เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3 Leave a comment

Lumix GX1 Announce + Preview

Panasonic เปิดตัวกล้อง Luxmi GX1 มาแล้ว โดยรุ่นนี้เป็นกล้อง mirrorless ในซีรียส์ G รุ่นล่าสุด จับกลุ่มผู้ใช้ระดับ semi-pro ก่อนอื่นจะขอย้อนอดีดไปเล่าถึงความเป็นมาและการแบ่งระดับของกล้อง mirrorless กันก่อน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 Panasonic วางตลาดกล้อง mirrorless ขนาดเล็กสไตล์ rangefinder ออกมาเป็นตัวแรกโดยใช้ชื่อว่า GF1 ซึ่งในขณะนั้นเป็นกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ที่เล็กและเบาที่สุดในโลก แถมยังให้ภาพ RAW ที่มีคุณภาพดีและมาในดีไซน์คลาสสิคและรองรับการใช้งานแบบแมนนวลเต็มรูปแบบ ช่วงนั้นเรียกได้ว่าเป็นกล้องที่ฮือฮามาก ผู้ใช้หลักของกล้องแนวนี้มักเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่เคยใช้ DSLR มาก่อนและต้องการได้กล้องตัวที่สองที่เน้นการพกพาแต่ยังคงความสามารถเต็มรูปแบบไว้ หลังจากนั้น Panasonic ก็เปิดตัวรุ่นใหม่ GF2 และล่าสุด GF3 ออกมา ซึ่งทั้ง 2 รุ่นไม่ค่อยถูกใจแฟนๆของ GF1 ซักเท่าไหร่ เพราะเน้นการออกแบบที่เล็ก เรียบ ลดความซับซ้อนของเมนูและปุ่มลง เรียกได้ว่าออกไปในทางกล้องคอมแพคมากกว่า ซึ่งจริงๆแล้วจะโทษ Panasonic ก็คงไม่ได้เพราะจริงๆเค้าตั้งใจดึงกลุ่มผู้ใช้กล้องคอมแพคให้เปลี่ยนมาใช้กล้องตระกูล GF มากขึ้น แต่ก็ต้องขัดใจแฟนๆที่อยู่ในกลุ่ม semi-pro กันบ้าง

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

ในช่วงหลัง ค่ายต่างๆก็เริ่มเปิดตัวกล้อง mirrorless หรือที่เรียกว่า compact system camera กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Olympus, Sony, Pentax และล่าสุด Nikon จึงทำให้ตลาดขยายตัวขึ้นมากและเริ่มมีการแบ่งกลุุ่ม (segment) ของผู้ใช้ที่ชัดเจนขึ้นออกเป็นสองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มมือใหม่ ต้องการกล้องแนวคอมแพคที่คุณภาพดี มีลูกเล่นเยอะพอควร กับกลุ่มผู้ใช้ที่จริงจัง ต้องการฟังก์ชั่นครบถ้วน ดีไซน์เหมาะมือ และรองรับการใช้งานแมนนวลและปรับแต่งได้ดังใจ ค่ายกล้องต่างๆก็ออกมาตอบรับตลาดโดยมี product line ที่ชัดเจนขึ้น โดย Lumix G3 ก็เป็นกล้องที่อยู่ในกลุ่มหลังและประสบความสำเร็จมาก แต่บอดี้จะเป็นแนว SLR-Like ไม่เหมือนกับตระกูล GF เดิมๆ ล่าสุดหลังจากรอกันมานาน GX1 ก็ถือกำเนิด โดยถ้าพูดให้ถูกก็ต้องบอกว่าเป็นรุ่นต่อจาก GF1 โดยตรง เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็น GX series ให้เกิดการแบ่ง product line ที่ชัดเจนขึ้น ไม่ปนกับ GF เดิมๆ ร่ายมายาวมากแล้ว มาดูคุณสมบัติของ GX1 กัน

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

สเปกหลักๆของ Panasonic Lumix GX1

  • Live MOS sensor ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล
  • ISO 160-12800
  • บอดี้ทำจากโลหะ แข็งแรง
  • จอ LCD touch screen ขนาด 3″ 460k dot
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องความเร็ว 20 fps ที่ความละเอียด 4 ล้าน และ 4.2fps ที่เต็มความละเอียด
  • electronic level gauge หรือระดับน้ำอิเล็กทรอนิกส์
  • มีปุ่ม function 2 ปุ่มบนตัวกล้องและอีก 2 ปุ่มบนจอสัมผัส
  • บันทึกวีดีโอ Full-HD 1080/60i ในรูปแบบ AVCHD

ดูสเปกคร่าวๆกันแล้วก็ไม่ค่อยเห็นความแตกต่างจากรุ่นก่อนๆซักเท่าไหร่ ลองมาดูแบบลงลึกกันนิดนึง

เซนเซอร์และหน่วยประมวลผล GX1 ใช้เซนเซอร์ Live MOS ตัวเดียวกับ Luxmix G3 ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นรุ่นที่ดีที่สุดของ Lumix ตอนนี้เลย เดากันล่วงหน้าได้เลยว่าคุณภาพไฟล์ที่ได้ต้องดีกว่า GF3 แน่ๆ ขนาดภาพใหญ่สุดอยู่ที่ 4592×3448 หรือ 15.8 ล้านพิกเซล ISO สูงสุด 12800 ซึ่งสูงกว่า G3 และ GF3 อยู่ 1 stop  ส่วนตัวประมวณผลยังคงเป็นรุ่น Venus Engine FHD รุ่นล่าสุดเช่นเดียวกับ GF3 ทำให้ความไวในการโฟกัสน่าจะไล่เลี่ยกันซึ่งแต่ไหนแต่ไรกล้อง Panasonic ก็โดดเด่นเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ GX1 สามารถรีดประสิทธิภาพออกมาได้ดีกว่าในส่วนของการถ่ายภาพต่อเนื่อง แต่ก็ยังเป็นรอง Nikon J1V1 อยู่

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

จอภาพของ GX1 เป็นจอระบบสัมผัส TFT LCD ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 460,000 dots แสดงผล 100% frame coverage มีระบบ auto power LCD ปรับความสว่างหน้าจอเองได้ตามสภาวะแสง หากเปรียบเทียบจอกล้องดิจิตอลแบบสัมผัส คงต้องยอมรับว่า Sony มีการตอบสนองดีที่สุดเนื่องจากเป็นจอภาพแบบ capacitive เหมือนๆกับพวก iPhone ส่วน Panasonic ยังคงใช้จอแบบ Resistive ทำให้ต้องออกแรงในการกดบ้าง แต่ในบางสภาวะก็จะได้เปรียบเช่นตอนใส่ถุงมือ จอภาพแบบ capacitive จะไม่สามารถใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม การสั่งงานในระบบสัมผัสของ Lumix ออกแบบมาได้ดีกว่า (จากประสบการณ์) สามารถเข้าถึงการปรับตั้งต่างๆได้ง่ายและไวกว่าโดยใช้ Q.Menu (quick menu) ซึ่งเราสามารถลาก-วางฟังก์ชั่นที่ใช้บ่อยๆมาได้ ฟังก์ชั่นอีกอย่างของ touch screen ที่ Lumix ทำได้ดีและใช้งานได้ดีจริงก็คือการเลือกจุดโฟกัสบนหน้าจอรวมถึงการใช้ AF tracking หรือโฟกัสติดตามวัตถุโดยใช้การกดบนหน้าจอ ใช้งานได้คล่องกว่าการเลือกจุดโฟกัสของกล้อง DSLR เสียอีก

นอกจากนี้ก็ยังมีฟังก์ชั่นที่บางคนอาจไม่ใช้อย่าง touch zoom ที่ใช้ซูมที่หน้าจอได้โดยการลากซึ่งก็ยังไม่ได้ลองว่ามันจะลื่นไหลหรือยิ่งลำบากขึ้นโดยต้องใช้กับเลนส์ที่เป็น Power zoom (รหัส PZ) และสามารถกดถ่ายภาพจากการสัมผัสหน้าจอได้เหมือน smartphone ทั้งหลายโดยไม่ต้องกดปุ่มชัตเตอร์

ระบบโฟกัส GX1 เคลมว่าเป็นกล้องตระกูล G ที่โฟกัสเร็วที่สุด 0.09 วินาที เร็วกว่า G3 นิดนึง (0.1 วินาที) แต่จากบทสัมภาษณ์ที่ถามว่าทำไมไม่เคลมว่าเร็วที่สุดในโลกเหมือน GF3, Nikon V1 หรือ E-PL3 ก่อนหน้านี้ ทางพานาโซนิคกลับตอบว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างที่เจ้าอื่นไม่พูดถึงคือ shutter lag ซึ่ง GX1 ทำได้ดีมาก ในเรื่องความเร็วในการโฟกัสนี้ กล้อง mirrorless รุ่นใหม่ๆปัจจุบันแทบจะไม่แตกต่างกันแล้ว ถือว่าไวมากๆกันทั้งนั้น

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

โหมดการโฟกัสของ GX1 มี 4 โหมด ได้แก่ AFS, AFC, AFF และ Manual Focus โดย AFF เป็นโหมดที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในรุ่นนี้ ในโหมดนี้กล้องจะทำงานเหมือน AFS คือให้เราจับโฟกัสโดยการกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งแต่ถ้าหากวัตถุมีการขยับก่อนที่เราจะกดชัตเตอร์ลงไปทั้งหมด กล้องจะทำการ refocus ให้เราใหม่เอง 

ในส่วนของระบบออโต้โฟกัสก็ยังสามารถเลือกวิธีโฟกัสได้ทั้งระบบติดตามวัตถุ (AF tracking) เพียงจิ้มหน้าจอในตำแหน่งของวัตถุที่ต้องการติดตาม ระบบโฟกัส 23 พื้นที่ หรือจะเลือกจุดโฟกัสจุดเดียวก็ได้ ในระบบแมนนวลโฟกัสก็จะมี MF assist คือกล้องจะแสดงภาพซ้อนโดยซูมพื้นที่เพื่อเช็คโฟกัสได้ 4, 5 หรือ 10X

electronic level gauge เป็นคุณสมบัติที่เพิ่งเพิ่มเข้ามาในรุ่นนี้โดยมีเซนเซอร์ตรวจจับความเอียงของกล้อง 2 แกนคือแกนรอบเลนส์หรือแนวเอียงซ้าย-ขวา และแนวก้มเงยตรวจสอบว่าถือกล้องก้มหรือเงยมากไปหรือไม่ ระดับน้ำอิเล็กทรอนิกส์นี้จะทำงานร่วมกับ orientation sensor จับทิศทางการถือกล้อง (แนวตั้ง-แนวนอน) และปรับตัวระดับน้ำให้แสดงผลได้ถูกต้องตามลักษณะการถือกล้องด้วย

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

เลนส์ ที่ติดมากับชุดคิทของ GX1 จะมี 2 แบบ คือ Lumix G Vario 14-42mm F3.5-5.6 ASPH OIS ซึ่งเป็นเลนส์ซูมรุ่นปกติที่แถมมากับชุดคิทของกล้องตระกูล G อยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีเลนส์ตัวใหม่ Lumix G X Vario PZ 14-42mm F3.5-5.6 ASPH Power OIS ซึ่งเป็นเลนส์ PowerZoom (PZ) ที่ใช้ระบบซูมและโฟกัสแบบไฟฟ้าซึ่งสามารถปรับความเร็วในการซูม 2 ระดับ ช่วยให้การถ่ายวีดีโอสะดวกขึ้น นอกจากนั้นยังมีข้อดีเรื่องการพกพาเพราะเลนส์ตัวนี้เมื่อหดเก็บจะมีขนาดใกล้เคียงกับเลนส์ pancake เลย กล้องที่จะวางขายจะมีให้เลือกทั้งสองแบบโดยรุ่นที่มาพร้อมเลนส์ PZ จะราคาสูงกว่าประมาณ $150 หรือ 4500 บาท

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

การออกแบบของ GX1

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

GX1 ออกแบบมาใกล้เคียงกับ GF1 รุ่นเก่ามาก และแตกต่างจาก GF3 รุ่นล่าสุดพอสมควร โดยเฉพาะขนาดของ GX1 ที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงส่วนของกริปหรือมือจับที่เน้นให้ใหญ่ขึ้นและเป็นหนังผิวขรุขระเพื่อให้จับกระชับ

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

ด้านบนของตัวกล้อง GX1 มีปุ่มตามาตรฐานครบถ้วน ได้แก่ ปุ่มเลือกโหมด(ที่ GF3 ตัดออกไป) ปุ่มชัตเตอร์ ปุ่มบันทึกวีดีโอแยกต่างหาก และปุ่ม iA ซึ่งใช้สลับจากโหมด P/A/S/M ที่เลือกไว้ไปยังโหมดอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีช่องต่อแฟลชภายนอกแบบ hot-shoe และไมโครโฟนในตัวแบบสเตอริโอ

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

ด้านหลังของ GX1 นอกจากจะใหญ่กว่าอย่างชัดเจนแล้วก็ยังมีปุ่มต่างๆมากกว่าเยอะ ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นปุ่ม rear dial ด้านบนขวาที่ใช้หมุนๆเพื่อปรับเพิ่ม/ลดค่าต่างๆ โดยปุ่มนี้ยังคงทำงานได้ 2 แบบคือสามารถใช้กดเพื่อปรับค่าอื่นได้ด้วยในปุ่มเดียว นอกจากนั้นก็มีปุ่ม Fn1 และ Fn2 ซึ่งเป็นปุ่มที่สามารถตั้งเองได้ในเมนูกล้องว่าต้องการให้ใช้สำหรับตั้งค่าอะไร โดยมีฟังก์ชั่นให้เลือกถึง 25 ตัว เช่น ISOอาจใช้ Fn2 ในการล็อคค่าความจำแสง และใช้ Fn1 ในการเปลี่ยนโหมดวัดแสง ซึ่งจะช่วยให้กล้องตัวเล็กๆสามารถปรับตั้งค่าต่างๆได้ง่ายขึ้นเยอะ จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วถึง GX1 จะเป็นกล้องที่มาพร้อมกับจอระบบสัมผัส แต่การใช้งานทั้งหมดยังคงพึ่งปุ่มภายนอกได้เหมือนกล้องทั่วๆไป นอกจากนั้นที่เห็นเด่นชัดอีกจุดคือ accessory port ตรงกลางเหนือจอ LCD กล้อง ใช้สำหรับต่ออุปกรณ์เสริมเช่น ViewFinder รุ่นใหม่ LVF2 ที่เปิดตัวมาพร้อมกัน ความละเอียด 1,440,000 dot ซึ่งสูงกว่ารุ่นก่อนและไม่สามารถใช้กับกล้องตระกูล G รุ่นก่อนๆได้

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

 

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

GX1 รองรับเลนส์ 3D และเก็บภาพในฟอร์แมทมาตรฐานของไฟล์ 3D คือ MPO

คู่แข่งของ GX1 

กล้องที่เป็นตัวเปรียบเทียบกับ GX1 ก็จะเป็นกล้องในระดับราคาไล่เลี่ยกัน จับกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือกลุ่มผู้ใช้ระดับ semi-pro ที่เน้นการคอนโทรลตัวกล้องและการปรับตั้งที่สะดวก ตอนนี้เห็นจะมีเพียง Sony NEX-5N กับ Olympus E-P3

GX1 กับ NEX-5N

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

(ชั่วโมงนี้ยังไม่ต้องพูดถึง NEX-7 เพราะยังไม่ออกและราคาก็น่าจะสูงไปกว่า GX1) ทั้ง GX1 และ NEX-5N ใช้เซนเซอร์ความละเอียด 16 ล้านพิกเซลและบันทึกวีดีโอ Full HD เท่ากัน ข้อดีของ NEX-5N คือเซนเซอร์ ต้องยอมรับว่าการที่ Sony ใช้เซนเซอร์ขนาดใหญ่กว่าทำให้ได้เปรียบในเรื่อง ISO noise และทำให้กล้องสามารถตั้งค่า ISO สูงสุดได้ถึง 25600 นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องความไวของการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ NEX-5N ทำได้ถึง 10fps ในขณะที่ GX1 ทำได้ 4.2fps แต่ตัวเลข 10fps ของ NEX นั้นมีเงื่อนไขว่ากล้องจะ focus และวัดแสงครั้งเดียวสำหรับภาพแรกและใช้ค่าเดิมสำหรับภาพที่เหลือโดยไม่ refocus ใหม่ ในส่วนของจอ LCD ทั้งคู่เป็นจอ touch screen ขนาด 3 นิ้วเท่ากัน แต่จอของ NEX-5N เป็นจอแบบปรับก้มเงยได้ความละเอียดสูงกว่า GX1 ทั้งสองรุ่นรองรับ electronic viewfinder และเป็นอุปกรณ์เสริมซื้อต่างหาก เรื่องฟังก์ชั่นและลูกเล่นในตัวกล้อง NEX-5N ก็มีให้เล่นมากกว่า เช่น sweep panorama, handheld twilight

ถ้าดูเรื่องฟังก์ชั่นตามตาราง GX1 เป็นรอง Sony อยู่พอสมควร แต่มีอีกด้านหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือในด้านการใช้งานจริง การออกแบบบอดี้นั้น GX1 ดูจะทำได้เหมาะมือกว่าเนื่องจาก NEX-5N ขนาดโดยรวมเล็กกว่า การจับมือเดียวอาจจะไม่ถนัดเท่า GX1 ซึ่งบอดี้จะตันกว่าและแข็งแรงกว่า นอกจากนี้ GX1 มีแฟลชในตัวแต่ NEX-5N นั้นต้องต่อแฟลชเข้าและถอดออกเวลาเก็บแถมการต่อก็ต้องหมุนสกรูด้วยมือซึ่งอาจจะน่ารำคาญอยู่บ้าง

GX1 ยังรองรับการต่อแฟลชภายนอกแบบ hot-shoe ซึ่ง NEX-5N ไม่มี, มีปุ่มปรับโหมดด้านบนตัวกล้องซึ่งทำให้การเปลี่ยนโหมดไปมาเช่น P/A/S/M ง่ายขึ้นแบบเดียวกับการใช้ DSLR ในขณะที่ NEX ต้องเข้าเมนูบนหน้าจอเพื่อเลือกโหมด และการปรับตั้งค่าต่างๆต้องพึ่งการเข้าเมนูหรือหน้าจอเยอะกว่าเพราะมีปุ่มรองรับน้อยกว่า ยังไม่รวมถึงระบบเมนูของ NEX ที่อาจจะไม่คล่องตัวเท่า Lumix อีกด้วย

GX1 เป็นระบบ micro four-third ซึ่งมีเลนส์รองรับเยอะกว่าระบบ Sony E และเลนส์ตัวใหม่ 14-42mm PZ ก็เป็นเลนส์ซูมที่ตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของ NEX-5N ชุดคิท 18-55 ซึ่งไม่สามารถพกใส่กระเป๋าได้เลย

GX1 กับ E-P3

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

GX1 และ E-P3 ต่างก็เป็นกล้องในระบบ micro four-third เหมือนกันจึงใช้เลนส์ร่วมกันได้ และมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงมากมาย ทั้งคู่บันทึกวีดีโอ Full HD 1080i AVCHD เหมือนกัน มี electronic level gauge และรองรับการต่อแฟลชโดยใช้ hot-shoe รวมถึงมี pop-up flash ทั้งคู่ต่างรองรับการเชื่อมต่อ electronic viewfinder ซึ่งต่างก็มีรุ่นของตัวเองออกมาขาย ในเรื่องการโฟกัส E-P3 ก็เคลมว่าโฟกัสเร็วที่สุดในโลก แต่คงไม่ได้แตกต่างกันแบบชัดเจน

ข้อดีของ E-P3 คือมีระบบกันสั่นอยู่ในตัวกล้อง ใช้กับเลนส์อะไรก็ทำงานได้ แตกต่างจาก GX1 ที่เหมือนกันกล้อง Lumix รุ่นอื่นๆ คือระบบกันสั่นจะถูกออกแบบให้อยู่ที่เลนส์ ซึ่งเลนส์บางตัวก็ไม่ได้มีระบบนี้เสมอไป

จอภาพของทั้งคู่เป็นจอสัมผัสขนาด 3 นิ้วเหมือนกัน แต่จอของ E-P3 เป็น OLED ซึ่งให้ความสว่างและความสดของสีดีกว่า (อาจจะต้องเทียบกัน) และมีความละเอียดจอสูงกว่านิดหน่อยคือ 610k และ 460k dot นอกจากนั้นทั้งคู่ต่างก็มี accessory port สำหรับต่อช่องมองภาพแต่ของ E-P3 จะมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆที่สามารถต่อที่ port นี้ให้เลือกมากกว่า เช่น external microphone, bluetooth, macro light

E-P3 มี 35 focus area ในขณะที่ GX1 มี 23 area และ Bulb mode ของ E-P3 สามารถถ่ายได้นานสูงสุด 30 นาทีในขณะที่ GX1 ได้เพียง 2 นาที

ข้อดีของ GX1 ที่เหนือกว่า E-P3 เช่น ความละเอียดภาพที่สูงกว่า คือ 16 ล้าน กับ 12 ล้านพิกเซล ตัวเซนเซอร์เองหากเทียบผลจาก G3 ที่ใช้เซนเซอร์รุ่นเดียวกันก็จะให้ไฟล์ภาพที่เหนือกว่า E-P3 นิดหน่อย ถ่ายภาพต่อเนื่องเร็วกว่าที่ 4.2 fps ต่อ 3 fps และถ้าลดความละเอียดภาพลง GX1 จะถ่ายได้ถึง 20fps และการบันทึวิดีโอต่อเนื่องก็ทำได้นานกว่า E-P3 ที่มีข้อจำกัดที่ 29 นาที การออกแบบตัวกล้องและกริปจับก็พอจะเดาได้ว่า GX1 น่าจะจับถนัดมือกว่าเพราะตัวกริปของ E-P3 ค่อนข้างแบนกว่า

ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในตัวกล้องก็อีกเป็นเรื่องหนึ่งที่ Lumix ทำออกมาได้ดีกว่า Olympus มาตลอด เช่น ระบบ iA, focus tracking ยังไม่รวมถึงราคาซึ่งในตลาด US GX1 เปิดตัวออกมาถูกกว่าแต่คงต้องรอดูบ้านเราด้วย

 

บทสรุป GX1

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

Panasonic อาจเรียกลูกค้ากลุ่มที่เคยผิดหวังกับ GF2 และ GF3 กลับมาได้จากการเปิดตัว GX1 ครั้งนี้ GX1 เป็นกล้องที่รวมเอาข้อดี เทคโนโลยีที่ดีที่สุดของ Lumix ไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์จาก G3 การออกแบบที่แข็งแรง สวยงาม จับถนัดมือพกพาสะดวกและคล่องตัวในการปรับตั้ง ระบบเลนส์ power zoom ที่ช่วยให้เลนส์ซูมก็สามารถพกใส่กระเป๋าได้ นอกจากนั้นยังพัฒนาระบบออโต้โฟกัสให้ดีขึ้นอีก จึงน่าจะตอบโจทย์ของผู้ใช้ที่ต้องการการใช้งานในระดับจริงจังมากขึ้น แต่พานาโซนิคก็เหมือนจะลืมใส่ฟังก์ชั่นที่ทันสมัยเหมือนอย่าง NEX และยังมี Olympus ทีมีพัฒนาการของกล้องตระกูล PEN ที่ดีขึ้นจากรุ่นแรกมากจนไล่ Lumix G-series ทัน เราจึงไม่เห็นกล้อง GX1 เป็นกล้องในตำนานเหมือนอย่างสมัย GF1 คู่แข่งของ GX1 แต่ละตัวต่างก็มีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันไป การเลือกซื้อคงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ว่าเห็นความจำเป็นเรื่องไหน ให้ความสำคัญกับอะไรเป็นหลัก โดยไม่ใช่เพียงมองแต่ตารางสเปกแล้วตัดสินใจ 

Sample Gallery

ฝากให้ไปดูภาพตัวอย่างของ GX1 กันได้ที่ photographyblog.com กัน คลิกที่ภาพข้างล่างได้เลยครับ

เปิดตัว + พรีวิว Lumix GX1 เปรียบเทียบ NEX-5N, E-P3

ปล. ในบทความนี้ไม่ได้ใส่ตารางสเปก แนะนำให้ไปดูกันได้ละเอียดๆที่เว็บ Pansonic เองตามลิงค์นี้

 

แหล่งข้อมูล : panasonic.com, dpreview.com, photographyblog.com, cameralabs.com, imaging-resource.com

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save