Sony-A7-IV-ข้อดี-ข้อเสีย

สรุปรีวิว Sony A7 IV ละเอียดยิบ รวม 15 ข้อดี 4 ข้อเสียจาก 3 Youtuber ระดับโลก Leave a comment

ทันทีที่ Sony A7 IV เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทาง ZoomCamera ก็ได้มีการ Live stream เปิดตัวสินค้า พูดคุยกับเหล่า Influencer ในเมืองไทย แต่ในขณะเดียวกัน รีวิวจากช่องต่าง ๆ ในต่างประเทศ ที่เข้าได้สัมผัสลองใช้ Sony A7 IV ก็ท่วมท้น Youtube เหมือนเช่นเคย เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะอยากดูให้ครบแต่ก็เหนื่อยใช่เล่น ไม่ต้องเสียเวลาครับ ZoomCamera ดูมาให้หมดแล้วและจะมาสรุปทั้งข้อดี ข้อเสีย ของ Sony A7M4 ให้อยู่ในบทความนี้บทความเดียวเลย โดยช่องที่เราขอนำมาอ้างอิงในการสรุปรีวิว Sony A7 IV ครั้งนี้ได้แก่

  • Gerald Undone เจ้าพ่อแห่งการรีวิวแบบวิทยาศาสตร์ จริงจัง พิสูจน์ให้เห็นด้วยกราฟ แหล่งอ้างอิงของวงการ
  • Matti Haapoja ตัวเอ้แห่งวงการ รีวิวด้วยสไตล์ vlog พูดคุย แชร์ประสบการความคิดเห็นตรงไปตรงมา
  • Potato Jet สายฮา อารมณ์ขัน ดูเพลิน มีทั้งการทดสอบและนำไปใช้สร้างผลงานให้ดู

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีเวลา ผมอยากให้เพื่อนๆไปติดตามและดูรีวิวทั้ง 3 ช่องด้วยตัวเองนะครับเนื่องจากยังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่ได้ถ่ายทอดลงในบทความนี้

ในบทความนี้ ผมขอสรปรายละเอียดเรื่องสเปกและคุณสมบัติทั่วๆไปของกล้อง Sony A7 IV แบบเร็ว ๆ ง่าย ๆ ตามรายละเอียดด้านล่างนี้ สำหรับใครที่อยากจะอ่านแบบเต็ม ๆ และ สเปกเปรียบเทียบ Sony A7M4 กับกล้อง Sony ฟูลเฟรมในรุ่นอื่น ๆ สามารถกดเบา ๆ ดูได้ที่บทความพรีวิว Sony A7 IV สรุปข้อมูลหลังเปิดตัว พร้อมเปรียบเทียบข้อมูลกับกล้องฟูลเฟรมรุ่นใกล้เคียง

สรุปสเปก Sony A7 IV (Specification)

  • เซนเซอร์ฟูลเฟรมแบบ BSI CMOS ความละเอียด 33 ล้านพิกเซล
  • หน่วยประมวลผลภาพ Bionz XR
  • มีจอฟลิบออกด้านข้างแบบ Fully Touchscreen แต่เมนูได้แล้ว พร้อม Interface เมนูใหม่ดีกว่าเดิม
  • จอ LCD ความละเอียด 1.03 ล้านพิกเซล
  • ถ่ายภาพต่อเนื่อง 10 ภาพต่อวินาที , Buffer 830 ภาพ
  • มีระบบโฟกัส Animal Eye AF และ Bird Eye AF
  • มี Dynamic Range 15+ stops
  • มีฟังก์ชั่น S-Cinetone , S-Log2 , S-Log3 , HLG
  • มีระบบกันสั่นในตัวบอดี้แบบ 5 แกน กันสั่นได้สูงสุด 5.5 สต็อป และ มีระบบกันสั่นแบบ Active ครอปนิดหน่อยด้วย
  • ถ่ายวีดีโอความละเอียดสูงสุด 4K 60fps (Crop 1.5X) , 4K 30fps (Oversampled จาก 7K)
  • ถ่ายวีดีโอแบบ 10bit 4:2:2 ด้วยบิตเรทสูงสุด 500 Mbps
  • ถ่ายวีดีโอแบบ ALL-I , XAVC S-I , XAVC-S ได้
  • มีฟังก์ชั่น Soft Skin Mode
  • มีฟังก์ชั่น USB Streaming ไลฟ์ออกได้ทั้งภาพนิ่งและเสียงผ่านสาย USB-Type C ความละเอียดสูงสุด 4K 15fps
  • มีฟังก์ชั่น S-Cinetone , S-Log2 , S-Log3 , HLG
  • มีระบบ Heatsink ระบายความร้อน
  • มีระบบ Weather Seal กันละอองน้ำ ละอองฝุ่น
  • รอบรับ Wifi แบบ 5GHz
  • มีพอร์ต HDMI แบบ Full Size HDMI
  • มีช่องเสียบหูฟัง และ ช่องเสียบไมโครโฟน รองรับ Mic Digital
  • มีพอร์ต USB-Type C 3.2 Gen 2 Multi port รองรับความเร็วสูงสุด 10Gbps
  • มีช่องใส่เมมโมรี่การ์ดแบบ SD Card UHS-II จำนวน 1 ช่อง และ CFexpress Type A จำนวน 1 ช่อง
  • น้ำหนักบอดี้โดยรวม 658 กรัม

รายละเอียดเพิ่มเติมสเปกสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ Sony

สรุป 15 ข้อดี ของ Sony A7 IV

จากข้อมูลเปิดตัวและรีวิวต่าง ๆ เพื่อน ๆ คงพอจะรู้จุดเด่นของเจ้า A7 IV กันมาพอสมควรแล้ว แต่มียังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจและอาจยังไม่รู้ ซึ่งเราได้รวบรวมจากความคิดเห็น และ การทดสอบของเหล่า Youtuber ทั้ง 3 ท่านที่กล่าวไปข้างต้น มาสรุปให้เพื่อน ๆ ทราบกัน มีดังนี้

1. A7 IV ให้จอพับแบบ Vari-angle พร้อม touch menu แบบใหม่

ในที่สุดก็ได้มาเสียที นี่เป็นกล้องตัวที่ 3 ที่ทาง Sony ใช้เป็นจอ Vari-angle ก่อนหน้านี้ก็จะมี Sony A7s III และ Sony A7C ที่ใช้จอแบบนี้ สะดวกในการใช้งานเพื่อถ่ายวีดีโอแบบสุด ๆ เอาไปใช้ ถ่าย Vlog ทำ Live streaming ก็เป็นประโยชน์มาก ๆ เพราะ จอฟลิปด้านข้างช่วยให้เราจัดองค์ประกอบภาพ และ เห็นหน้าตนเองก่อนถ่ายจริงได้ด้วย นอกจากนี้ Interface ในหน้าเมนูมีการเปลี่ยนใหม่ดูเป็นมิตรมากขึ้น และ เราสามารถทัชสกรีนในเมนูได้แล้ว พูดได้เต็มปากว่า Sony มีหน้าจอแบบ Full Touch screen ได้แล้วเสียที

Sony-A7-IV-new-interface-menu

2. เซนเซอร์ความละเอียด 33 ล้านพิกเซล พร้อม Buffer มากถึง 830 ภาพ ตอบโจทย์งานภาพนิ่ง

Sony A7 IV ตอบโจทย์การถ่ายภาพนิ่งระดับมืออาชีพมาก ๆ เพราะใช้เซนเซอร์ BSI CMOS ความละเอียดสูงถึง 33 ล้านพิกเซล ความละเอียดเยอะขนาดนี้ ได้ไฟล์ภาพที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานแน่นอน ถ่ายเผื่อเอาไปครอปได้สบาย แถมยังให้ Buffer มาใหญมากถึง 830 ภาพ ถ่ายรัว ๆ ไปเลย ไม่ต้องกลัว Buffer เต็ม แต่ก็แอบเสียดายที่ Buffer ใหญ่ขนาดนี้ แต่ให้สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้แค่ 10 ภาพต่อวินาที ก็แอบน้อยไปนิด แต่ให้มาเหลือดีกว่าขาดอะนะ

Sony-A7-IV-huge-buffer

3. ม่านชัตเตอร์ปิดเมื่อถอดเลนส์

เป็นฟังก์ชั่นที่กล้องรุ่นใหม่ๆทยอยเพิ่มเติมกันมา ทั้ง Sony และ Canon โดยปกติแล้วกล้องมิเรอร์เลสโดยทั่วไปตัวเซนเซอร์รับภาพจะเปิดรับแสงตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะนิ้วมือจะพลาดไปโดนตอนที่เราถอดเปลี่ยนเลนส์ หรือกระทั่งมีฝุ่นลงไปติดบนเซนเซอร์ Sony A7 IV มีระบบป้องกันเซนเซอร์โดยการปิดม่านชัตเตอร์ลงมาทันทีที่เลนส์ถูกถอดออก

Sony-A7-IV-protect sensors-new

4. USB Type-C สายเส้นเดียวทำได้หลายอย่าง สะดวกในการใช้งานแบบสุด ๆ

พอร์ต USB ของ Sony A7 IV เป็นแบบ USB Type-C ที่เป็น Multi port ช่องเดียวทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ ถ่ายโอนข้อมูล และ ส่งข้อมูลสัญญาณทั้งภาพและเสียงเพื่อทำ Live stream ก็สามารถทำได้ ผ่านสายเส้นเดียว

5. ลดปัญหา Overheat

ผู้ที่ใช้งานกล้อง Sony ใน generation ก่อนๆจะรู้ดีกว่ากล้องของ Sony มีปัญหา overheat ค่อนข้างง่าย แต่ก็ได้รับการปรับปรุงมาดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึง A7 IV ถือว่าทำได้ดีจนไม่มีปัญหาในการใช้งาน การทดสอบจากทั้ง Gerald Undone และ Potato Jet ทำให้เห็นว่า A7 IV สามารถบันทึกต่อเนื่องที่ความละเอียด 4k60p ได้เกิน 3 ชั่วโมงในอุณหภูมิการใช้งานปกติ โดยที่ไม่เจอปัญหาความร้อน แต่ตัวกล้องก็จะค่อนข้างร้อน แนะนำว่าควรตั้ง overheat temperature ให้เป็น High เพื่อปล่อยให้กล้องทำงานโดยไม่ตัด และการเปิดจอออกจะช่วยลดความร้อนสะสมได้ด้วย

6. A7 IV สามารถใช้แป้นชดเชยแสงเป็นฟังก์ชั่นอื่นได้

Control Dial ตัวนึงที่มีติดมากับกล้อง Sony ยาวนานก็คือ dial สำหรับชดเชยแสง หรือ Exposure Compensation ซึ่งมีประโยชน์ในการปรับ +/- แสงกรณีที่เราใช้โหมดการถ่ายภาพแบบกึ่งออโต้ เช่น P, A, S แต่สำหรับในโหมด M หรือแมนนวลโหมด ปุ่มนี้ก็จะไร้ประโยชน์ในทันที Sony A7 IV เปลี่ยน dial นี้ให้ทำงานแบบอเนกประสงค์ สามารถปรับตั้งเองได้ ว่าจะให้ใช้ในการตั้งค่าอะไร เช่น เราอาจใช้เป็นปุ่มปรับค่า ISO หรืออื่นๆแทนได้ ช่วยให้การใช้งานยืดหยุ่นมากขึ้น เหมาะกับงานถ่ายภาพนิ่ง ที่การมีปุ่มหรือคอนโทรลที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวขึ้น ไม่ต้องไปปรับค่าในเมนู

7. Variable Shutter Speed ของใหม่ใน A7 IV

ฟักง์ชั่นนี้มีอยู่แล้วในกล้องระดับ Cinema อย่าง Sony FX3 และในกล้องบางรุ่นของ Panasonic ที่เรียกว่า Synchro Scan โดยตัวกล้องจะอนุญาตให้เราปรับค่า shutter speed แบบละเอียดได้มากถึงจุดทศนิยม โดยปกติแล้วกล้องทั่วไปจะตั้งค่า shutter speed เป็น 1/100, 1/50, 1/10 แต่หากเราเปิดฟังก์ชั่นนี้ กล้องจะสามารถตั้งความไวชัตเตอร์เป็น 1/24.2, 1/48.5 ได้ สำหรับการใช้งานทั่วไปอาจไม่มีประโยชน์โดยตรงเท่าไหร่ แต่บางสถานการณ์ เราสามารถแก้ไขปัญหา flicker หรือภาพกระพริบซึ่งเกิดจากแหล่งกำเนิดแสงหรือหลอดไฟที่มีการกระพริบด้วยความถี่แปลกๆได้ โดยการปรับค่าชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับการกระพริบของหลอดไปนั้นๆ ทั้งนี้เราสามารถทดลองปรับทีละนิดและสังเกตุผลที่หลังกล้องได้เลย

8. Animal Eye AF แบบ Realtime

ระบบโฟกัสใหม่ๆเป็นจุดขายของกล้อง Sony ที่ทำได้ดีนำหน้าคู่แข่งเสมอมา ใน A7 IV ก็มีการเพิ่มฟังก์ชั่นการจับโฟกัสตาของสัตว์แบบอัตโนมัติ ได้ทั้งน้องหมา แมว นก ปลา และอีกสารพัด จากผลทดสอบที่มีมาในกล้องรุ่นใหญ่ๆอย่าง Sony A1 แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถจับได้แทบทุกชนิด และยังทำงานแบบ realtime ในขณะบันทึกวีดีโอได้ตลอดเวลา

9. แก้ไขจุดอ่อน Lens Breathing Correction ด้วยวิธีที่โคตรฉลาด

สำหรับงานภาพนิ่ง ปัญหา Lens Breathing อาจไม่มีผลอะไรเลย แต่สำหรับงานวีดีโอปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่มาก อธิบายคร่าวๆคือโดยปกติแล้วหากเราใช้เลนส์ฟิกซ์ หรือไม่ปรับซูมเลย ไม่ว่าเราจะปรับโฟกัสไปที่ไหนเข้าใกล้หรือไกลออก ขนาดของภาพก็ไม่ควรเปลี่ยนแปลงเลย แต่หากมีปัญหานี้ เมื่อเปลี่ยนระยะโฟกัสเราจะเห็นขนาดของภาพกว้างขึ้นหรือแคบลงคล้ายกับเลนส์กำลังซูมเข้าออก หากใครยังไม่เข้าใจ เรามีคลิปอธิบายปัญหา Lens Breathing ไว้แล้วครับ จริงๆแล้วปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับกล้องเลยแต่เป็นปัญหาตั้งแต่การออกแบบชิ้นเลนส์ ในเลนส์ Cinema หรือเลนส์ที่เน้นงานวีดีโอ จะมีการออกแบบเพื่อแก้ไขไว้แล้ว แต่ในเลนส์หลายๆตัวโดยเฉพาะของ Sony เอง ยังพบปัญหานี้อยู่ค่อนข้างเยอะ

การแก้ไขปัญหานี้ที่ต้นเหตุจึงต้องอาศัยการเปลี่ยนไปใช้เลนส์ตัวอื่นเลย แต่สำหรับ A7 IV แล้ว กล้องมันสามารถแก้ให้ได้!! เมื่อเราเปิดฟังก์ชั่นนี้ หากระยะโฟกัสตอนนั้นทำให้ภาพกว้างขึ้นกล้องจะทำการ crop บริเวณขอบภาพออกไปทำให้ภาพมีลักษณะแคบลงมาเหมือนมีการซูมนิดหน่อย และหากเราปรับระยะโฟกัสไปที่อื่นแล้วภาพมันแคบลงจากปัญหา breathing กล้องจะลดการ crop ลงเพื่อให้เฟรมภาพยังคงเดิม โดยไม่ว่าเราจะปรับโฟกัสเข้าออกยังไงกล้องจะทำการชดเชยด้วยการ crop ที่พอดีตลอดเวลา ทำให้เราเห็นว่าภาพที่บันทึกนั้นยังคงเฟรมภาพขนาดเดิมเสมอ เหมือนไม่มีปัญหาเลย

A7 IV นับเป็นกล้องรุ่นแรกที่มีระบบแก้ไข Lens Breathing เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของกล้องเลนส์ จึงสามารถใช้งานได้กับเลนส์ที่รองรับเท่านั้น แต่เลนส์รุ่นใหม่ๆของ Sony ส่วนมากน่าจะสามารถใช้ระบบนี้ได้อยู่แล้วครับ

10. Focus Mapping ระบบช่วยเช็คโฟกัสแบบใหม่

หากใครใช้งานแมนนวลโฟกัส คงจะคุ้นเคยกับการใช้ Focus Assist หรือระบบช่วยเช็คโฟกัสแบบต่างๆ เช่น Peaking และ Magnify ใน A7 IV Sony ได้เพิ่มระบบ Focus Assist ตัวใหม่ที่ชื่อว่า Focus Mapping เข้ามาเป็นครั้งแรก โดยภาพหลังจอจะแสดงสีให้รู้ว่าพื้นที่ไหนที่อยู่นอกโฟกัส (out focus) หรือเบลอนั่นเอง และส่วนไหนที่โฟกัสเข้า (in focus) ส่วนที่โฟกัสเข้าอยู่จะไม่มีสีใดๆมาบัง แต่ส่วนที่ out focus หรือเบลอจะมีสีไฮไลท์ให้เห็นชัดเจน แถมยังแบ่งแยกสีในพิ้นที่ near focus และ far focus ให้ต่างกันด้วย เช่นสีนำเงินคือส่วนที่ไกลกว่าระนาบโฟกัส สีส้มเป็นส่วนที่ใกล้กว่าระนาบโฟกัส การแสดงผลแบบนี้ช่วยให้การปรับโฟกัสแบบแมนนวลทำได้รวดเร็วขึ้นเพราะมองเห็นได้ชัดเจนกว่าระบบ focus peaking และยังรู้ทิศทางการปรับเข้า-ออกอีกด้วย

11. Color Science ระดับกล้องมืออาชีพ

สำหรับคนที่ทำงานด้านวีดีโอ นอกจากคุณภาพของเนื้อไฟล์แล้ว สิ่งสำคัญอย่างมากคือความเข้ากันได้ของไฟล์วีดีโอจากล้องแต่ละรุ่น เพราะในการทำงานจริงเราอาจไม่ได้ใช้ไฟล์จากกล้องเพียงรุ่นเดียว หากไฟล์ของกล้องแต่ละตัวไม่มีความเข้ากันได้ของสีสันและคุณภาพ จะพบปัญหาในการเกรดสีร่วมกันและทำให้ผลงานออกมาไม่มีความต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน จากการทดสอบ เมื่อใช้ร่วมกับไฟล์ของกล้อง A7S III และ A1 คุณ Gerald Undone ยืนยันว่าเนื้อไฟล์และสีสันสามารถใช้งานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

12. Dynamic Range และ Noise Performance ที่เหนือกว่า A7S III

การทดสอบ ISO ของทั้ง Gerald Undone และ Potato Jet ยืนยันเรื่องนี้ได้ชัดเจนถึงแม้จะเหนือกว่าเพียงประมาณ 1/3 stop

ทั้ง A7 IV และ A7S III ทำ High ISO noise ได้ดีมากทั้งคู่ หากดูผลการเปรียบเทียบ Video ISO ของ Matti ที่ ISO 102400 ในแบบ FullHD บน Youtube เรียกได้ว่ายังใช้งานทั้งคู่และแยกความแตกต่างไม่ออกเลยทีเดียว แต่หากเจาะดูแบบขยายหรือใช้เทคนิคเพิ่ม exposure ใน post เพื่อเปรียบเทียบจะเห็นได้ชัดว่า A7 IV มี noise ที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะที่ ISO กลางๆตั้งแต่ 3200 ขึ้นไป เพราะเป็น 2nd base ISO ของ A7 IV

ประเด็นนี้ทำเอา surprise ใครหลายคนและทำลายความเชื่อเดิมๆว่า A7 SIII เป็น King of Low Light ทั้งนี้โดยพื้นฐานแล้ว A7S III ถูกออกแบบมาให้ใช้งานวีดีโอเป็นหลักและมีเซนเซอร์รับภาพความละเอียดเพียง 12mp ทำให้พื้นที่รับแสงบนเซนเซอร์ของแต่ละ pixel มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับกล้องรุ่นที่ความละเอียดสูงกว่า จึงทำให้ได้แชมป์ Low Light ไปอย่างไม่ยากเย็น แล้วทำไมกล้อง Hybrid อย่าง A7 IV ที่มีความละเอียดสูงถึง 33mp ถึงได้ทำได้ดีกว่า ? คำตอบคือการ down sampling แบบ full sensor readout

เซนเซอร์ของ A7 IV มีจำนวน pixel 33 ล้าน เป็นแนวนอน x แนวตั้งเท่ากับ 7008 x 4672 px ซึ่งหากเป็นวีดีโอก็พอจะเรียกได้ว่าความละเอียดระดับ 7K ในการบันทึกวีดีโอ กล้องสามารถบันทึกได้สูงสุดที่ 4K หรือ 3840 x 2160 px ดังนั้นระบบประมวณผลในกล้องจะต้องทำการย่อขนาดภาพลงมา (down-sampling) ให้เหลือ 4K โดยกล้องแต่ละรุ่นก็จะมีอัลกอริธึมและวิธีในการย่อลงมาแตกต่างกัน บ้างก็ใช้วิธีตัด pixel ระหว่างแถวออกไปบ้าง (pixel binning) หรืออาจใช้วิธีครอปภาพบนเซนเซอร์เอาเฉพาะพิ้นที่ตรงกลาง 3840 x 2160 px ซึ่งจะทำให้เฟรมภาพถูกตีแคบคงไป แต่ใน A7 IV ใช้การอ่านข้อมูลทุกพิกเซลทั้งเซนเซอร์ (full sensor readout) มาและทำการย่อลงมา (down sampling) ให้เหลือขนาด 4K ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ภาพมีรายละเอียดสูง แถมยังช่วยลด noise ลงได้เนื่องจากสัญญาณจากหลายๆพิกเซลจะถูกรวมให้เหลือ 1 พิกเซล ดังนั้น noise ส่วนหนึ่งจะถูกกลบ (suppressed) ด้วยสัญญาณจาก pixel ข้างเคียงไปด้วย ทำให้สามารถชดเชยข้อเสียของขนาดพิกเซลไปได้ เทคนิคนี้ไม่ใช่เทคนิคใหม่ แต่มีใช้มาก่อนในกล้องระดับโปรอยู่แล้ว และผลการทดสอบ Sony A1 ของ Gerald Undone ก่อนหน้านี้ก็ออกมาในรูปแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ดีเนื่องจากระบบ dual-base ISO ของ A7 IV และ A7s III ถูกออกแบบมาให้ทำงานที่ ISO ต่างกัน ที่ ISO บางช่วงโดยเฉพาะที่สูงมากๆ A7S III ก็ยังทำงานได้ดีกว่าอยู่แต่ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก

13. Video Bit Rate ปรับตาม Frame rate ที่ตั้ง

โดยปกติแล้วกล้องหลายๆรุ่นหากเราตั้งค่า Bit rate ไว้เท่าไหร่ กล้องจะบันทึกวีดีโอด้วยคุณภาพระดับนั้น ซึ่งหากเราปรับเพิ่มเฟรมเรท สูงขึ้น นั่นหมายถึงจำนวนภาพใน 1 วินาทีจะมีมากขึ้น หากกล้องยังคงค่า Bit rate ตามที่ตั้งไว้จะทำให้คุณภาพของแต่ละเฟรมลดลง เพราะกล้องยังคงต้องบันทึกไฟล์ด้วยปริมาณข้อมูลเท่าเดิมทั้งที่มีจำนวนภาพมากขึ้น ในกล้อง A7 IV หากเราตั้งค่า Bit rate ไว้แล้วทำการเปลี่ยน Frame rate ให้สูงขึ้น เช่น จาก 24p เป็น 60p ตัวกล้องจะทำการเพิ่ม Bit rate ขึ้นมาให้ด้วยเช่นจาก 100Mb/s เป็น 200Mb/s ทำให้มั่นใจได้ว่าไฟล์วีดีโอจะยังคงคุณภาพระดับเดียวกัน

14. A7 IV ทำ Live Streaming ได้ไม่ต้องใช้ Capture Card

เช่นเดียวกับกล้องรุ่นใหม่ๆในปี 2021 A7 IV สามารถเชื่อมต่อกับ computer ผ่านทาง port USB และส่งภาพและเสียงเพื่อทำการไลฟ์ได้โดยตรง ไม่ต้องใช้กล่องไลฟ์ หรือ capture card โดยเมื่อเชื่อมต่อ USB ตัวกล้องจะขึ้นเมนูเพื่อเปลี่ยน connection mode ให้เราเอง สามารถใช้งานได้เหมือนเป็น USB Webcam ได้ทันที

15. A7 IV มาพร้อมระบบกันสั่น Active Stabilization

ตัวกล้องของ A7 IV เองมีระบบกันสั่นแบบ Mechanic มาด้วยโดยสามารถลดความสั่นไหวได้ 5.5 stop ซึ่งดีขึ้นจากกล้อง A7 III มานิดหน่อย แต่ถ้าจะว่ากันตามตรงแล้วยังก็มีประสิทธิภาพด้อยกว่ากล้องระบบ Full frame ของคู่แข่งอย่าง Panasonic หรือ Canon อยู่ แต่สิ่งที่กู้หน้าให้กับ A7 IV คือการใช้ระบบกันสั่น Active Stabilization ที่มีครั้งแรกในกล้อง Vlog ยอดฮิตอย่าง Sony ZV-1 โดยในระบบนี้ ตัวกล้องจะทำการ crop บริเวณขอบภาพลงนิดหน่อยและขยับภาพทีละเฟรมเพื่อชดเชยการสั่นไหวของภาพ โดยทั้งหมดนี้สามารถทำงานในตัวกล้องแบบ realtime ขณะที่บันทึกได้เลย เมื่อทำงานร่วมกัน และสำหรับงานที่จริงจังกว่านั้น ยังสามารถนำข้อมูล Gyro sensor จากตัวกล้องมาเพื่อปรับแก้กันสั่นใน software เองได้อีกด้วย

4 ข้อด้อยของ Sony A7 IV

ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่การรีวิวที่ตรงไปตรงมาก็ย่อยต้องบอกข้อสังเกตให้เราได้รู้สำหรับการตัดสินใจเช่นกัน

1. การครอปภาพที่ 4k60p

ที่การบันทึกวีดีโอระดับสูงสุดของกล้องคือ 4K 60fps นั้น กล้อง Sony A7 IV จะทำการครอปภาพลงมาประมาณ 1.5 เท่า ทำให้ภาพแคบลง ซึ่งหากเทียบกับกล้องระดับเดียวกันอย่าง Canon EOS R6 ตัวกล้องสามารถบันทึก 4K60p ได้แบบเต็มเฟรมไม่มีการ crop แต่อย่างใด

2. Rolling Shutter ค่อนข้างสูงในการบันทึกแบบ Full Frame

การล้มหรือโย้ของภาพขณะทำการส่ายกล้องไปมาอาจเป็นเรื่องไม่สำคัญสำหรับบางลักษณะงาน เช่นงานที่เคลื่อนกล้องช้า หรือตั้งกล้องนิ่งๆ แต่ในงานที่ค่อนข้างมี action สูง หากกล้องมี Rolling Shutter สูง ภาพที่ได้จะดูขัดตา ไม่เป็นธรรมชาติ สำหรับ Sony A7M4 เนื่องจากเซนเซอร์มีความละเอียดสูงมากถึง 33mp ทำให้มีข้อมูลจำนวนมาก การอ่านข้อมูลแบบเต็มเฟรมนาทีละ 30 ภาพต้องใช้พลังความเร็วของการ readout สูงมาก จากการทดสอบพบว่าอาการภาพล้มเอียงเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน หากเทียบกับกล้องระดับบนอย่าง Sony A1 จะเห็นความแตกต่างที่ดีขึ้นได้ชัดเจนทั้งที่ A1 มีความละเอียดสูงกว่า ทั้งนี้เพราะ A1 ใช้ Image Sensor แบบ Stacked CMOS ที่มีความเร็ว readout สูงมาก แต่หากบันทึกในโหมด super-35 หรือโหมดที่มีการ crop ภาพ จะพบว่าอาการ Rolling Shutter Effect ลดลงค่อนข้างมาก อยู่ในระดับใช้งานได้สบาย อย่างไรก็ตามท่านที่ใช้ A7 III มาก่อนและไม่มีประเด็นใดๆกับปัญหานี้ก็สบายใจได้ เพราะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ A7 III ไม่ได้แย่ลงแต่อย่างใด ดังนั้นหากใครต้องการใช้งานในลักษณะนี้ควรต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วย

3. A7 IV ยังคงไม่มี Shutter Degree Mode

การปรับตั้ง Shutter Speed ในโหมด Shutter Angle หรือ Shutter Degree เป็นฟีเจอร์ที่สำคัญสำหรับกล้องที่เน้นงานวีดีโอ ซึ่งจะช่วยให้เราตั้งค่า speed ที่เหมาะสมกับ motion blur ที่ต้องการได้อย่างสะดวก ปกติแล้วจะพบเจอฟังก์ชั่นนี้ในกล้อง Cinema หรือกล้อง mirrorless ระดับบน ซึ่งก็ไม่แปลกนักที่ A7 IV จะไม่ได้ให้มาด้วย เพราะยังคงเน้นการใช้งานแบบ Hybrid ทั้งภาพนิ่งและวีดีโอร่วมกัน ใครที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบนี้ก็ข้ามข้อนี้ไปได้เลยครับ

4. จอภาพดับขณะต่อ External HDMI

A7 IV และกล้อง Sony เกือบทุกรุ่นจะตัดการแสดงผลที่หน้าจอของกล้องทันทีที่เราต่อ HDMI Out และกำหนดให้ display information ไปแสดงผลบน external monitor ทำให้เราไม่สามารถดูภาพจากหน้าจอกล้องได้เลย ต้องไปดูที่ external monitor หรือ recorder เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้อาจค่อนข้างเฉพาะเจาะลงสำหรับการใช้งานบางประเภท แต่อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับหลายๆคน

คลิปวีดีโอรีวิว Sony A7 IV แบบเต็ม ๆ ของทั้ง 3 ท่าน สามารถเข้าไปกดติดตามกันได้ครับ

ขอบคุณคลิปวีดีโอรีวิวจากช่อง Gerald Undone

ขอบคุณคลิปวีดีโอรีวิวจากช่อง Matti Haapoja

ขอบคุณคลิปวีดีโอรีวิวจากช่อง Potato Jet

วีดีโอย้อนหลัง ไลฟ์สดแชร์มุมมอง Sony A7 IV ของเหล่า Video Content Creator เมืองไทย

Sony A7 IV ราคาจำหน่าย ณ วัน เปิดตัว

  • Sony A7 IV body ราคา 82,990 บาท (สินค้าประกันศูนย์ไทย)
  • Sony A7 IV kit 28-70mm ราคา 89,990 บาท (สินค้าประกันศูนย์ไทย)

ลูกค้าที่สนใจสั่งซื้อสินค้า สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ของทางร้านได้ตลอด 24 ชม. หรือ โทรเข้ามาโดยตรงผ่านโทรศัพท์

แอดไลน์ ID:@ZoomCamera หรือ หน้าเว็บไซด์ ZoomCamera
083-067-7677 / 02-098-9555 ต่อ 0 (หยุดวันอาทิตย์)

วิธีการสั่งซื้อ

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save