หนึ่งในสุดยอดฟังก์ชั่นที่มาพร้อมกับเฟิมแวร์ 2.0 ตัวใหม่ของ E-M1 และกล้อง OM-D รุ่นใหม่อย่าง E-M10, E-PL7 ก็คือ Live Composite ที่บอกว่าไอเท็มลับเพราะน้อยคนที่จะรู้หรือเคยลองใช้ แต่รับรองว่าจะถูกใจคนชอบถ่ายดาวและขา light paint หรือ bulb กันแน่ๆ
เนื้อหาในบทความนี้อาจต้องใช้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการตั้งค่าแบบแมนนวล การใช้ shutter B (bulb) หรือ long shutter บ้างพอสมควร เพื่อนๆมือใหม่อาจจะงงบ้างแต่จะพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายๆละกันนะครับ ไหนๆใช้ E-M1 แล้วก็ต้องลองฟังก์ชั่นให้ครบๆหน่อยครับ
พื้นฐานการถ่ายดาวเส้น (Startrail)
สำหรับมือใหม่ต้องเกริ่นก่อนว่าเวลาเราเห็นภาพที่มีไฟเป็นเส้นยาวๆ เช่น ดาว พลุ ภาพพวก light painting หรือภาพที่แสดง movement ของวัตถุเช่นเมฆเคลื่อน น้ำตกเป็นสาย ภาพพวกนี้ตากล้องเค้าใช้เทคนิคลากชัตเตอร์ หรือตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ยาวเพื่อจะได้เก็บความเคลื่อนไหวไว้ได้ ใครอยากลองง่ายๆแนะนำให้เอาขาตั้งกล้อง (หรือวางกล้องนิ่งๆ) ไปถ่ายภาพตามสี่แยกไฟแดงหรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีรถวิ่งไปมา และตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้นานพอที่รถจะวิ่งข้ามแยกไปมาได้ เราก็จะได้ภาพไฟเป็นเส้นละ แต่ปัญหาคือ ยิ่งเราตั้งชัตเตอร์นาน ภาพก็จะยิ่งสว่าง เส้นยังไม่ทันจะยาวภาพก็จะขาวโพลนไปซะก่อน ทีนี้ถ้าเราอยากได้เส้นที่ยาวกว่านั้นอีกล่ะ ทำไงกันดี ?
ปกติภาพดาวที่เราเห็นยาวๆ หรือเป็นวงได้นั้น ช่างภาพเค้าจะตั้งค่าและถ่ายภาพให้แสงพอดีๆ โดยดาวเป็นเส้นสั้นๆก็พอไม่ต้องยาว แต่จะถ่ายซ้ำๆต่อเนื่องกันไปนานเป็นชั่วโมงและได้ภาพเส้นสั้นๆมาหลายร้อยภาพ หลังจากนั้นก็เอาภาพพวกนั้นมาต่อโดยอาจใช้โปรแกรมสำเร็จรูปอย่าง Startrails ที่แจกกันใช้ฟรีๆ หรือจะใช้ photoshop มารวม layer แบบ lighten mode ก็ได้ ซึ่งความลำบากคือจะเปลืองเมมโมรี่อีกหลายร้อยภาพ แถมต้องมานั่งทำ post-process อีกเป็นชั่วโมงๆ เรียกได้ว่ามือใหม่ถอดใจกันไปซะก่อน
ตั้งค่าใช้งาน Live Composite
ก่อนอื่นเลยก็ตั้งเจ้า E-M1 เป็นแมนนวลโฟกัสซะก่อน ถ้าเป็นเลนส์ 12-40mm F2.8 ง่ายสุดแนะนำให้ดึงแหวนโฟกัสลงและหมุนไปเกือบๆจะอินฟินิตี้ และก็เริ่มตั้งค่าสำหรับการถ่ายภาพปกติ 1 ภาพให้ได้แสงพอดีซะก่อนโดยใช้โหมด M หรือแมนนวล โดยทั่วไปก็ให้เซ็ตรู้รับแสงกว้างที่สุด เช่น F2.8 และใช้ ISO เท่าไหร่ก็ได้ที่ noise ไม่เยอะเกินไป หลังจากนั้นก็ลองตั้งค่า shutter speed ที่ให้แสงออกมาพอดี แนะนำให้ลองเพิ่ม/ลด ทีละเท่าตัว เช่น ถ้าตั้ง 10 วินาทีแล้วมืดไป รูปถัดไปก็ 20 วินาทีไปเลย ไม่ต้องไปปรับทีละเล็กๆน้อยๆ เพราะมันจะไม่เห็นผล ทีนี้เราก็จะได้ภาพที่จะเป็นต้นแบบในการตั้งค่า live composite มาแล้ว
ในภาพตัวอย่าง ผมใช้ E-M1 ตั้ง F2.8 (เลนส์ zuiko 12-40 F2.8) ISO 1000 เพราะอยากให้เส้นดาวสว่าง และตั้งชัตเตอร์ที่ 13 วินาที ได้ภาพแรกมาประมาณนี้ ถ้าดูที่ 100% จริงๆจะเห็นดาวเป็นเส้นสั้นๆ จริงๆแล้วใครจะตั้งค่าให้เป็นเส้นยาวหน่อยก็ได้ ลด ISO ลงและเพิ่มความไวชัตเตอร์ออกไปก็ทำได้ตั้งแต่ภาพแรกเลยนะครับ ภาพนี้ไม่ได้เกี่ยวกับภาพที่เราจะถ่ายจริงๆต่อไป แค่ถ่ายเพื่อลองหาค่า setting ที่เหมาะสมเท่านั้นครับ
หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่โหมด live composite โดยทั้ง E-M1, E-M10, E-PL7 ก็ใช้วิธีเดียวกันคือหมุนปรับความไวชัตเตอร์นานขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งถึง 60 วินาที และเกินไปอีกจะไปอยู่ที่ LIVECOMP ใช้รูรับแสงและ ISO เท่าเดิม
แล้วก็กดปุ่ม MENU จะเข้าหน้าจอตั้งค่า exposure time หรือความไวชัตเตอร์ ให้ตั้งตามภาพที่เราเทสแล้วพอใจก่อนหน้านี้ กรณีของผมคือ 13 วินาที
แต่ก่อนจะเริ่มกันจริงๆ กล้องจะให้เราถ่ายภาพสำหรับเตรียมตัวก่อน 1 ภาพโดยจะแจ้งที่หน้าจอว่าให้กดชัตเตอร์ครั้งนึงเพื่อเตรียม อันนี้ผมเข้าใจว่ากล้องจะเก็บ dark frame เพื่อไปใช้ทำ noise reduction ในขั้นตอนการประกอบภาพจริง เราก็แค่กดชัตเตอร์ลงไปตอนหน้าจอดำๆอย่างนั้นแหละ หลังจากนั้นจอภาพจะขึ้นว่า “Ready for composite shooting” ทีนี้ก็กดชัตเตอร์อีกครั้งเริ่มเก็บแสงกันจริงๆได้เลย
ระหว่างถ่ายภาพ เราจะเห็นภาพในจออยู่ตลอดเวลา อย่างกรณีของผม ทุกช็อตหรือ 13 วินาทีหน้าจอจะอัพเดตให้เราเห็น ตอนแรกก็คิดว่าจะตั้งแล้วไปนอนซักงีบเหมือนเวลาเราถ่าย time-lapse หรือ startrail แต่พอมีภาพสดๆให้ดูบนจอแบบนี้กลายเป็นว่าผมตื่นเต้นที่จะนั่งเฝ้าหน้าจอดูว่าเส้นดาวของเรายาวแค่ไหนแล้ว มีอะไรเข้ามาในภาพบ้างมั้ย
อีกเรื่องที่กังวลก็คือมันจะผลาญแบตกล้องเร็วซักแค่ไหน ถ่ายๆอยู่แบตจะหมดกลางคันมั้ย ก็เล่นเปิดจอโชว์อยู่ตลอดแบบนี้ แต่ปรากฏว่ามันไม่กินแบตมากเท่าไหร่ครับ แบตผมเหลือขีดเดียวก็ยังถ่ายต่อเนื่องได้เป็นชั่วโมงได้อยู่เลย
ข้อควรระวังในการถ่าย Live Composite
จริงๆแล้วก็เหมือนการถ่ายดาวทั่วๆไป มารร้ายก็คือเมฆหมอกหรือแสงรบกวนในท้องฟ้า เนื่องจากหลักการของ live composite คือการซ้อน layer แบบ Lighten ซึ่งจะรวมภาพโดยให้ส่วนที่สว่างกว่าขึ้นทับส่วนมืดกว่าเสมอ ดังนั้นในบรรดาหลายร้อยเฟรมตลอดการถ่ายของเรา ถ้ามีซักเฟรมที่มีแสงขาวๆ เมฆเคลื่อน หรือหมอกแผงใหญ่วิ่งผ่านเข้ามา ภาพส่วนเหล่านั้นก็จะสว่างกลบท้องฟ้าไป ทำให้ดาวของเราไม่ชัดเจนอย่างที่ควร ตอนผมถ่ายก็เจอครับ บางทีก็ต้องทำตัวเป็นขงเบ้งนั่งเดาทิศทางลม ทิศทางเมฆก่อน ถึงจะจัดทิศทางกล้องและองค์ประกอบภาพได้ เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดช่วงเวลาที่เก็บภาพ จะไม่มีเมฆมาวิ่งเล่นพาดผ่านทั้งเฟรมเรา
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาค่อนข้างน่าพอใจครับ ได้ภาพหลังกล้องตามนี้
ภาพนี้ใช้ชัตเตอร์นาน 13 วินาที รวมทั้งหมดประมาณ 200 ภาพ รวมๆเกือบ 40 นาที ทั้งหมดจบในกล้องโดยได้ภาพมาเพียงภาพเดียว จริงๆแล้วผมตั้งใจจะให้ดาวลากยาวกว่านี้อีกเยอะ แต่เห็นอะไรขาวๆตรงเหนือต้นไม้มั้ยครับ ปีศาจเมฆมันเริ่มโผล่มาแล้ว! ถ้าผมปล่อยยาวไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าเมฆจะหนาขึ้นและคืบคลานมาจนเต็มเฟรมจนกลบท้องฟ้า้ที่ผมนั่งตากลมหนาวเฝ้ากล้องมาเกือบชั่วโมงซะหมด สุดท้ายเลยตัดสินใจหยุด Live Composite ไว้แค่นี้ครับ
หลังจากนั้นก็ปรับสีสัน คอนทราสต์ และครอปตามชอบใจ ในโหมด Live Composite ก็สามารถเซฟเป็น raw file ได้ด้วยนะครับ แถมเจ้า E-M1 มันมี Wi-Fi อยู่แล้ว เราก็ดึงรูปออกมาปรับใน iPad หรือ smartphone ได้ทันทีเลย สะดวกมากๆ ได้ออกมาตามภาพข้างล่างครับ
Live Composite ใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง
จริงๆแล้วฟังก์ชั่นนี้ไม่ได้ใช้สำหรับถ่ายดาวอย่างเดียวนะครับ เนื่องจากพื้นฐานมันคือการซ้อนภาพ ดังนั้นมันสามารถสร้างสรรค์อะไรได้อีกเยอะขึ้นอยู่กับไอเดียเราเลย แถมไม่จำเป็นต้องใช้ถ่ายกลางคืนด้วยนะครับ จะใช้ถ่ายกลางวันก็ยังได้ ผมลองหาตัวอย่างภาพที่ใช้ฟังก์ชั่น live composite ในรูปแบบต่างๆมาให้ดูกันด้วยครับ
อย่างภาพนี้ ถ่ายน้ำตกปกติสภาพแสงกลางวัน ถ้าจะลากชัตเตอร์ยาวๆให้น้ำมันฟุ้งคงเป็นไปไม่ได้ ไม่งั้นก็ต้องใช้ ND Filter มืดๆ
แต่ Live Composite ทำได้โดยถ่ายภาพละ 1/2 วินาที ต่อเนื่องไป 1 นาที ได้ตามภาพข้างล่างเลย (ขอบคุณภาพและเทคนิคจาก Pekkapotka.com)
หรือจะใช้ร่วมกับเทคนิค Light Painting ก็ยังได้
หรืออย่างวีดีโอตัวนี้ ที่ใช้การซ้อนภาพในกล้องมาทำภาพซ้อนแบบแปลกๆ
สุดท้ายก็ฝากวีดีโอที่ Olympus ทำไว้อธิบายวิธีใช้และประโยชน์ของฟังก์ชั่น live composite ให้ดูกันครับ
บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 20/12/2014