รีวิว Sony A7R Mark III ที่สุดแห่งกล้องน่าซื้อปี 2019-2020 Leave a comment

ถ้าย้อนไปซัก 2-3 ปีก่อน มีกล้องอยู่ 2 ตัวที่ผมรอคอยชนิดว่ารอคอยท่าน้ำทุกวันเลย~ นั่นคือ Sony A7 III และ A7R III เพราะผมได้ใช้และประทับใจซีรีส์นี้มาตั้งแต่รุ่น II แล้ว ตอนเปิดตัวเห็นภาพแล้วก็ร้องว้าวไป 1 ทีพอถึงวันที่ Sony ไทยเอามาให้ยืมใช้ก็ร้องไปอีก 2 ว้าว และวันนี้เรามารีวิว Sony A7R Mark III กันว่ามันจะทำให้ผมร้องว้าวได้อีกซักทีมั้ยและ ปัจจุบันมันยังคุ้มค่าน่าซื้อแค่ไหน

ทุกคนสามารถไปอ่านสเปกของ Sony A7R Mark III ได้ที่ 7 เหตุผลทำไม Sony a7R Mark III ถึงน่าโดนที่สุดในเวลานี้

Sony A7R Mark III ราคาเปิดตัว 114,990 บาท (ราคาปัจจุบันอัพเดท 25/12/2563 :  79,990 – 99,990 บาท แล้วโปรโมชั่นในแต่ละช่วง)

รีวิว Sony A7R Mark III – ภายนอกที่เปลี่ยนไป

บอดี้ภายนอกของ Sony A7R Mark III

Sony A7R Mark III มีบอดี้ตามสไตล์ของ A7 Series เดิมแต่มีการผสมระหว่าง A7R II และ A9 เข้าด้วยกันทำให้รูปร่างออกมาคล้ายกับ A9 ส่วน Grip จับของ Sony A7R III มีความใหญ่และลึกมากขึ้นทำให้จับถือได้ติดมืดกว่ารุ่นที่แล้วน้ำหนัก 657 กรัมมากกว่ารุ่นที่แล้วเล็กน้อย(625 กรัม) บอดี้ยังมี Weather Seal ที่ช่วยให้สามารถป้องกันละอองน้ำและฝุ่นได้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ด้วยความที่มีรูปร่างคล้ายกับ A9 ทำให้ A7R III สามารถใช้อุปกรณ์เสริมบางอย่างร่วมกับ A9 ได้เช่น Grip เสริม Sony VG-C3EM สามารถใช้รุ่นเดียวกันได้หรืออย่างเคสหนัง Gariz Half-case ตัว Sony A7R III ก็สามารถใช้รุ่นเดียวกับ A9 ได้เช่นกัน

ขีด ๆ สองช่องนี้คือลำโพงของตัวกล้องนะครับ 

จอใหม่ชัดขึ้นแตะได้

จอแสดงผลรุ่น Sony A7R Mark III เป็นแบบ Touchscreen ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1,440,000 พิกเซลละเอียดกว่ารุ่นเดิมเล็กน้อย(1,228,000) แต่ประเด็นสำคัญคือมันสามารถ Touchscreen ได้แล้วจ้าาา เจ้าเทคโนโลยีอย่าง Sony กว่าจะใส่จอสัมผัสให้ A7 Series ต้องรอกันจนถึงรุ่น 3 เลยทีเดียวแต่ในที่สุดมันก็มาแล้ว

ซึ่งเราสามารถใช้จอ Touchscreen นี้ในการจิ้มเลือกจุดโฟกัสได้และใช้วิธีการแตะ 2 ครั้ง(ในโหมดดูรูป)เพื่อขยาย-ย่อรูปได้ แต่ยังไม่สามารถใช้ควบคุมอะไรในหน้าเมนูได้นะครับนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เพราะการจิ้มเมนูลัดบนหน้าจอไปเลยอาจจะเร็วและสะดวกกว่าในบางสถานการณ์

Touchscreen ยังสามารถใช้เป็น Touch Pad ได้ด้วยเมื่อเราใช้ตามองช่องมองภาพหากเอานิ้วกวาดบริเวณจอหลังจะเป็นการเลื่อนจุดโฟกัสได้ทันทีที่เด็ดคือเราสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้เอานิ้วกวาดบริเวณไหนได้บ้างเช่น ครึ่งจอซ้าย ครึ่งจอขวา มุมบนซ้าย หรือจะเอาทั้งจอเลยจริง ๆ ยังมีหลายแบบกว่านี้มาก

ถามว่าทำไมต้องตั้งได้ขนาดนั้น ประโยชน์จะเห็นได้ชัดเจนเวลาใช้งานปกติกล้องหลายยี่ห้อจะมี Touch Pad แบบนี้แต่ผมจะปิดตลอดเพราะเวลาส่องช่องมองภาพไม่หน้าก็จมูกเรามักจะไปโดนจอทำให้กลายเป็นเลื่อนจุดโฟกัสโดยไม่ตั้งใจประจำเลย แต่พอตั้งบริเวณที่ให้ Touch Pad ทำงานได้แบบนี้ผมจะตั้งเฉพาะมุมบนซ้ายเอาไว้ซึ่งหน้าผมไม่เคยไปโดนมุมนั้นเลย แต่ในการเอานิ้วกวาดเราแตะมุมบนซ้ายของจอได้ง่ายมาก แถมยังมีประโยชน์ทั้งกับคนที่ถนัดตาซ้ายและคนที่ถนัดตาขวาด้วย

แต่หากใครไม่อยากใช้ระบบ Touchscreen นี้ก็สามารถเปิด-ปิดการทำงานได้ง่าย ๆ โดยการกดปุ่ม C4 ค้างไว้(รูปถังขยะ)ก็จะเปิด-ปิดได้เลยแบบง่ายมาก เรื่องจอหลังนี่ผมชื่นชมรู้สึกว่า Sony คิดเผื่อมาดีจริง ๆ

ช่องมองภาพละเอียดกว่าเดิม

ช่องมองภาพมีอัตราขยาย 0.78x นับว่าเป็นช่องมองที่ขนาดใหญ่เวลามองเต็มตาดีมากมีความละเอียดเพิ่มขึ้นจาก 2,359,296 เป็น 3,686,400 พิกเซล ตอนเปิดตัวรุ่นที่แล้ว Sony ถึงกับบอกว่านี่เป็นช่องมองภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลย แต่ไม่รู้ปัจจุบันมีคนล้มตำแหน่งไปหรือยังนะ

Sony A7RMIII
ช่องมองภาพที่ยอดเยี่ยม

Eye Sensor จะอยู่เหนือช่องมองและอย่างที่เราคุ้นเคยมันทำหน้าที่คอยสับเปลี่ยนการทำงานระหว่างจอหลังและช่องมองภาพให้เรา จุดที่ผมชอบคือ Eye Sensor นี้จะตัดการทำงานให้โดยอัตโนมัติเมื่อเราพลิกจอแม้พลิกแค่นิดเดียว Eye Sensor ก็ตัดการทำงานให้เลยซึ่งช่วยป้องกันเวลาเราพลิกจอหลังถ่ายภาพอยู่แล้วเผลอเอากล้องเข้าใกล้ตัวมากเกินไป

Joystick และปุ่มวิดีโอใหม่เป็นอะไรที่ดีมาก

Sony A7R Mark III มีการย้ายตำแหน่งปุ่มอัดวิดีโอจากเดิมเคยอยู่ที่บริเวณ Grip จับซึ่งกดยากและบางครั้งเผลอไปโดนโดยไม่ตั้งใจไปอยู่บริเวณข้าง ๆ ช่องมองภาพซึ่ง ดีมากกก เวลาใช้งานกดง่ายและไม่เผลอไปโดนโดยไม่ตั้งใจเป็นการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นที่แล้วซึ่งดีขึ้นมากและจบเลย Sony ยึดตำแหน่งตรงนี้ได้เลยไม่ต้องย้ายไปไหนแล้ว

Sony A7RMIII
Joystick และปุ่มวิดีโอใหม่เป็นอะไรที่ดีมาก

Joystick ถูกเพิ่มเข้ามาที่ด้านหลังของ Sony A7R Mark III เราสามารถใช้ Joystick เลื่อนจุดโฟกัสได้เลยทันทีรวมถึงใช้ควบคุมในหน้าเมนูก็ได้เมื่อรวมกับการที่เราสามารถเลือกจุดโฟกัสผ่านจอ Touchscreen ได้ทำให้การเลื่อนจุดโฟกัสใน Sony A7R Mark III สามารถทำได้เร็วและมีทางเลือกให้ใช้หลากหลาย

Hotshoe แบบ Multi Interface Shoe สำหรับต่ออุปกรณ์เสริมอย่างเช่น แฟลชแยก ซึ่งตัว Sony A7R Mark III จะมีค่า Flash Sync Speed ที่ 1/250 วินาที

Sony A7RMIII

Sony A7R Mark III มีช่องใส่ SD Card 2 ช่องสามารถรองรับ UHS-II ได้ 1 ช่องและ UHS-I อีก 1 ช่อง

Sony A7RMIII
ช่องใส่ SD Card

พอร์ต A7R III มีเพียบทั้งไมโครโฟน, หูฟัง, Flash Sync, microHDMI และพิเศษรุ่นนี้มากับ microUSB 2.0 กับ USB-C 3.1 Gen 1 ซึ่งทั้งสองช่องนี้สามารถใช้โอนถ่ายข้อมูลได้และใช้ชาร์ตแบตเตอรี่ได้ทั้งสองช่องอีกด้วย

Sony A7RMIII
พอร์ต A7R III มีเพียบทั้งไมโครโฟน, หูฟัง, Flash Sync, microHDMI

บางคนอาจสงสัยว่าถ้าเสียบ 2 ช่องพร้อมกันมันจะดึงข้อมูลแบบไหน มันจะดึงจากอันที่เราเสียบเชื่อมต่ออันแรกนะครับ

Sony A7RMIII

แบตเตอรี่อึดจริง ทนจริง

A7R III ใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่ NP-FZ100 ซึ่งจะเข้ามาแก้ปัญหาแบตฯหมดเร็วที่ชาว Sony เจอมานานของแบตฯ NP-FW50 โดยรุ่นนี้เพิ่มความจุมากว่าเท่าตัวจากการทดสอบ CIPA ชาร์จเต็มสามารถถ่ายภาพได้ 650 ภาพเทียบกับรุ่น NP-FW50 จะถ่ายได้แค่ 290 ภาพเท่านั้น

Sony A7RMIII

จากที่ผมนำกล้องไปใช้งานแบตฯอึดขึ้นจริงแบบรู้สึกได้ชัดเจนครับถ่ายรูปประมาณครึ่งวันบ่ายยันดึก ๆ ถ่ายประมาณ 500 รูปแบตฯยังเหลือเกิน 50% อึดขึ้นกว่าเดิมมากพอสมควรเลย

ตัวกล้องมีระบบ Wi-Fi, NFC สำหรับเชื่อมต่อมือถือและยังมี Bluetooth เพิ่มเข้ามาใหม่ในรุ่นนี้ด้วย

Sony A7RMIII

สัญลักษณ์ NFC บริเวณ Grip ซึ่งหากมือถือใครมี NFC ก็สามารถนำมาแตะบริเวณนี้ได้เลย

สำหรับรุ่นนี้ยังได้หน้าเมนูแบบใหม่เหมือน Sony A9 และ RX10 IV ด้วย เมนูใหม่จะมีการใส่สีให้กับเมนูต่าง ๆ คิดว่าน่าจะเพื่อช่วยให้เราจดจำเมนูได้ง่ายขึ้น

Sony A7RMIII

ข่าวร้ายของ Sony A7R Mark III คือการไม่มี PlayMemories App ในกล้องทำให้ไม่สามารถลง App ใด ๆ ได้เลยรวมถึง Time-Lapse ด้วยและ Sony ไม่ได้เพิ่งฟังก์ชันอะไรมาทดแทน ฉะนั้นหากใครอยากถ่าย Time-Lapse ใน A7R III อาจจะต้องซื้อรีโมทแบบตั้งเวลามาใช้แทนเพราะในกล้องจะไม่สามารถตั้งถ่ายภาพ Time-Lapse ได้เลย

รีวิว Sony A7R Mark III – สเปกและทดสอบ

เซนเซอร์เดิมแต่ดีขึ้น

Sony A7R Mark III ใช้เซนเซอร์ BSI-CMOS (แต่ยังไม่ใช่ Stacked CMOS แบบ A9)แบบไม่มี Optical Low pass filter ความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซลซึ่งเป็นตัวเดียวกับ A7R II แต่ Sony ได้พูดไว้ว่า A7R III จะมี Dynamic Range ที่ดีขึ้นจาก 14 เป็น 15 สตอปซึ่งเดาว่าน่าจะเกิดจากการจัดการไฟล์ที่ดีขึ้นของชิปประมวลผลใหม่ BionzX+Front-end LSI

Sony A7RMIII

เรื่อง Dynamic Range นี่ดีมากมาตั้งแต่ A7R II แล้วครับจริง ๆ ต่อให้รุ่นนี้ทำไฟล์ได้เท่าเดิมทุกอย่างก็ยังให้ 3 ผ่านผมได้ลองถ่ายภาพที่จงใจให้ติดอันเดอร์เยอะ ๆ จนมองดูว่าภาพบางส่วนดำจนไม่เห็นรายละเอียดแล้วจากนั้นลองเอามาดึงขึ้นดูจะเห็นว่าเรายังสามารถเห็นรายละเอียดในส่วนเงาอย่าง ต้นไม้ เสาไฟหรือเส้นพื้นถนนได้เพราะตัวกล้องสามารถเก็บรายละเอียดในส่วนมืดมาได้ดีมากทีเดียว

Sony A7RMIII

พอดีผมไม่มีการทดสอบ Dynamic Range ที่เป็นมาตราฐานแต่เห็นมีทาง DxOMark ได้ทดสอบเซนเซอร์ของ Sony A7R Mark III แล้วลองเข้าไปดูผลกันได้ครับที่ Review Sony A7R Mark III

นอกจากนี้ด้วยความ 42.4 ล้านพิกเซลการจับภาพมา Crop เป็นอะไรที่ง่ายแถมรายละเอียดมันเหลือให้ใช้เยอะ Crop มันสะใจมากมาย

Sony A7RMIII

Sony A7RMIII

ทดสอบ ISO

Sony A7R Mark III มีค่า Native ISO(ISO ที่ยังไม่ขยายช่วง) ตั้งแต่ 100-32000 ขยายได้เป็น ISO 50-1024000 ตัวกล้องจัดการไฟล์ ISO สูงได้ดี หายห่วงเลย ส่วนช่วงขยายสัญญาณอย่าง 51,200-102,400 จะมี Noise เยอะขึ้นชัดเจนเป็นเรื่องปกติ ปกติ ISO สูงมากพวกนี้เราไม่ค่อยได้ใช้แต่เชื่อเถอะครับในบางสถานการณ์มันจำเป็นจริง ๆ ได้ภาพกลับมา Noise เยอะหน่อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ภาพมาเลย

Sony A7RMIII

Sony A7RMIII

Sony A7RMIII

Sony A7RMIII

Sony A7RMIII

Sony A7RMIII

จุดโฟกัสมากขึ้น 400 จุด

ระบบโฟกัสของ Sony A7R Mark III เป็นแบบ Hybrid AF ที่มีระบบโฟกัสแบบ Phase Detection 399 จุดและ Contrast Detection 425 จุดทำงานร่วมกันซึ่งเฉพาะ Contrast Detection นี่มากกว่ารุ่นเดิมถึง 400 จุดเลย ทั้งสองระบบจะทำงานร่วมกันเพื่อให้โฟกัสได้รวดเร็ว

Sony A7RMIII

Phase Detection ซึ่งจะเก่งในเรื่องการ Tracking ติดตามวัตถุจะมีพื้นที่ครอบคลุม 68% ของเฟรมภาพซึ่งถือว่าครอบคลุมเยอะทีเดียวหากเทียบกับกล้อง DSLR แต่จะยังไม่ถึงระดับ Sony A9 ที่รายนั้น Phase Detection ครอบคลุมถึง 93% ของเฟรมภาพ

Sony กล่าวไว้ว่าระบบโฟกัสของ A7R Mark III จะมีความเร็วและประสิทธิภาพที่ดีขึ้นสองเท่ารวมถึงการโฟกัสในที่มืดยังสามารถทำได้ที่ระดับ -3EV ด้วย

ช่วงที่ผมได้รับกล้องมาใช้ใกล้กับสิ้นปีพอดีทำให้มีจัดแสดงแสงไฟต่าง ๆ ตามเมืองจึงลองเอาออกไปถ่ายดูตัวกล้องสามารถโฟกัสกลางคืนได้ดีเลย แต่แน่นอนว่าไม่เร็วเท่ากับตอนกลางวันนะครับจะช้าลงไปเล็กน้อยแต่ยังเร็วใช้ได้อยู่ บางจังหวะถ้าเจอวัตถุในเงา Contrast น้อย ๆ ก็จะมีอาการวืดวาดให้เห็นบ้างแต่พอรับได้อยู่

Eye AF ของดีค่าย Sony

จริง ๆ ค่าย Mirrorless แทบทุกค่ายมีระบบโฟกัสดวงตา Sony เองก็เช่นกันแต่สำหรับของ Sony นั้นทำมาค่อนข้างดีและใช้งานได้จริงเราจึงเห็นคนโพสถามถึงฟังก์ชัน Eye AF ตามกรุ๊ปกล้องกันอยู่เรื่อย ๆ สำหรับ A7R III ทาง Sony บอกว่าจะสามารถใช้ Eye AF และระบบ Tracking ได้ดีขึ้น 2 เท่าผมจึงลองเอาไปทดสอบโดยใช้ Eye AF + AF-C กับน้าเบิร์ดทีมงาน ZoomCamera ของเราดู

จะเห็นว่าระบบ Eye AF ติดตามตาได้ดีมากแน่นหนึบสุด ๆ ปรับระยะโฟกัสตามได้เร็วแถมแม้ว่าแบบจะหลุดออกนอกเฟรมและกลับเข้ามาใหม่กล้องรับรู้ทันทีและกลับไปล็อคตาต่อได้ไวมาก

ภาพที่ผมรัวถ่ายน้าเบิร์ดไปทั้งหมดมีประมาณ 270 ภาพครับใช้เวลานั่งไล่ดูอยู่นานเลยกว่า 80% โฟกัสเข้าทั้งหมด ส่วนที่ไม่เข้าก็เบลอเล็กน้อยเท่านั้น และมีแค่ไม่ถึง 5 ภาพที่โฟกัสไม่เข้าชนิดภาพเสียเลย

บอกตามตรงว่าผลลัพธ์ที่ได้มันทำให้ผมทึ่งกับระบบโฟกัสของ Sony A7R Mark III มากทีเดียว

10fps ที่ 42.4 ล้านพิกเซล!

หนึ่งในการปรับปรุงที่ดีกว่ารุ่นที่แล้วมาก Sony A7R Mark III สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 10 ภาพต่อวินาทีแถมเป็น AF/AE Tracking ในทุก ๆ ภาพอีกด้วยในขณะที่ A7R II สามารถทำได้ 5 ภาพต่อวินาทีเท่านั้น (10fps ทำได้ทั้งชัตเตอร์แบบกลไกและชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์)

แต่การถ่าย 10fps นั้นภาพที่แสดงผลหลังจอจะไม่ใช่ Live View ที่แสดงผลภาพจริง Real Time จอจะโชว์ภาพที่เราถ่ายมาแล้วแต่ถ้าจะให้เห็นภาพจริงแบบ Real Time ตลอดต้องลดลงมาเป็น 8fps ซึ่งก็ถือว่ายังเร็วอยู่โดยระหว่างแต่ละภาพเราจะสังเกตเห็นจังหวะภาพดำเป็นระยะจากการปิดของม่านชัตเตอร์เพราะ Sony A7R Mark III ยังไม่ใช่ No blackout แบบ A9

ดูตัวอย่างได้จากคลิปด้านบนนะครับ

กลไกชัตเตอร์ของ Sony A7R Mark III ยังถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ที่จะช่วยลดแรงสั่นสะเทือนและยังสามารถใช้งานได้มากถึง 5 แสนครั้ง

RAW 14bit Uncompressed

สำหรับ Sony A7R Mark III สามารถถ่ายภาพไฟล์ RAW 14bit Uncompressed ได้ทั้งชัตเตอร์แบบกลไกและแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วจากที่รุ่นก่อนเมื่อปรับเป็นชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์จะถูกลดขนาดเป็น RAW 12bit

และในการถ่ายต่อเนื่องที่ 8fps เราสามารถบันทึกเป็น RAW 14bit Uncompressed ได้เช่นกันแต่ถ้าจะใช้ 10fps จะบันทึกเป็น 12bit Compressed ตัวกล้องยังมีบัฟเฟอร์รองรับให้ขนาดใหญ่พอสมควรสามารถรัวไฟล์ JPEG หรือ RAW Compressed ใส่เข้าไปได้ 76 ภาพหรือ 28 ภาพถ้าเป็น RAW Uncompressed ไม่ได้เยอะแบบ A9 ที่รัวภาพใส่เข้าไปได้ 2-3 ร้อยภาพเลยแต่ก็ใหญ่เหลือเฟือจะรัวภาพได้นานประมาณนึงอยู่และอย่าลืมว่า A9 ไม่ได้มีไฟล์ 42.4 ล้านพิกเซลนะครับ

14bit หนักมากกก

เป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงสำหรับกล้องพิกเซลสูง RAW 14bit Uncompressed ของ A7R III นั้นหนักมากครับสำหรับขนาดของ RAW หนึ่งไฟล์ให้ลองทายกันเล่น ๆ ว่าเลขที่ออกคือเท่าไหร่……….85-86MB ต่อหนึ่งไฟล์! ใหญ่เอาเรื่องทีเดียวถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องเอาไฟล์ 14bit จริง ๆ ผมแนะนำให้ใช้ 12bit Compressed ก็พอครับเพียงพอต่อการใช้งานแถมมีขนาดเล็กลงแค่ครึ่งเดียวประมาณ 42-43MB

ระบบกันสั่น 5 แกน

เช่นเดียวกับรุ่น Mark II ตัว Sony A7R Mark III มาพร้อมระบบกันสั่น 5 แกนที่เซนเซอร์แต่ Sony เคลมว่าสามารถช่วยลดการสั่นไหวได้ดีขึ้นจาก 4.5 เป็น 5.5 สตอป

ทดสอบกันสั่นไหว : เนื่องจากผมใส่กับเลนส์ Sony FE 24-105mm F4 G OSS ที่มีระบบกันสั่นในเลนส์อยู่แล้วระบบของทั้งสองตัวจะทำงานร่วมกันโดยเลนส์ป้องกันการสั่นไหวในแกน Pitch, Yaw และกล้องจะทำแกน X, Y, และ Roll

ผมทดสอบถ่ายที่ความเร็วชัตเตอร์ช้าดูหลาย ๆ ค่าเจอจุดที่ประมาณ 1/10 – 1/15 วินาทีที่ผมสามารถถ่าย 10 รูปแล้วได้รูปดีมาประมาณ 8-9 ภาพถือว่ากันสั่นช่วยได้ดีพอใช้ได้เพราะผมเองไม่ใช่คนมือนิ่งอยู่แล้วด้วย แต่เมื่อลดความเร็วชัตเตอร์ลงไปเป็น ¼ – 1/8 ถ่าย 10 ภาพจะเริ่มเสียซักครึ่งนึงได้และ 555

ในการถ่ายวิดีโอผมมอง Sony A7R Mark III สามารถช่วยให้เราถือถ่ายแบบนิ่ง ๆ ได้แต่สำหรับการเดินถือถ่ายยังไม่นิ่งมากเท่าไหร่หากใครอยากใช้ A7R III ถ่ายวิดีโอท่องเที่ยวอารมณ์ Vlog แนะนำให้หา Gimbal ใช้ซักอันด้วยจะดีกว่าครับอย่าง Zhiyun Crane ก็เป็นตัวเลือกที่ดี

ส่วนตัวผมอยากให้ระบบกันสั่นของ Sony A7R Mark III สามารถลดการสั่นได้มากกว่านี้แต่ส่วนหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าการทำระบบกันสั่นให้กับเซนเซอร์ขนาดใหญ่ในขณะที่ต้องบริหารพื้นที่ให้กล้องมีขนาดพกพาสะดวกด้วยเป็นเรื่องที่ยากมาก

ของเล่นใหม่ Pixel Shift Multi Shooting

Sony A7R Mark III มีฟีเจอร์ใหม่ใช้ชื่อว่า Pixel Shift Multi Shooting วิธีการทำงานของฟีเจอร์นี้คือการถ่ายภาพ 4 ภาพเพื่อนำมารวมกันเป็น 1 ภาพโดยแต่ละภาพจะมีการขยับเซนเซอร์ให้เลื่อนไปทีละ 1 พิกเซลประโยชน์ของการใช้ฟีเจอร์นี้คือเราจะได้ภาพที่มีข้อมูลจากเม็ดพิกเซล RGB ทุกสีอย่างครบถ้วนจริง

ปกติแล้วพิกเซลหนึ่งตัวจะรับแสงได้แค่สีเดียวเท่านั้นแต่จริง ๆ แล้วเราต้องการข้อมูลของทั้ง 3 สีเพื่อสร้างภาพจริง ๆ จากพิกเซลนั้น แต่กล้องอาศัยนำข้อมูลจากพิกเซลเม็ดใกล้กันมาเทียบเคียงกัน ดังนั้น Pixel Shift Multi Shooting จะเอาพิกเซลทุกสีเลื่อนไปผ่านจุด ๆ เดียวจนครบทำให้จุดนั้นมีข้อมูลของแสงสีต่าง ๆ อย่างครบถ้วน

ซึ่งเมื่อรวม 4 ภาพ ๆ ละ 42.4 ล้านพิกเซลเราจะมีข้อมูลมากถึง 169.6 ล้านพิกเซลเลยแต่หลังจากเรานำภาพไปรวมจริง ๆ แล้วเราจะได้ภาพออกมา 1 ภาพที่มีความละเอียด 42.4 ล้านพิกเซลเท่าเดิมนะครับ ซึ่งการรวมภาพนี้ไม่สามารถทำได้ในกล้องแต่ต้องผ่านโปรแกรมฟรีของทาง Sony ชื่อ Imaging Edge สามารถไปโหลดกันได้ที่ Sony 

โปรแกรมจะรู้เองว่าภาพไหนถูกถ่ายด้วยโหมด Pixel Shift Multi Shooting บ้างมันจะโชว์ให้เราเห็นเป็นตัวเลขเล็ก ๆ ข้าง ๆ รูป 01/04, 02/04 ไปเรื่อยๆ โดยเมื่อเราสั่งรวมเสร็จแล้วจะสามารถบันทึกออกมาเป็นไฟล์ JPEG, TIFF ได้หรือใครอยากเก็บไฟล์แบบ Original ก็ได้ในรูปแบบ .ARQ ซึ่งจะเป็นไฟล์ Original ที่ผ่านการรวมมาแล้วแต่ขนาดใหญ่มากถึง 300MB+

การบันทึกเป็นไฟล์ TIFF เองก็มีขนาดใหญ่ไม่แพ้กันเท่าไหร่เลย ส่วน ARQ นั้นผมลองใช้ Lightroom แล้วไม่สามารถมองเห็นไฟล์ได้ ณ ตอนนี้คงต้องใช้ Imaging Edge อย่างเดียวถึงจะปรับแต่งไฟล์ ARQ ได้

สำหรับไฟล์ Pixel Shift Multi Shooting นั้นผมได้ลองถ่ายมาเทียบให้ทุกคนดูด้วยครับ จะสังเกตว่าแยกความแตกต่างยากมากคุณจะต้อง Crop 100% แล้วสังเกตบริเวณที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ จึงจะเห็นได้ชัดว่า Pixel Shift. แยกรายละเอียดยิบ ๆ ได้ดีกว่าไฟล์ RAW ปกติ

ภาพด้านบนนี้สังเกตว่าหากเป็นจุดที่ไม่ได้มีรายละเอียดเยอะจะแยกความแตกต่างได้ยาก

ภาพด้านบนนี้ให้สังเกตแนวเส้นของหลังคาสีน้ำเงินจะเห็นว่ามีรายละเอียดชัดเจนกว่า รวมถึงบริเวณช่องของกำแพงสีแดงและบล็อคแก้วของตึกด้านหลังจะเห็นเป็นตารางได้ชัดเจนกว่า แต่อย่างไรก็ยังสังเกตได้ยากอยู่ดี

ภาพด้านบนนี้เป็นสถานการณ์ที่ Pixel Shift. เริ่มแสดงพลังให้เห็นชัดเจน เนื่องจากตึกสีขาวมีเส้นตรงถี่ ๆ เยอะและอยู่ไกลหากเป็นไฟล์ RAW ปกติจะไม่สามารถสังเกตเห็นว่ามีเส้นอยู่ได้เลย แต่พอใช้ Pixel Shift. สามารถเก็บรายละเอียดของเส้นมาได้

ถ้าสังเกตมุมซ้ายล่างจะเห็นว่ามีสะพานอยู่ นี่เป็นจุดอ่อนของโหมดนี้เพราะเราจะต้องถ่ายของที่นิ่งและกล้องก็ต้องนิ่งมาก ๆ เท่านั้น พอมีรถวิ่งผ่านตลอดเวลาจึงเกิดอาการซ้อนภาพเป็นรถผี ๆ แบบนี้

อีกประเด็นที่สำคัญคือ Pixel Shift Multi Shooting ยังทำให้ไฟล์ภาพมี Noise น้อยลงไปมากและรายละเอียดชัดเจนขึ้นอีกด้วย

ภาพนี้ถ่ายด้วย F11 1/10s ISO6400

วิดีโอที่ดีไม่แพ้ภาพนิ่ง

ตัวอย่างวิดีโอ 4K จากกล้อง Sony A7R III 

Sony A7R Mark III มีฟอร์แมตวิดีโอให้เราเลือกในกล้องเป็น XAVC S, XAVC HD, และ AVCHD โดยจะรองรับความละเอียดสูงสุด 4K 30p 100Mbps และที่อัพขึ้นจากรุ่นเดิมคือ Full HD 1080/120p ซึ่งรุ่นที่แล้วต้องลดความละเอียดเหลือแค่ 720p ถึงจะทำได้ และ 1080/120p เป็นวิดีโอที่ยังไม่มีการดึง Slowmotion มาให้สามารถนำไปดึงต่อเองได้ตามใจหรือใครจะให้กล้องทำ Slowmotion ให้เลยก็ได้ผ่านโหมด S&Q บนแป้น Mode Dial

10bit มาหรือยัง?

ขอตอบว่า..ยังนะครับ A7R III ถ่ายวิดีโอเป็น 4:2:0 8bit แต่หากต่อเข้าเครื่องบันทึกภายนอกผ่าน HDMI จะได้ 4:2:2 8bit

Super 35 Full Pixel Readout

Sony A7R III มีโหมดการใช้เซนเซอร์ในวิดีโอได้ 2 แบบคือ Full Frame ซึ่งจะใช้พื้นที่เต็มความกว้างของเซนเซอร์ข้อดีคือเราได้พื้นที่เซนเซอร์ขนาดใหญ่และการไม่ Crop เซนเซอร์ทำให้เราไม่เสียความกว้างของเลนส์ไป ส่วนโหมดที่สองคือ Super 35 หรือ APS-C Crop เซนเซอร์จะถูก Crop เล็กลงทำให้เราเสียความกว้างของเลนส์ไปเนื่องจากต้องคูณระยะแต่จะมีการดึงข้อมูลจากเซนเซอร์แบบ Full Pixel Readout เลยอ่านจริงจากพิกเซลทุกเม็ดไม่มีการทำ Pixel Binning หรือ Skipping ไฟล์วิดีโอที่ได้จะเป็นระดับ 5K และถูกย่อเป็น 4K อีกทีหนึ่งทำให้ไฟล์มีรายละเอียดที่ดี

S-Log3 และ HLG

Sony A7R Mark III มี S-Log3 และ HLG หรือ Hybrid Log Gamma เพื่อรองรับกับ HDR Video

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้อง Sony A7R III

       

  

                                

บทสรุปรีวิว Sony A7R Mark III

บอกตามตรงว่าเป็นหนึ่งในกล้องที่ผมไม่อยากจะส่งคืนเลยครับ Sony ทำ A7R III ออกมาได้ดีมากอะไรที่เป็นจุดอ่อนของรุ่นที่แล้วรุ่นนี้จับแก้ใหม่ปรับให้ดีขึ้นเป็น A7 Series ที่เข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุดที่เคยทำมาเลย ในความเห็นผมนี่คือกล้องที่ดีมากแต่แน่นอนกล้องรุ่นสูงสเปกดีขนาดนี้มันมีราคาที่เราต้องจ่ายสูงไม่แพ้กัน Sony A7R Mark III มีราคาเปิดตัวที่ 114,990 บาทราคาสูงแต่ไม่แพงเลยเพราะมันก็สมแล้วกับสิ่งที่กล้องทำได้

แต่ถ้าใครอยากประหยัดงบแบบคุ้ม ๆ ช่วงนี้เราโชคดีที่มีราชาตกรุ่นอย่าง Sony A7R II เป็นตัวเลือกที่น่าควักกระเป๋ามากเพราะถึงจะเก่าแต่บอกเลยว่าเก๋ามากกก ไฟล์ภาพดีและสเปกก็ยังถือว่าดีอยู่ในราคาปัจจุบันที่ลดเยอะมาก และ มีโปรโมชั่นอยู่เรื่อย ๆ

โปรโมชั่น Sony A7R II, A7S II + เลนส์ G,GM จับคู่ยังไงให้ได้ส่วนลดทั้งกล้องและเลนส์

ข้อดี

  • Grip จับใหม่ลึกดีเอานิ้วเกี่ยวถือมือเดียวสบายขึ้น
  • มี Weather Seal
  • Joystick เลื่อนจุดโฟกัสง่ายและเร็วดีมาก
  • จอ Touchscreen ตั้งค่า Touch Pad ได้หลากหลายดี
  • เลือกเปิด-ปิด Touchscreen ได้ง่าย
  • ช่องมองภาพความละเอียดสูง
  • มีทั้ง microUSB และ USB-C ให้ใช้
  • ชาร์จแบตฯผ่าน Power Bank ได้
  • เซนเซอร์ 42.4 ล้านพิกเซลมีความละเอียดให้ Crop ภาพได้เหลือเฟือ
  • ISO สูงเก็บรายละเอียดได้ดี
  • Dynamic Range กว้างดี
  • ระบบโฟกัสดีมาก เร็ว แม่นโดยเฉพาะ AF-C
  • Eye AF เร็วขึ้น แม่นติดหนึบมากขึ้นแบบรู้สึกได้
  • ถ่ายต่อเนื่อง 10fps AF/AE Tracking เร็วกว่ารุ่นก่อนเท่าตัว
  • บัฟเฟอร์รองรับการถ่ายภาพต่อเนื่องได้ดีขึ้น
  • ระบบกันสั่นดีขึ้น
  • มีโหมด Pixel Shift Multi Shooting
  • มี S-Log 3, HLG
  • วิดีโอ 4K 30p และ 1080/120p
  • มีโหมด S&Q สามารถถ่ายวิดีโอ Slowmotion และ Quickmotion ได้เลยในกล้อง
  • แบตเตอรี่ใหม่อึดขึ้นชัดเจน

ข้อสังเกต

  • ไม่มี PlayMemories App เครื่องหมายตกใจหลาย ๆ อันเลย !!!!!!!!!
  • PDAF ครอบคลุมแค่ 68% ของเฟรมภาพ
  • น้ำหนักกล้องรวมเลนส์ Normal Zoom เกรดสูงซักตัวนี่หนักน้อง ๆ DSLR เลย
  • Pixel Shift. รวมภาพจากในกล้องไม่ได้
  • ไฟล์ภาพหนักมากกกกกก(ราคาก็เช่นกัน)

ลูกค้าที่สนใจสั่งซื้อสินค้า สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ของทางร้านได้ตลอด 24 ชม. หรือ โทรเข้ามาโดยตรงผ่านโทรศัพท์

แอดไลน์ ID:@ZoomCamera หรือ หน้าเว็บไซด์ ZoomCamera
083-067-7677 / 02-098-9555 ต่อ 0 (หยุดวันอาทิตย์)

วิธีการสั่งซื้อ

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save