Tutorial : รู้จักกับ Seascape พร้อมคำแนะนำในการถ่ายให้สวยสุดพลัง Leave a comment

กราบสวัสดีเพื่อนๆที่ติดตามเพจของ Zoomcamera ทุกๆท่านด้วยครับ Admin เชื่อว่าเพื่อนๆหลายท่านที่ติดตามเพจของ Zoomcamera ส่วนมากจะเป็นตากล้องสาย Landscape ซะส่วนใหญ่ ซึ่ง Landscape ที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะนึกถึงการถ่ายวิวทิวทัศน์ตาม Landmark ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ทั้งบนดอย , บนภูเขา , หรือ สถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำต่างๆ แต่เพื่อนๆทราบหรือไม่ว่า นอกจาก Landscape แล้ว ยังมีการถ่าย Landscape อีกรูปแบบหนึ่งแต่เน้นการถ่ายไปที่ท้องทะเลเป็นหลัก หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ Seascape นั่นเอง สำหรับวันนี้ Admin จะมาแนะนำเพื่อนๆเกี่ยวกับ Seascape ในหัวข้อ ” Tutorial : รู้จักกับ Seascape พร้อมคำแนะนำในการถ่ายให้สวยสุดพลัง “ ซึ่งเจ้า Seascape นั้นเค้าถ่ายอะไร ถ่ายยังไงให้สวย เรารวบรวมาให้เพื่อนๆไว้ที่นี่แล้ว ไปชมกันรายละเอียดกันเลยครับ

Seascape คืออะไร ??

Seascape เป็นการถ่ายภาพ Landscape อีกรูปแบบหนึ่ง แต่เน้นมาที่ทะเล , มหาสมุทร และหรือผืนน้ำเป็นหลัก ทั้งนี้อาจจะมีส่วนประกอบอื่นๆเพื่อช่วยเสริมองค์ประกอบภายในภาพ ไม่ว่าจะเป็น โขดหิน ,หน้าผา , เรือประมง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพลิกแพลงการถ่าย Seascape ด้วยรูปแบบอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การเคลื่อนไหวของกระแสน้ำ เกลียวคลื่นทุกคลื่นมีเอกลักษณ์และไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถ่ายทอดภาพออกมาในลักษณะใดด้วยเช่นกันครับ

เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปถ่าย Seascape

– วางแผน ระบุเป้าหมายที่จะไป

แน่นอนหากพูดถึง Seascape แล้ว เป้าหมายหลักๆที่เราจะไปถ่ายนั้น คงจะหนีไม่พ้นบรรดาเกาะเล็ก เกาะน้อย , เกาะกลางทะเล , ชายหาด , หน้าผา เป็นต้น ซึ่ง Location เหล่านี้หากในประเทศไทย คงจะหนีไม่พ้นจังหวัดในภาคตะวันออก และ ภาคใต้เป็นซะส่วนใหญ่นั่นเองครับ เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้มีอาณาเขตที่ติดกลับทะเลตลอดแนวนั่นเองครับ ซึ่งขอแนะนำเป็นจังหวัดในโซนภาคใต้ที่ติดทะเลจะดีที่สุดครับ เนื่องจากได้ Seascape แล้ว ยังได้ท้องฟ้าจากฝากฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งวันใดที่ท้องฟ้าเปิด เมฆไหลที่สวยงามด้วยแล้ว ยิ่งเติมเต็มให้กับภาพ Seascape ได้ดียิ่งขึ้นครับ

– เช็คสภาพอากาศล่วงหน้า

Seascape มักเคียงคู่กับสภาพอากาศ หากว่ากันตามตรงแล้ว ท้องทะเล เป็นอะไรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เราไม่สามารถควบคุมได้โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น พายุ , น้ำขึ้น – น้ำลง , ข้่างขึ้น – ข้างแรม , เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น – ตก เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม แน่นอนว่าสิ่งเหล่าส่งผลต่อ Output ของเราที่ถ่าย Seascape นั่นเองครับ ฉะนั้นเมื่อเรารู้จุดหมายปลายทางที่เราจะมาถ่าย Seascape แล้ว อย่าลืมเช็คข้อมูลจำพวกพยากรณ์ล่วงหน้ามาด้วยก็ดีครับ มิฉะนั้นหากพลาดเจอพายุเข้า ณ วันที่เรามาถ่ายพอดี เราอาจจะเสียเวลาไปฟรีๆก็เป็นได้ครับ

– เตรียม Set อุปกรณ์ให้พร้อม

สำหรับอุปกรณ์ในการถ่าย Seascpe นั้น แทบจะเหมือนกับการถ่าย Landscape เลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งตัวกล้องนั้นเราเลือกใช้ตามที่เราชอบ ตามที่เราถนัด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้ง DSLR , Mirrorless ในส่วนของเลนส์นั้น แนะนำว่าควรมีเลนส์ Wide และ/หรือ Ultra Wide พกติดไปด้วยจะดีที่สุดครับ ส่วนเลนส์อื่นๆที่อยากให้พกติดไป คงจะหนีไม่พ้น Normal Zoom หรือ Tele Zoom เหตุผลคือ การถ่าย Seascape บางครั้งท้องน้ำที่มีปริมาณมากในเฟรมภาพ อาจทำให้ภาพ Seascape ของเรานั้น ให้บรรยากาศที่ดูโล่งชวน โหลงเหลงจนเกินไปนั่นเองครับ

อีกหนึ่งอุปกรณ์เฉพาะทางหากเพื่อนๆ ต้องการเสริมประสิทธิภาพให้กับ Output ที่จะถ่ายทอดภาพ Seascape ของเราให้สวยสุดพลังละก็ เตรียมอุปกรณ์จำพวก Filter เฉพาะทางอย่าง ND Filter , Gradute Filter รวมถึง ขาตั้ง จะเป็น tripod หรือ monopod ก็ตามแต่ ขอเพียงมีความแข็งแรง ทนทาน และถือเป็นอุปกรณ์ที่จะขาดไม่ได้เลย เพราะช่วยเซฟเรื่องกันสั่นไหวในการถ่ายภาพให้เราได้เป็นอย่างดีครับ

Setting อย่างไร ให้เหมาะกับการถ่าย Seascape

– คุมความชัดลึกทั่วทั้งภาพ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การถ่ายภาพแนว Seascape นั้น มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ Landscape โดยเฉพาะในเรื่องความคมชัดทั่วทั้งภาพ ซึ่งปกติในการถ่ายภาพทั่วๆไป เราจะติดนิสัยการเปิด F กว้างสุดไม่ว่าจะเป็น F1.2 / 1.4 /2.8 เป็นต้น เพื่อเน้นเพียง Subject ใด Subject หนึ่งเท่านั้น แต่กับการถ่ายภาพ Seascape ด้วยแล้ว หากจะใช้ F กว้างถ่ายละก็ ภาพวิวที่เราวาดไว้ในหัวอาจจะไม่เหมือนที่คิดไว้ เพราะ อาจจะชัดเพียงจุดที่โฟกัสนั้นๆ แต่รอบๆอาจจะไม่ชัดเท่าที่ควรจะเป็น หรือ เบลอไปเลยก็เป็นได้

ดังนั้น หากต้องการภาพ Seascape ที่มีความคมชัด รายละเอียดมาครบๆละก็ แนะนำว่าควรตั้งค่ารูรับแสงมาที่ F8 เป็นต้นไป อาจจะเป็น F11 , F13 หรือ F16 ก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ ตรงนั้น สาเหตุที่ต้องใช้ค่ารูรับแสงแคบ ( F ตัวเลขมาก ) เป็นเพราะ ยิ่ง F แคบ ยิ่งส่งผลให้ภาพที่เราถ่ายนั้น มีความคมชัดครอบคลุมทั่วทั้งเฟรมภาพ เก็บรายละเอียดได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เมื่อใช้ค่ารูรับแสงที่แคบ จำเป็นต้องใช้ค่า Speed Shutter ที่ต่ำลงไปด้วย นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุที่ต้องพกขาตั้งมาด้วยนั่นเองครับ

ทั้งนี้ การหรี่ค่ารับแสงให้แคบลงมากๆ แม้จะได้ภาพทีมีความคมชัดลึกสูงครอบคลุมทั่วทั้งภาพ แต่หากไม่จำเป็น ไม่ควรหรี่ค่ารูรับแสงมาที่ F16 และ หรือ มากกว่านั้น นั่นเพราะ จะเกิดปฏิกริยาที่เรียกว่า Diffraction โดยเจ้า Diffraction นี้ จะทำให้ภาพที่เราถ่ายเมื่อใช้ค่ารูรับแสงแคบเกินไป ภาพจะเสียรายละเอียด และ เสียความคมไป บางครั้งทำให้ภาพเกิดอาการซอฟได้เช่นกันครับ

– เล่นกับสายน้ำด้วย Long Exposure

Long Exposure หรือ Long Shutter Speed Exposure คือหนึ่งในรูปแบบการถ่ายภาพ ซึ่งจะมีขั้นตอนเปิดหน้ากล้องทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน ทำให้ได้ภาพที่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น และถ่ายภาพของวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละภาพจะต้องเปิดหน้ากล้องเอาไว้นานต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของวัตถุว่าช้าหรือเร็วแค่ไหน ภาพที่ได้ออกมาจะให้ความสวยงามในอีกมุมมองหนึ่ง ดูเหมือนชิ้นงานศิลปะที่โดดเด่น แต่สำหรับมือใหม่ การถ่ายภาพด้วยวิธีนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก เพราะต้องใช้ประสบการณ์ฝึกหัดกันพอสมควรครับ

สำหรับ Long Speed Shutter นั้น เป็นเทคนิคที่ใช้ถ่ายภาพได้หลากแล้วแล้วแต่จะเอาไปประยุกต์สร้างสรรค์ แต่ที่ช่างภาพนิยมถ่ายกันมากๆ หลักๆจะเป็นการถ่าย Landscape ที่เน้นการหยุดการเคลื่อนไหว อาทิ เช่น

ในสถานการณ์ที่ Subject บางอย่างมีการเคลื่อนไหวอยู่ โดยในขณะที่บางอย่างหยุดนิ่ง เช่น น้ำไหล คลื่นซัดสาด เมฆเคลื่อนไปบนท้องฟ้า แสงไฟจากยานพาหนะ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบเห็นได้ในลักษณะของความเคลื่อนไหวผสมกับความหยุดนิ่งของสิ่งอื่นๆ

ในสถานการณ์ที่แสงน้อย และไม่สามารถจัดแสง รวมถึงการจัดไฟหรือควบคุมแสงได้ตามใจ โดยเติมลูกเล่น หรือ จินตนาการเพิ่มเติมลงไป ก็ต้องอาศัยเทคนิคนี้เข้ามาช่วย รวมถึงการวาดแสงด้วยไฟฉายหรือแหล่งกำเนิดแสงที่เราต้องการ

การถ่ายภาพแบบ Long Exposure หรือ Slow Shutter Speed นั้น หลักส่วนใหญ่จะเน้นการถ่ายภาพด้วยการใช้ค่า Speed Shutter ที่ต่ำ ซึ่งเสน่ห์ในการถ่ายภาพด้วย Speed Shutter ต่ำๆ แบบนี้ กลายเป็นการบันทึกภาพที่จะช่วยสร้างงานศิลปะที่โดดเด่น ที่ทำให้เกิดความหลากหลายในการสร้างผลงาน ว่าแล้ว เรามาดูกันดีกว่า ว่า ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง

– ขาตั้ง

อุปกรณ์ชิ้นนี้ ถ้าไม่มีไปด้วย ถือว่าพลาดเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นหัวใจหลักอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพ Long Shutter Speed เลยก็ว่าได้ครับ ซึ่งขาตั้งที่ควรเลือกใช้นั้น ควรเป็นขาตั้งกล้องที่มีความมั่นคง แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุดเท่าที่จะจัดหามาได้เลย เนื่องจากเมื่อนำกล้องขึ้นขาตั้งแล้ว การสั่นไหวเพียงเล็กน้อย อาจจะทำให้ภาพที่เราลั่นชัตเตอร์ไปนั้น กลายเป็นภาพเสีย ขาดความคมชัดไปทันทีครับ หรือ หากเลือกใช้ขาตั้งที่มีน้ำหนักเบาด้วยแล้วละก็ ควรพกถุงทรายเล็กๆ ไว้ใช้ในการถ่วงน้ำหนักของขาตั้งด้วยครับ

– สายลั่นชัตเตอร์

ถัดจากขาตั้ง ก็เป็น รีโมตชัตเตอร์ ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งแบบปกติ และ แบบไร้สาย ถึงแม้เราจะใช้ขาตั้งแล้ว แต่เมื่อเรากดชัตเตอร์ก็อาจจะทำให้กล้องสั่นได้ โดยทั่วไปหากเราเลือกใช้ค่า Shutter Speed ที่ต่ำสำหรับการถ่าย Long Exposure ด้วยแล้ว ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์รุ่นที่สามารถล็อคการเปิดรับแสงไว้ตามที่เราต้องการได้ แต่ถึงจะไม่มีอุปกรณ์ทั้งสองอย่างนั้น หากจะถ่ายภาพด้วยเทคนิคนี้จริงๆ ก็ยังคงทำได้ ด้วยฟังก์ชั่นการหน่วงเวลาสั้นๆ ในกล้อง ( ส่วนใหญ่จะนิยมตั้งหน่วงไว้ 2 วินาที ก่อนที่ชัตเตอร์จะทำงาน )

ทั้งนี้สำหรับการตั้งค่า Long Exposure โดยทั่วไปมักนิยมใช้รูรับแสง f/8-f/11 และ/หรือมากกว่านั้น ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และ หลังดวงอาทิตย์ตกนั้น คุณสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ 30-180 วินาที ทั้งนี้ในกล้องบางรุ่น อาจจะไม่รองรับการลากความเร็วชัตเตอร์ยาวๆ ก็ต้องเพิ่ม ISO แทน ซึ่งเจ้า Long Exposure นี้ไม่มีกฏตายตัวว่าความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้ภาพ Seascape ที่เราถ่ายนั้นสื่อความหมายอะไรนั่นเอง

– เล่นกับแสงธรรมชาติ

หากเรามาถึงเป้าหมายที่เราจะถ่าย Seascape ทั้งที ควรจะได้ภาพที่มีความสวยสุดพลังเป็นของขวัญคลายเหนื่อยกลับบ้านไปด้วยเช่นกันครับ ซึ่งในสภาพความเป็นจริงแล้ว บางครั้งการ Setting ข้างต้นอาจจะไม่เพียงพอในการรังสรรค์ผลงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นเราจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมาช่วยปรุงแต่งภาพ Seascape ของเราให้ดียิ่งขึ้น นั่นคือ แสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์นั่นเองครับ ซึ่งเจ้าแสงธรรมชาตินี้ เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามนี้ครับ

– แสงจากด้านข้าง

แสงจากด้านข้างนี้ หากพาดผ่าน Subject อื่นๆที่เป็นองค์ประกอบภายใน จะทำให้เกิดแสง เงา มิติ และรายละเอียดที่สวยงาม ส่วนเงาไม่มืดจนเกินไป แสงแบบนี้จะเกิดช่วงเริ่มต้นของวันและเกือบสิ้นสุดวัน ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลที่ดี่ที่สุดที่เรามักจะเป็นช่างภาพทั้งสาย Landscape , Seascape ต่างรอคอยเป็นซะส่วนใหญ่

– แสงจากข้างหน้า

มีเหตุผลบางอย่างที่ช่างภาพบางคนหลีกเลี่ยงการถ่ายดวงอาทิตย์ที่อยู่ด้านหน้า แต่ผลลัพธ์นั้นคุ้มค่า เพราะแสงจากข้างหน้านั้น สามารถทำให้เราได้สีของก้อนเมฆที่ดูสวยงาม และได้การสะท้อนแสงจากสิ่งต่างๆ รวมถึงแสงที่ต่างกันมากระหว่างฟ้ากับฉากหน้า อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้ฟิลเตอร์ หรือถ่ายคร่อม เก็บรายละเอียดในแต่ละส่วน แล้วมารวมกัน

– Golden Hour

Golden Hour หรือ ชั่วโมงทองคำ นั้น เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่าช่างภาพสาย Landscape นั้น ต่างรอคอยกันมาตลอดทั้งวัน เนื่องจาก Golden Hour เป็นช่วงเวลาที่เกิดแสงตามธรรมชาติที่มีความสวยงาม และ มีช่วงเวลาที่เกิดเป็นระยะเวลาที่สั้นๆ ทั้งนี้การเกิด Golden Hour นั้น แตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ ตามฤดูกาล รวมถึงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกผ่านขอบฟ้าจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปีด้วยครับ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ดวงอาทิตย์จะขึ้นอย่างเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิด Golden Hour เร็วขึ้น ในทางกลับกันข้ามในบางสถานที่ทางตอนเหนือที่ไกลดวงอาทิตย์อาจไม่สูงขึ้นมากในท้องฟ้าเลย แต่คุณอาจได้เห็นช่วง Golden Hour ตลอดทั้งวันนั่นเองครับ

สำหรับช่วง Golden Hour นั้น เป็นที่เข้าใจกันในกลุ่มของช่างภาพ Landscape ว่า ช่วงเวลา Golden Hour นั้นจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ และจากเราไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับข้อแรกที่เราต้องรู้ก่อนว่า ช่วงเวลาใดที่จะเกิด Golden Hour นั่นเองครับ ฉะนั้น สิ่งที่เราต้องเตรียม คือ การไปถึงจุดหมายนั้นๆก่อนเวลากำหนดนั่นเอง หากเป็นไปได้ ควรไปล่วงหน้าซัก 1 – 2 ชม. ซึ่งการไปก่อนนั้น ช่วยให้เราไปสำรวจ Location สำหรับเตรียมการถ่ายภาพนั่นเองครับ หรือ ช่างภาพท่านที่ต้องการเก็บช่วงเวลา Golden Hour ให้อยู่ในรูปของ Timelapse ด้วยแล้วละก็ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดครับ

โดยปกติแล้ว ช่วง Golden Hour นั้น มักจะปรากฎในช่วงเวลาก่อนพลบค่ำ หรือ ช่วง Twilight นั่นเอง ซึ่งปกติช่วงเวลาดังกล่าวสภาพแสงในธรรมชาติจะมีความซับซ้อนแตกต่างกว่าช่วงเวลาปกติ กล่าวคือ ในช่วง Gloden Hour นั้นจะมีความต่างของ Hilight และ Shadow ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าส่งผลต่อภาพที่ได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นฉากหน้าดำ ฉากหลังขาว นั่นเอง ซึ่งเป็นผลมาจากความสมดุลของแสงที่ตัวกล้องของเราเห็น ณ ขณะนั้น ทางแก้ง่ายๆ คือ ปรับค่า Exposure หรือ ค่าชดเชยแสงนั่นเองครับ แต่ถ้าหากหวังกับภาพ ณ จุดๆนั้น อาจจำเป็นจะต้องถ่ายคร่อมแสง หรือ Bracketing Exposure เพื่อเก็บสภาพแสงต่างๆ ตามที่เราต้องการ แล้วนำมา Process เพิ่มเติมในโปรแกรมเฉพาะทางอย่าง Adobe Photoshop , Adobe Lightroom เป็นต้นครับ ที่สำคัญควรถ่ายเป็นสกุล RAW เพื่อให้เก็บข้อมูลดิบของภาพให้มากที่สุดนั่นเองครับ

Credit  :  Seascape Photography

*** สอบถามเพิ่มเติม ***

inbox : http://www.facebook.com/messages/zoomcamera

02-635-2330 ต่อ 0 / 083-067-7677 (หยุดวันอาทิตย์)

สาขาสีลม 02-635-2330-1 / 080-271-2772

สาขาเดอะมอลล์งามวงศ์วาน 02-951-8597 / 085-937-0123

สาขาเมกาบางนา 02-105-1926 / 086-554-1919

สาขาเดอะมอลล์บางแค 02-454-9598 / 084-033-0498

สาขาฟอร์จูนทาวน์ 02-642-1291 / 083-068-2775

 สาขา Central Festival เชียงใหม่ 052-068-787 / 096-878-4896

สาขา Central Westgate 02-060-4362 / 097-063-4328

สาขา Central  Festival หาดใหญ่ 095-702-7585

บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 27/03/2018

Leave a Reply

โค้ดลดสูงสุด

3,000

Happy Code Day 26-28 MAR

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save