ้า ISO เอาตามสถานการณ์

สรุป : จะใช้งาน ISO เท่าไหร่นั้นแล้วแต่คนและขึ้นอยู่กับสถานการณ์เรามองภาพจริงจากหลังจอได้อยู่แล้วฉะนั้นอยากได้มืดสว่างแค่ไหนก็ลองเช็คก่อนถ่ายจริงได้สบาย

4. White Balance สมดุลแสงขาว

ส่วนตัวผมชอบทิ้งไว้ Auto มาก ๆ เพราะมันสะดวกแต่จริง ๆ แล้วไม่ควรทำซักเท่าไหร่เพราะมันจะเลือกเองตามสมองกล้องเกิดการวาปเปลี่ยนไปมาของค่า White Balance ในวิดีโอและเวลาแก้มันต้องมาแก้เป็นช่วง ๆ เดี๋ยวอมเหลืองเดี๋ยวอมฟ้าปวดหัวเลยทีเดียว แต่ดีที่กล้องรุ่นใหม่ ๆ White Balance ค่อนข้างฉลาดและถ้างานคุณไม่ได้ซีเรียสมากการใช้ White Balance Auto ก็ไม่ผิดอะไรแถมง่ายดีด้วย!

แต่ถ้าซีเรียสเรื่องสีตรงคงจะต้องตั้งด้วยตัวเอง หรือแม้ในสถานการณ์ที่แสงปล่อยบ่อย ๆ การตั้ง White Balance ไว้ค่าเดียวจะทำให้เวลาแก้เราแก้ทั้งคลิปทีเดียวได้ไม่ต้องมาแก้เป็นช่วง ๆ ตอน ๆ

สรุป : ถ้างานซีเรียสคงต้องตั้ง Manual ด้วยตัวเองอันนี้ต้องเรียนรู้และฝึกฝนกันเยอะหน่อยแต่ถ้างานไม่ซีเรียสอัพ Youtube, Facebook ทำรายการดูสนุก ๆ ใช้ Auto ก็ได้สบาย ๆ

5. Picture Profile โปรไฟล์สีที่เลือกใช้

ก็เหมือนเป็นการเลือก Tone สีของวิดีโอเรานี่แหละครับ กล้องหลาย ๆ ตัวจะมีโทนสีแบบ Log เช่นพวก V-Log ของ Panasonic หรือ SLog ของ Sony เป็นต้น ในการเลือกใช้สี Log หรือพวก CineLike ทั้งหลายแหล่จะมีประโยชน์มากถ้าคุณจะเอาวิดีโอไปเกรดสีแต่งโทนต่อทีหลัง แต่ถ้าไม่ล่ะก็อย่าใช้เลยมันจะเหนื่อยที่ต้องทำสีกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม 555 ในการเลือกใช้ Picture Profile ถ้าคุณไม่ได้มี Picture Profile ที่ชอบในใจอยู่แล้วแนะนำให้ถ่ายมาโทนกลาง ๆ อย่าง Profile Natural, Standard อะไรพวกนี้เพราะมันมาแบบกลาง ๆ เราจะดึงให้มันเพิ่มหรือลดได้ง่าย

สรุป : ถ้ามีแผนว่าจะเอาวิดีโอมาเกรดสีทำโทนต่อหรือในสถานการณ์ที่ตั้งค่าแสงให้พอดียาก ๆ ถ่ายแบบ Log มาเผื่อแต่งต่อจะช่วยได้มากแต่ถ้าไม่ได้จะเอาไปแต่งแสงแต่งโทนต่อทีหลังหรือกะว่าเอาไปปรับเพิ่มนิดเดียว ถ่ายด้วยโทนสีแบบธรรมดาก็เพียงพอแล้ว

6. Autofocus Mode โหมดการโฟกัส

ถ้าคุณสามารถ Manual Focus ได้ผมแนะนำว่าให้ใช้ Manual Focus เพราะเราเลือกจุดที่จะโฟกัสได้ตามใจไม่ต้องคอยกังวลว่ากล้องมันจะวิ่งไปจับตรงนู้นตรงนี้ แต่ถ้าไม่อยากใช้ Manual Focus อย่างผมเองไม่ได้ถ่ายวิดีโอเป็นงานจริงจังผมก็ใช้ Autofocus เป็นหลักผมมักติดอยู่กับ AF-C หรือระบบโฟกัสแบบต่อเนื่องที่เหลือก็เลือกใช้พื้นที่กรอบโฟกัสที่จะให้กล้องมันคอยโฟกัสให้ตามสถานการณ์หน้างานเอา แต่ก็มีหลายคนที่ชอบใช้ AF-S มากกว่าอย่างช่างภาพวิดีโอสาย Documentary อย่าง Giffin Hammond ผมเคยฟังเค้าพูดในงาน ๆ หนึ่งว่าเค้าใช้ AF-S เป็นหลักเลยแล้วเลือกจุดโฟกัสให้กล้องเองตามสถานการณ์

สรุป : ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน Manual Focus แน่นอนที่สุดแต่ถ้าจะ Autofocus ก็แล้วแต่ความถนัดกับความเหมาะสมของสถานการณ์

ก่อนจากกัน…

สุดท้ายหวังว่าอ่านแล้วจะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ หากมีข้อสงสัยหรือสังเกตว่าส่วนไหนมีความผิดพลาดของข้อมูลก็หลังไมค์บอกกันในแฟนเพจได้เลยจะได้แก้ไขเพื่อเป็นประโยชน์กับท่านอื่น ๆ ต่อไปนะครับ และถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ฝากแชร์ต่อกันด้วยนะครับ ขอบคุณทุกคนครับผม

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save