คู่มือการเลือกซื้อตู้กันชื้น

Tips : คู่มือการเลือกซื้อตู้กันชื้น จะซื้อตู้กันชื้นต้องรู้อะไรบ้าง? Leave a comment

สวัสดีครับ ทักทายกันเช่นเคยวันนี้ผมจะมาเขียนบทความเกี่ยวกับการดูแลรักษากล้องบ้างครับ และหนึ่งในอุปกรณ์ในการเก็บดูแลรักษากล้องและเลนส์ก็คือ “ตู้กันชื้น” นั่นเอง ดังนั้นบทความนี้เราจะมาพูดคุยกันเรื่องตู้กันชื้นกันครับว่าทำไมต้องใช้ตู้กันชื้น? ตู้กันชื้นมีแบบไหนบ้าง? และข้อควรรู้ก่อนการเลือกซื้อตู้กันชื้นครับ

https://www.youtube.com/watch?v=xeFAjQ_Bpu8

เก็บกล้องทำไมต้องใช้ตู้กันชื้น?

การเลือกซื้อตู้กันชื้น
การเลือกซื้อตู้กันชื้น

“ถ้าโลกนี้ไม่มีความชื้น เราคงไม่ต้องใช้ตู้กันความชื้น” หลายคนอาจจะคิดว่าผมกวน ซึ่งก็จริง แฮร่!! แน่นอนเป็นไปไม่ได้ที่โลกนี้จะไม่มีความชื้นเพราะความชื้นก็มีประโยชน์หลายอย่าง เพียงแต่ความชื้นที่มากไปนี่แหละที่ส่งผลกับอุปกรณ์ในการถ่ายภาพของเรา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องใช้ตู้กันชื้น หรือทำไมเราถึงจำเป็นที่ต้องควบคุมความชื้นครับ หลัก ๆ มีด้วยกันอยู่ 2 ข้อ

1.ชื้นมากไปเกิดรา

เหตุผลหลักเลยที่เราจำเป็นจะต้องใช้ก็มีสาเหตุมาจากเรื่อง “รา” ครับ ซึ่งหลาย ๆ คนก็น่าจะพอรู้อยู่แล้ว แล้วความชื้นทำให้เกิดราได้ยังไงกันล่ะ? ลองนึกภาพถั่วเขียวดูครับ ถ้าเราวางถั่วเขียวอยู่บนโต๊ะ หรือแม้แต่เก็บไว้ในถุงพลาสติก ถั่วเขียวไม่มีทางที่จะโตเจริญงอกงามมาเป็นถั่วงอกได้เลย แต่ถ้าเราเอาถั่วเขียวไปวางบนทิชชู่แล้วเอาน้ำรดเช้ารดเย็นเหมือนตอนที่คุณครูให้เราทำตอนเด็ก ๆ ในเวลาไม่นานถั่วเขียวก็เจริญงอกงามเพราะมีความชื้นที่เหมาะสมในการเติบโตของเค้า ก็เหมือนกันกับรานั่นแหละ ถ้าเจอความชื้นที่เหมาะสมก็สามารถเจริญเติบโตได้เช่นกัน ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่าแล้วราเกิดขึ้นได้ไง? ในเมื่อถั่วเขียวก็ยังต้องมีเมล็ด?ก็ต้องบอกอย่างนี้ครับว่ารามีอยู่ทั่วไป มีอยู่ทุกที่ บนดิน บนอากาศ เพียงแต่ว่าเค้าจะเจอความชื้นที่เหมาะสมในการเติบโตหรือไม่ ถ้ามีออกซิเจนและความชื้นที่เหมาะสม แน่นอนว่าราก็สามารถเจริญเติบโตได้เช่นกัน ส่วนใหญ่อุปกรณ์กล้องเรามักจะเจอราได้หลายส่วน เช่นตามกริปมือจับ หรือยางภายนอก เพียงแต่ไม่เป็นอะไรมาก สามารถทำความสะอาดได้ แต่ที่จะเป็นปัญหาก็คือราที่ไปกินพวกสารเคลือบผิวเลนส์หรือมัลติโค้ตในเลนส์นั่นเอง กินน้อย ๆ ก็พอส่งศูนย์ทำความสะอาดได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายตามแต่เกรดของเลนส์ ยิ่งเลนส์แพงหรือการประกอบซับซ้อนก็ยิ่งแพงกว่าเลนส์ทั่ว ๆ ไป แต่ถ้ารากินเป็นเวลานานอาจจะส่งผลไปจนถึงเนื้อเลนส์ต่อให้ล้างออกแล้วก็ยังมีร่องรอยทิ้งไว้และจะเห็นในภาพ ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนชิ้นเลนส์ แน่นอนว่าราคาก็ไม่ใช้ถูก ๆ ครับ


2.ชื้นน้อยไป ยางเสื่อม

หรือเรียกง่ายๆ ว่าแห้งไปนั่นเอง ที่ตัวกล้องหรือเลนส์เองก็จะมีชิ้นส่วนหลายส่วนที่เป็นยาง ไม่ว่าจะเป็นยางตรงกริ๊ปมือจับของกล้อง ตรงวงแหวนหมุนซูม วงแหวนหมุนโฟกัส และตามซีลยางป้องกันน้ำกันฝุ่น ซึ่งบางจุดก็อาจจะมีพวกสารหล่อลื่นบางอย่างอยู่ด้วย ถ้าความชื้นที่น้อยไป หรือว่าแห้งจนเกินไปก็จะทำให้ยาง ต่าง ๆ เหล่านี้แห้งและเสื่อมเร็วขึ้นกว่าปกติครับ

ตู้กันชื้นต่างกันยังไง? ตู้กันชื้นมีแบบไหนบ้าง?

ตู้กันชื้นต่างกันยังไง? ตู้กันชื้น Manual และ Auto
ตู้กันชื้นแบบ Manual และ Auto

หลัก ๆ ตู้กันชื้นที่มีขายตามท้องตลาดตอนนี้ มีอยู่ด้วยกันสองแบบ นั้นก็คือ แบบ Auto และ Manual ครับ เพียงแต่ก็จะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยอย่างอื่นเพิ่มเข้ามาเช่นเรื่องไฟกระแสตรงไฟไม่ดูด ระบบในการกำจัดความชื้น แล้วก็เรื่องความเงียบ ซึ่งในยุคนี้ไม่ต่างกันเท่าไหร่ครับ และไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไรเท่าไหร่เพราะมีเหมือน ๆ กันอยู่แล้ว

1.แบบ Manual

คือตู้กันชื้นแบบที่เราต้องหมุนปรับความชื้นเองว่าตอนนี้จะเอามากจะเอาน้อยแบบภาพบนซ้าย โดยในตู้จะมีตัววัดความชื้นให้เรา เราก็ดูว่าระดับความชื้นพอดีแล้วหรือยัง ซึ่งต้องคอยปรับให้เหมาะสมอยู่ตลอด ถ้าช่วงนี้ฝนตกบ่อยความชื้นเยอะ อาจจะต้องปรับ High ถ้าความชื้นไม่เยอะมากก็ต้องปรับกลับมาเป็น medium หรือ Low ก็ว่ากันไป ตู้แบบ Manual ข้อดีคือจะราคาถูกกว่า ตู้แบบ Auto ครับ

2.แบบ Auto

คือตู้กันชื้นแบบที่มีตัวปรับเป็นแผงควบคุมชัดเจนส่วนใหญ่เป็นดิจิตัลเลยแบบภาพบนขวา จะปรับได้ละเอียดกว่า มีตัวเลขชัดเจน สำหรับตู้กันชื้นแบบ Auto นั้นจะสะดวกมาก ๆ เพราะปรับที่แผงควบคุมทีเดียวว่าอยากได้ค่าความชื้นเท่าไหร่ที่เหลือตู้ก็จะทำงานเองอัติโนมัติ เมื่อค่าความชื้นคงที่แล้วก็จะตัดการทำงานโดยอัติโนมัติเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องคอยมาดูว่าความชื้นเป็นเท่าไหร่ และไม่ต้องมาคอยปรับบ่อย ๆ ให้วุ่นวายครับ

***ข้อควรระวัง ตู้กันชื้นบางตัวที่เป็น Manual ก็อาจจะใช้แผงแสดงข้อมูลความชื้นเป็นตัวเลขแบบดิจิตัล แต่การปรับก็ต้องปรับเองแบบ Manual นะครับ ต้องดูดี ๆ หรือถามคนขายก่อนว่าตู้เป็นแบบดิจิตัลหรือเปล่า

ตู้กันชื้นใช้ยังไง?

ตู้กันชื้นใช้ยังไง
ตู้กันชื้นใช้ยังไง

หลักการใช้ตู้กันชื้นไม่มีอะไรมาก และการใช้ตู้กันชื้นก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเช่นเดียวกัน มีค่า ๆ เดียวที่เราต้องคำนึงและปรับนั่นก็คือค่าความชื้นนั่นเองครับ อย่างที่พูดไปในหัวข้อก่อนหน้าว่าถ้าความชื้นมากไปก็จะทำให้เกิดราได้ และความชื้นที่น้อยเกินไปก็ทำให้ยางต่าง ๆ เสื่อมเร็วด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงมีค่าความชื้นที่เหมาะสมสำหรับเก็บอุปกรณ์ถ่ายภาพอยู่ ซึ่งก็มีอยู่หลายตำราซะเหลือเกิน ซึ่งก็จะอยู่ราว ๆ ต่ำสุด 40 สูงสุด 60 ประมาณนี้ แต่จริง ๆ แล้วผู้ผลิตตู้กันชื้นแต่ละค่ายก็จะมีข้อมูลความชื้นที่เหมาะสมสำหรับเก็บอุปกรณ์หลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่แค่กล้องหรือเลนส์ ซึ่งก็เป็นค่าที่เหมาะสมกับแต่ละยี่ห้อนั้น ๆ แต่ละยี่ห้อก็จะให้มาเป็น range ก็จะต่างกันนิดหน่อย เราก็เลือกตามผู้ผลิตก็ได้ครับ เช่นตัวอย่างข้อมูลจากเว็ปไซต์ของตู้กันชื้น Shutter B

ความชื้นที่ควรเก็บอุปกรณ์

55%-60% = รูปภาพ ภาพเขียน แสตป์ โฉนด ธนบัตร เอกสาร เก็บเพื่อไม่ให้อุปกรณ์ข้างต้นไม่เหลือง แห้งกรอบ ตัวหนังสือ,รูป ยังคงมีสภาพใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด

45% – 55% – กล้องถ่ายภาพ เลนส์ แฟลช กริป แผ่นเก็บข้อมูล ฟิล์ม วีดีโอ แผ่นซีดี

35% – 45% – เครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ สารเคมี วัสดุสิ่งทอ

25% – 35% – สารเคมีที่ใช้ในงานวิเคราะห์พันธ์ไม้วิจัย เมล็ดพันธุ์พืช ดอกไม้ ใบชา ยาสูบ

โดยส่วนตัวผมเองจะตั้งเป็นค่ากลาง ๆ ที่ประมาณ 50 ครับ เป็นค่าที่เหมาะสมสำหรับการเก็บอุปกรณ์กล้องและเลนส์ครับผม

ตู้กันชื้นขนาดเท่าไหร่ดี?

ในตลาดมีตู้กันชื้นมากมายหลายขนาด ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ Digital และแบบ Analog เค้าจะแทนขนาดของตู้กันชื้นเป็นลิตร เช่นตู้นี้มีขนาด 20L 30L 60L 120L ก็ว่ากันไป ซึ่งการเลือกหลัก ๆ ก็แบ่งตามอุปกรณ์ที่เรามีอยู่นั่นแหละครับ ถ้ามีอุปกรณ์เยอะก็ต้องใช้ใหญ่หน่อย ถ้ามีน้อยก็ใช้เล็กลง ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงในการเลือกขนาดก็ตามที่ผมแยกมาข้างล่างนี้ครับ เรียงตามลำดับความสำคัญมากไปน้อยครับ

  • เลือกขนาดให้เพียงพอต่อการเก็บอุปกรณ์ของเรา
  • เลือกขนาดเผื่ออนาคตจะมีอุปกรณ์เพิ่ม
  • เลือกให้เหมาะกับขนาดห้องหรือที่เก็บ

ที่นี้หลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยมีตู้กันชื้นมาก่อนอาจจะไม่เห็นภาพว่าขนาดเท่านี้เก็บได้เท่าไหร่ จริง ๆ จะมากจะน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารพื้นที่ของแต่ละคนด้วยนะ บางคนอาจจะวางแนวตั้ง อาจจะวางแนวนอน จัดสรรปันส่วนกันตามสะดวกครับ ผมเลยเอาตัวอย่างคร่าว ๆ มาให้ดูนะครับ

ตู้กันชื้นกินไฟไหม?

ด้วยความที่ต้องเปิดตลอดเวลาหลาย ๆ คนอาจจะกังวลเรื่องค่าไฟ ต้องบอกว่าตู้กันชื้นกินไฟน้อยมาก ๆ ครับ ลองคิดเล่น ๆ ตู้กันชื้นขนาดใหญ่ 120ลิตร กินไฟประมาณ 15w สมมุติว่าคุณเสียบปลั๊กและเปิดตู้กันชื้นตลอดเวลา 24 ชม. ไม่พักไม่ผ่อน (จริง ๆ ตู้กันชื้นตัดการทำงานอัติโนมัตินะครับถ้าความชื้นคงที่แล้ว) เป็นเวลา 1 เดือน สำหรับค่าไฟบ้านทั่วไป (ที่ไม่ใช่หอพัก หรือแมนชั่น) คิดแบบยูนิตละ 5 บาท คุณจะต้องจ่ายค่าไฟเพียงแค่ 54 บาทต่อเดือน หรือ 1.8 บาทต่อวันเท่านั้นเองครับ

ไม่ใช้ตู้กันชื้นใช้อย่างอื่นแทนได้ไหม?

คำตอบคือใช้ได้ครับ ถ้าคุณมีอุปกรณ์ไม่ได้เยอะมาก ก็สามารถใช้พวกกล่องถนอมอาหารใหญ่ ๆ ที่มีฝาปิดมิดชิดหน่อยมาใช้ได้ แล้วเอาสารดูดความชื้น หรือ Silica gel มาใส่ดูดความชื้น เพียงแต่อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่ามันจะมีความชื้นที่เหมาะสมสำหรับเก็บอุปกรณ์กล้องและเลนส์ ดังนั้นอีกอย่างที่คุณต้องมีนั่นก็คือเครื่องวัดความชื้นนั่นเอง มีทั้งแบบ Analog และ Digital ราคาหลักร้อยหาซื้อได้ที่ Zoomcamera ทุกสาขา ฮ่า ๆ เพื่อเอามาวัดว่าระดับความชื้นว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้าพอแล้วก็เอาออกถ้าน้อยไปก็ใส่ Silica gel เพิ่มครับ

เครื่องวัดความชื้นแบบดิจิทัล

เพราะฉะนั้นการทำแบบนี้ก็เหมือนว่าเราใช้ตู้กันชื้นแบบแมนนวลนั้นและ ข้อดีก็คือประหยัดงบไปได้นิดหน่อย ข้อเสียคือต้องมาคอยยุ่งยากเปลี่ยน Silica gel ต้องมานั่งดูว่าความชื้นเหมาะสมหรือยัง ไม่เหมือนพวกตู้กันชื้นที่เซ็ตทีเดียวจบ ประหยัดเวลาไปได้เยอะกว่าเยอะครับ

ใครที่ต้องใช้ ตู้กันชื้น?

จริง ๆ ต้องบอกว่า ไม่จำเป็นว่าต้องมีอุปกรณ์เยอะอย่างเดียวก็สามารถใช้ตู้กันชื้นได้ ยังมีอีกหลายเหตุผลที่เราจะควักกระเป่าซื้อตู้กันชื้นสักใบครับ

  • บริเวณบ้านมีความชื้นสูง อยู่ในสวน อยู่ใกล้คลอง ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นพื้นที่ ๆ มีความชื้นสูงมากกว่าปกติครับ
  • อุปกรณ์เยอะ มีบางอันที่อาจจะไม่ค่อยได้หยิบมาใช้เป็นเวลานาน ๆ กลัวขึ้นรา
  • อยากเก็บอุปกรณ์ ให้เป็นสัดเป็นส่วน สะอาด เรียบร้อย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเก็บรักษากล้อง

ถ้าไม่มีตู้กันชื้นควรเก็บกล้องไว้ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ไม่ควรเก็บกล้องไว้ในตู้เสื้อผ้า เพราะเป็นสถานที่ที่มีความชื้นจากเสื้อผ้า และเป็นที่ ๆ บ่มเพาะเชื้อราชั้นเลิศ
หลังใช้งาน ไม่ควรเก็บกล้องไว้ในกระเป๋าตลอดเวลา เพราะอย่าลืมว่ากระเป๋าก็ไม่รอดจากความชื้นครับ
การใส่สารดูดความชื้นไว้ในกระเป๋ากล้องตลอดเวลา ทำให้หมดเร็ว และเปลือง เพราะกระเป๋ากล้องไม่ใช่ภาชนะแบบปิด ความชื้นสามารถเข้าได้ตลอดเวลา
ควรใช้งานกล้องอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้กระแสไฟได้ไหลเวียน อากาศไหลเวียน ป้องกันการเกิดราได้อีกทางหนึ่ง
ทำความสะอาดกล้องทุกครั้งหลังการใช้งาน เพื่อให้กล้องสะอาด และ ยืดอายุการใช้งานให้เพิ่มมากขึ้นครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับกับบทความดี ๆ ที่เราตั้งใจเอามาฝากทุก ๆ คน หวังว่าคงได้รับประโยชน์ไปไม่มากก็น้อยนะครับ และเลือกตู้กันชื้นได้อย่างที่ต้องการครับ สำหรับบทความนี้ลาไปก่อน บทความหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ยังไงก็ฝากติดตามพวกเราด้วยนะครับ สวัสดีครับ

สำหรับคนที่สนใจเลือกซื้อตู้กันชื้อสามารถไปที่ลิงค์นี้ได้ครับ
เลือกตู้กันชื้น

Leave a Reply

โค้ดลดสูงสุด

3,000

Happy Code Day 26-28 MAR

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save