8 เรื่องที่คุณ(อาจ)ยังไม่รู้เกี่ยวกับ UV filter Leave a comment

8 เรื่องที่คุณ(อาจ)ยังไม่รู้เกี่ยวกับ UV filter

 นับเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบถึงการใช้ UV Filter ในกล้อง DSLR ช่างภาพมืออาชีพบางคนก็ถึงกับบอกว่าเกลียดการใช้ฟิลเตอร์เพราะมันทำให้ภาพของพวกเค้ามีคุณภาพที่แย่ลงแต่ช่างภาพมืออาชีพระดับเทพๆหลายคนก็ติดมันไว้ที่หน้าเลนส์ของพวกเค้าตลอดเวลา แล้วอย่างนี้ช่างภาพอย่างเราควรจะใช้หรือไม่ใช้ UV Filter ดีล่ะเนี่ย ดังนั้นในวันนี้เราจะมาดูกันครับว่าเราควรจะตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้ UV Filter ดี

1.“ฟิลเตอร์ทุกตัวทำให้คุณภาพของภาพลดลง”

          “จริงครับ” มันคือความจริงที่จริงเสียยิ่งกว่าจริง ทุกๆอย่างที่คุณนำไปวางไว้หน้าเลนส์ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของภาพแน่นอน รวมถึงฟิลเตอร์ที่คุณนำไปใส่ไว้ที่หน้าเลนส์ไม่ว่าจะเป็นฟิลเตอร์ที่มีราคาแพงซักแค่ไหนมันย่อมทำให้คุณภาพของภาพลดลงแน่นอน โดยฟิลเตอร์ที่มีราคาสูงก็จะส่งผลให้คุณภาพของภาพลดลง”น้อยกว่า”ฟิลเตอร์ที่มีราคาถูกนั่นเอง แต่ถ้าหากว่าเราเป็นช่างภาพธรรมดาหรือคนธรรมดาที่ชอบถ่ายภาพ และไม่ได้ต้องการคุณภาพของภาพแบบละเอียดยิบมากนัก เพราะอย่างน้อยฟิลเตอร์ก็ช่วยป้องกันหน้าเลนส์ของเรา ทำให้เราอุ่นใจขึ้นได้มากทีเดียว

2.“แสง UV ไม่มีผลกระทบต่อกล้อง DSLR”

          แสง UV (Ultraviolet) นั้นมีผลต่อกล้องฟิล์มเพราะเมื่อมีแสง UV หลุดเข้ามาในกล้องและผ่านเข้าสู่ฟิล์ม ภาพที่ได้จะมีสีที่ผิดเพี้ยนไม่สดใสจากผลของสีของแสง UV นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิด UV Filter ขึ้น เพื่อตัดแสง UV ไม่ให้สามารถผ่านเลนส์เข้าไปสู่แผ่นฟิล์มได้ลดปัญหาเรื่องสีเพี้ยนดังกล่าว นั่นคือเหตุผลที่ UV Filter ถูกสร้างขึ้นเมื่อเนิ่นนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันรังสี UV แทบจะไม่ได้ส่งผลใดๆต่อเซนเซอร์ของกล้อง DSLR อีกแล้ว ประโยชน์ของ UV Filter จึงมีเพียงแค่ปกป้องหน้าเลนส์เท่านั้นสำหรับกล้อง DSLR สมัยใหม่ ดังนั้นสำหรับกล้อง DSLR แล้ว UV Filter และ Protector Filter นั้นไม่ได้ต่างกันเลย

 

3.“เลนส์ชิ้นหน้านั้นแข็งแรงมากกว่าที่คุณคิด”

          สำหรับเลนส์ส่วนใหญ่แล้ว ชิ้นเลนส์ที่อยู่ด้านหน้าจะหนาและแข็ง เพื่อที่จะทำให้เลนส์ชิ้นนี้แตกจะต้องใช้แรงกระแทกมากพอดูเลยทีเดียว และชิ้นเลนส์ดังกล่าวก็ถูกออกแบบให้เป็นรอยได้ยาก แต่หากบังเอิญว่าคุณโชคร้ายจริงๆไปฉะเข้ากับแรงกระทบที่มีมากพอที่จะทำให้ชิ้นเลนส์ด้านหน้าแตกได้ ถึงตอนนั้น UV Filter ที่อยู่ด้านหน้าเลนส์ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

4.“แสงแฟร์ แสงท้อน”

          เมื่อคุณใช้ฟิลเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น UV Filter, Protector Filter, CPL Filter, หรือฟิลเตอร์ใดๆก็ตาม แน่นอนว่ามันย่อมเป็นการเพิ่มชิ้นแก้วเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้เกิดการสะท้อนและการหักเหของแสงได้ เมื่อคุณถ่ายภาพแสงไฟในยามค่ำคืน หรือพระอาทิตย์ในยามเช้า การหักเหและสะท้อนแสงดังกล่าวย่อมสามารถทำให้เกิดแสงแฟร์ แสงฟุ้ง หรือแสงสะท้อนต่างๆและทำให้คุณภาพของภาพนั้นลดลงไป ซึ่งเป็นความจริงของฟิลเตอร์ทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะ UV Filter

5.“ก็ UV Filter มันบาง”

          UV Filter นั้นยิ่งมีชั้นกระจกที่บางมากเท่าไหร่ ก็ย่อมแตกง่ายมากเท่านั้นด้วยเช่นกัน และถ้าฟิลเตอร์แตกเศษชิ้นแก้วที่แตกออกมาอาจอาจขูดกับชิ้นเลนส์ด้านหน้าทำให้เกิดรอยหรือเกิดความเสียหายได้ ความแข็งแรงของฟิลเตอร์จึงเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงเช่นกันในเวลาที่เราเลือกซื้อฟิลเตอร์

6.“ขอบบาง VS ขอบหนา”

          ฟิลเตอร์ขอบบางนั้นใช้เพื่อป้องกันการเกิด Vignetting หรือขอบดำ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับเลนส์ไวด์ที่มีมุมองศาการรับภาพกว้างมาก หากใช้ฟิลเตอร์ที่มีขอบหนาก็อาจไปบังมุมองศาการรับภาพของเลนส์ ทำให้เกิดปัญหาติดขอบดำในภาพได้ ข้อเสียของฟิลเตอร์ขอบบางนั้นคือตัวขอบมีขนาดเล็กและบางทำให้มีโอกาศที่จะคดงอได้ง่ายกว่าแบบขอบหนา และแน่นอนว่าแบบขอบหนาย่อมแข็งแรงกว่าแบบขอบบาง และสำหรับเลนส์เทเลที่มีมุมองศาการรับภาพแคบ จะไม่มีปัญหาเรื่องติดขอบฟิลเตอร์แม้ว่าฟิลเตอร์จะมีขอบหนาก็ตาม ดังนั้นก็อาจเลือกใช้ฟิลเตอร์คุณภาพสูงแบบขอบหนาก็ได้

 

7.“ฝุ่น และ ละอองน้ำ”

          ในบางสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมรอบตัวเราอาจเต็มไปด้วยฝุ่น ทราย และอาจมีความชื้นสูง หรือในสถานการณ์ที่มีละอองน้ำมาโดนกล้องของเรา ฟิลเตอร์นั้นจะช่วยได้มากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเวลาที่คุณต้องการเช็ดเลนส์ มันจะดีกว่ามากถ้าเปลี่ยนเป็นการเช็ดฟิลเตอร์แทน ลดโอกาสที่เลนส์ของเราจะเป็นรอยเพราะเกิดจากการเช็ดเลนส์ และในบางสถานการณ์ที่มีฝุ่นค่อนข้างมีความคมอย่างเช่นทราย เมื่อเราทำการเช็ดเลนส์อาจทำให้เม็ดทรายขูดไปตามหน้าเลนส์ทำให้เลนส์เป็นรอยได้ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เลนส์ของเราเป็นรอยหรือเสียหายเหล่านี้ การใส่ฟิลเตอร์เอาไว้จะช่วยได้มากเลย

8.“ระยะเลนส์และรูรับแสงนั้นสำคัญ”

สำหรับเลนส์บางตัวมีเพียงแค่บางส่วนของฟิลเตอร์เท่านั้นที่แสงใช้ในการเดินทางเข้าสู่เซนเซอร์ โดยมีหลักสูตรคำนวณง่ายๆคือ

ระยะของเลนส์ / รูรับแสงกว้างสุด = ขนาดของผิวด้านหน้าฟิลเตอร์ที่ใช้

 

ตัวอย่างเช่นเลนส์ 17mm F4 17/4 = 4.25mm ดังนั้นถ้าคุณใช้ฟิลเตอร์ขนาด 67mm จะมีเพียงแค่ส่วนเล็กๆบางส่วนของฟิลเตอร์เท่านั้นที่ใช้ สำหรับเลนส์ 200mm F2.8 ก็จะเป็น 200/2.8 = 71.4mm ถ้าเลนส์ตัวนี้ใช้ฟิลเตอร์ขนาด 77mm ก็แปลว่าส่วนผิวด้านหน้าเกือบทั้งหมดของฟิลเตอร์จะถูกใช้ นี่เป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าถ้าพื้นที่ผิวด้านหน้าของฟิลเตอร์เกือบทั้งหมดถูกใช้ คุณภาพของชิ้นเลนส์ฟิลเตอร์จึงส่งผลต่อคุณภาพของภาพถ่ายด้วย ณ จุดนี้ฟิลเตอร์เกรดสูงๆจึงมีความจำเป็น สรุปก็คือ ในเลนส์เทเลมากๆหรือเลนส์ไวแสงที่มีรูรับแสงกว้างมากๆนั้นจำต้องใช้ฟิลเตอร์ที่คุณภาพสูงหรือไม่ใส่ฟิลเตอร์เลย

“เนื่องจากบทความนี้เป็นบทความแปล ในส่วนนี้ผมจึงขอขยายความเพิ่มอีกเล็กน้อยจะได้ไม่ งง กันนะจ๊ะ”

*สูตรดังกล่าวหากท่านผู้อ่านบางท่านเคยผ่านตามาบ้างอาจจะรู้ว่าจริงๆแล้วมันคือสูตรที่ใช้สำหรับหาขนาดของรูรับแสงของเลนส์แต่ละช่วง เช่น เลนส์ 85mm F8 = 10.6mm เลนส์ 24mm F8 = 3mm หมายความว่า ค่ารูรับแสง F8 ของเลนส์ 85mm รูรับแสงจะมีขนาด 10.6mm แต่สำหรับเลนส์ 24mm จะมีขนาดเล็กกว่าเหลือแค่ 3mm ขนาดของรูรับแสงจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสัมพันธ์กับระยะของเลนส์และขนาดของรูรับแสงกว้างสุดด้วย (แต่ทั้ง 2 ก็จะได้ปริมาณแสงที่ F8 เท่ากัน) แต่ที่นำสูตรดังกล่าวมาอ้างอิงเพราะมีความสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ผิวด้านหน้าฟิลเตอร์ที่แสงใช้ในการเดินทางเข้าสู่เซนเซอร์ด้วย

**ในเรื่องนี้นั้นเป็นการบอกขนาดของหน้าฟิลเตอร์ที่ถูกใช้ซึ่งมีส่วนที่สามารถใช้อ้างอิงกับเลือกซื้อฟิลเตอร์แบบคุณภาพสูงหรือแบบธรรมดาได้ จะไม่เกี่ยวกับองศาการรับภาพของเลนส์นะครับ ตัวอย่างเช่นเลนส์ 17mm F4 อาจใช้พื้นที่บริเวณผิวหน้าของฟิลเตอร์เพื่อรับแสงเข้าสู่เซนเซอร์เพียงแค่ 4.25mm  แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำวัสดุใดไปปิดให้เหลือพื้นที่เพียงแค่ 4.25mm ได้ ในส่วนนั้นต้องคำนึงถึงองศาการรับภาพของเลนส์ด้วย

source photographyblogger

 

 

Leave a Reply