ถ่ายภาพฝนดาวตกอย่างไรดี? Leave a comment

ถ่ายภาพฝนดาวตกอย่างไรดี?

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน วันที่ 13-14 ธันวาคมที่ผ่านมามีฝนดาวตกเจมินิดส์ให้พวกเราทางผู้ได้ชมกันเป็นฝนดาวตกส่งท้ายปี วันนี้ทางผู้เขียนเลยรวบรวมเคล็ดลับในการถ่ายภาพฝนดาวตกมาฝากครับ เอาไว้ใช้เตรียมตัวถ่ายฝนดาวตกครั้งหน้า หรือจะประยุกต์ใช้สำหรับการถ่ายดาวทั่วๆไปก็ได้

โดยทั่วไปการถ่ายดาวมักมีเทคนิคหลักๆที่ใช้อยู่ 2 แบบ คือถ่ายให้เห็นดาวเป็นจุดๆเต็มฟ้าหรือกระทั่งเห็นทางช้างเผือก กับอีกเทคนิคคือถ่ายดาวเป็นเส้นตามการเคลื่อนที่ หรือ Star trail บทความนี้จะเน้นไปที่เทคนิคแบบแรกนะครับ

ขอขอบคุณภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

            ก่อนที่จะเริ่มพูดถึงเทคนิคในการถ่ายภาพฝนดาวตกนั้น จะขอเกริ่นเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับฝนดาวตกเจมินิดส์ก่อนนะครับ สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ที่พวกเราจะถ่ายภาพกันในปีนี้เป็นฝนดาวตกสุดท้ายในปีนี้ครับ จัดได้ว่าเป็นฝนดาวตกส่งท้ายปีกันเลยทีเดียว โดยปกติฝนดาวตกเจมินิดส์จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวันที 4-17 ธันวาคมของทุกๆปีครับ สำหรับปีนี้ตกมากสุดในคืนวันที่ 13 ไปจนถึงเช้าวันที่ 14 ธันวาคม โดยจะสามารถสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 50-70 ดวงต่อชั่วโมงหลังจากดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าในเวลา 3.35 น. ของเช้าวันที่ 14 ธันวาคม แต่สามารถเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่หลังเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธันวาคม เป็นต้นไปครับ

            การสังเกตฝนดาวตกเจมินิดส์นั้นไม่ยากครับ สามารถนั่งชมหรือเอนเก้าอี้นอนชม หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ฝนดาวตกเจมินิดส์นั้นเป็นฝนดาวตกที่มีความเร็วไม่มากครับ สามารถสังเกตได้ง่ายกว่า พอมีเวลาให้เรียกคนอื่นหันมาดูได้เลย ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของฝนดาวตกเจมินิดส์ครับ

            หลังจากเกริ่นข้อมูลคร่าวๆของฝนดาวตกเจมินิดส์ไปแล้วเราก็กลับมาเข้าสู่เทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกกันต่อดีกว่า (ก่อนที่จะกลายเป็นเวปดาราศาสตร์ไปซะก่อน) โดยจะเริ่มจากสถานที่ในการถ่ายภาพกันก่อนดีกว่า สำหรับสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตกนั้นควรจะเป็นบริเวณที่มืด ไม่มีแสงรบกวนจากภายนอกครับ จะทำให้ถ่ายภาพได้สวยกว่าและยังสังเกตฝนดาวตกได้ง่ายกว่าอีกด้วย

อุปกรณ์ที่ใช้

            อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพฝนดาวตก สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้เลยคือกล้องที่สามารถปรับ Shutter speed, ISO และAperture ได้ครับ จะเป็นกล้องแบบไหนก็ได้ครับ แล้วแต่ความถนัดหรือที่มีให้ใช้เลย อุปกรณ์ชิ้นถัดไปคือ Lens wide (ในกรณีของ DSLR หรือ Mirror Less) ยิ่งกว้างยิ่งดีครับ เนื่องจากจะครอบคลุมพื้นที่ท้องฟ้ามากกว่า ทำให้มีโอกาสถ่ายติดฝนดาวตกมากขึ้นครับ (ดวงเน้นๆ555+) อุปกรณ์ชิ้นถัดไปที่ขาดไม่ได้พอๆกันคือ ขาตั้งกล้องครับ สำหรับคนที่ถ่ายในที่โล่ง ลมอาจจะแรงจึงต้องใช้ขาตั้งที่ค่อนข้างแข็งแรงมั่นคง ภาพจะได้ไม่สั่น อีกเหตุผลหนึ่งคือการถ่ายภาพฝนดาวตกนั้นต้องใช้ Shutter speed ที่ค่อนข้างนาน ราวๆ 5-30 วินาที จึงจำเป็นจะต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยถ่ายภาพครับ

            อุปกรณ์อีกอย่างที่มีก็จะทำให้อะไรๆง่ายขึ้นเยอะคือ Intervalometer หรือ Timer remote control ครับ เนื่องจากเราจะต้องถ่ายภาพหลายสิบภาพไปจนถึงหลายร้อยภาพ ถ้ามี Timer Remote เราก็จะสามารถตั้งโปรแกรมให้กล้องถ่ายภาพเองไปเรื่อยๆแล้วเราก็จะสามารถนั่งชมฝนดาวตกได้อย่างสบายใจไม่ต้องคอยกดชัทเตอร์เองตลอดเวลาครับ หรืออีกอย่างหนึ่งที่สามารถใช้แทนได้คือโหมด Interval Timer ในกล้องบางรุ่นเช่น Nikon D800 หรือ Nikon D7100 หลักการทำงานจะเหมือนกับ Timer remote control เป้ะ หรือถ้าหา Intervalometer ไม่ได้ ใช้เป็นสายลั่นชัทเตอร์แทนก็ได้ครับ นั่งกดเองแต่อาจจะเมื่อยนิ้วหน่อยนึง 55+

หน้าตาของเจ้า Intervalometer หรือ Timer Remote Control

            อุปกรณ์ชิ้นถัดไปคือแผนที่ดาวครับ ไม่เกี่ยวกับกล้องเท่าไหร่แต่ก็ถือว่าจำเป็นสำหรับการดูดาวและฝนดาวตก จะได้ทราบตำแหน่งของดาวที่กำลังจะดูครับ หรือจะใช้ Application ใน Smartphone แทนก็ได้ Star walk สำหรับ IOS หรือ Google Sky Map สำหรับ Android ครับ ส่องดูได้เลยว่าดาวที่ดูอยู่คือดาวอะไร 

การตั้งค่ากล้องถ่ายรูป                     

 หลังจากเรามีอุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพครบแล้วเราก็จะมาดูการตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพฝนดาวตกกันครับ โดยเราจะมาไล่ดูกันทีละข้อโดยเราจะเริ่มจาก 

1. Mode เลือกเป็น Manual ครับเพราะเราจะต้องตั้งค่า ISO Aperture และ Shutter Speed เองหมดเลย

2. ISO เลือกที่ 1600 หรือ 3200 ครับ ต้องใช้ค่าค่อนข้างสูงเพราะแสงจากฝนดาวตกจะค่อนข้างจางและเราจะได้ไม่ต้องใช้   Shutter Speed ที่นานมาก

3. Aperture เปิดให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเปิดได้เลยครับ ได้ 3.5 เปิด 3.5 ได้ 1.8 เปิด 1.8 ครับ

4. Shutter Speed ตั้งที่ 5-30 วินาที แต่แต่ถ้ามี Intervalometer ให้ตั้งค่าใน Intervalometer แทนโดยอาจจะต้องดูคู่มือในการตั้งค่าเพราะแต่ละรุ่นวิธีตั้งจะไม่เหมือนกันครับ

5. Picture Quality ถ้าเป็นไปได้ตั้งเป็น RAW จะดีกว่า JPG เพราะเราสามารถปรับ White Balance และปรับสีภาพในคอมต่อได้ แต่ถ้าเกิดถ่าย RAW ไม่ได้ให้ตั้ง White Balance ที่ 3800K หรือตั้งเป็น Fluorescent ครับ

6. ปิด Long Exposure Noise Reduction เพราะเราจะได้ถ่ายต่อเนื่องได้ ไม่ต้องรอกล้องถ่าย Dark Frame เพื่อลด Noise ของแต่ละภาพ เราสามารถจัดการกับ Noise ตอนแต่งภาพทีหลังได้ครับ

7. Focus ใช้เป็น Manual และตั้งไปที่ Infinity ครับ หรือถ้าเอาชัวร์หน่อยก็คือเชคจาก Live view ว่าชัดหรือเปล่า

พอตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยเราก็ลงมือถ่ายรูปได้เลยครับ ถ่ายจนกว่าจะพอใจ แบตหมดหรือการ์ดเต็มก็ได้เลยครับ แล้วเดี๋ยวเราจะมาดูภาพกันครับว่าภาพที่ได้มา ถ่ายได้ฝนดาวตกอย่างที่ตั้งใจไว้หรือว่าจะเป็นเครื่องบินที่บินผ่านไปผ่านมาแล้วดันถ่ายติดแทนฝนดาวตก

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ถ่ายมาเป็นฝนดาวตก?

ขอบคุณภาพจาก Photographyblogger

            ภาพที่ถ่ายได้อาจจะมีเส้นๆแบบนี้เต็มไปหมดแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นฝนดาวตก ถ้าเป็นตัวอย่างที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ ไม่มีดาวตกซักดวงนึงเลยครับ เส้นที่เห็นๆนั้นเป็นเส้นของเครื่องบินและดาวเทียมที่เคลื่อนที่ผ่านไปผ่านมา เลยออกมาเป็นเส้นๆแบบนี้ แล้วแบบไหนหละถึงจะเรียกว่าเป็นฝนดาวตก

ขอบคุณภาพจาก Photographyblogger

            ถ้าเป็นอย่างภาพข้างบนนี้ เส้นที่เห็นเป็นดาวตกซึ่งเราจะเห็นความแตกต่างจากภาพก่อนหน้านี้คือตัวดาวตกจะมีหัวมีหาง มีการไล่เฉดความสว่าง และที่สำคัญคือมักจะมีสีเป็นสีต่างๆซึ่งจะไม่เหมือนกับไฟเครื่องบินที่มีสีเดียวและเป็นเส้นบางๆ สว่างเท่ากันตลอดเส้น แต่ภาพข้างบนนี้เป็นภาพที่ผ่านการ Process ใน Photoshop แล้วโดยนำเอาภาพแต่ละภาพมารวมกันเป็นภาพเดียว ทำให้เห็นดาวตกหลายๆดวงในภาพเดียว ภาพข้างล่างนี้จะเป็นภาพที่ถ่ายได้ตามปกติ คือมีฝนดาวตกแค่ 1-2 ดวงต่อภาพเนื่องจากเราไม่ได้ใช้ Shutter Speed ที่นานมากเพื่อที่จะไม่ให้ดาวที่อยู่พื้นหลังหมุนเป็นเส้นเพราะอาจจะไปบังดาวตกและทำให้แยกไม่ออกครับ

ขอบคุณภาพจาก Photographyblogger

แล้วถ้าอยากให้มีดาวตกหลายๆดวงในภาพเดียวจะทำอย่างไรดี?

ขอบคุณภาพจาก David Kingham

            ถ้าอยากได้ภาพที่มีดาวตกหลายๆดวงแบบนี้อาจจะต้องใช้ความช่วยเหลือของโปรแกรมตัดต่อภาพอย่าง Photoshop ซักเล็กน้อยโดยที่สามารถทำตามคลิปนี้ได้เลยครับ http://www.youtube.com/watch?v=u7JVwSX1iAg  เพียงเท่านี้เราก็จะได้ภาพฝนดาวตกสวยๆเก็บไว้ในคอลเลคชั่นภาพถ่ายละครับ

เคล็ดลับเล็กๆอีกนิดก่อนจะจบครับ

            อยากจะฝากไว้อีกซักน้อยนึงกฏ 500 ของการถ่ายรูปดาวครับ ช่างภาพบางคนเค้าจะยึดหลักตามกฏนี้เพื่อให้รูปที่ถ่ายมาดาวไม่เป็นเส้นแบบภาพนี้ครับ

Racing Stars by Andrew Stawarz, on Flickr

โดยกฏ 500 กล่าวไว้ว่า “ Shutter speed นานสุดที่ใช้ถ่ายภาพได้แล้วดาวจะไม่เป็นเส้นจะต้องไม่เกิน 500 / (ความยาวโฟกัส x Crop factor) หน่วยเป็นวินาที” หลายๆคนอาจจะงง กฏอะไรหว่า ต้องคิดเลขด้วย คิดยังไง จะลองยกตัวอย่างให้ดูเพื่อความเข้าใจครับ ถ้าหากใช้กล้องตัวคูณของ Nikon ถ่ายโดยที่ Crop factor(ตัวคูณ) ของ Nikon จะเท่ากับ 1.5 (Canon จะเป็น 1.6) โดยที่ใช้เลนส์ 10 มิลในการถ่ายภาพ ถ้าคิดตามสูตรนี้เราจะได้ว่า

500 / (10 x 1.5) = 33.3 (วินาที)

เราก็จะได้ Shutter speed เท่ากับ 33 วินาทีหรือถ้าตีเป็นตัวกลมๆก็คือ 30 วินาที โดยเราสามารถเอาค่านี้ไปใช้เป็นแนวทางในการถ่ายรูปได้เลย เราอาจจะลองถ่ายดูก่อนว่าเวลาเท่านี้ภาพ Over หรือ Under ไปหรือเปล่า ซึ่งเราจะต้องปรับใช้ตามสถานการณ์อีกที หรือถ้าใครไม่อยากคิดเลขจะดูตามนี้เลยก็ได้เหมือนกันครับ

ถ้าใช้ Shutter speed ไม่เกินจากนี้ดาวในภาพของเราก็จะคมเป็นจุดเหมือนดาวละครับ สำหรับวันนี้ก็ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้กับเคล็ดลับเล็กๆที่ไม่เล็ก ร่ายยาวกันหลายหน้าเลยทีเดียว หวังว่าทุกคนจะมีภาพสวยๆมาให้ชมนะครับ วันนี้ขอลาไปก่อนหละครับ สวัสดีครับ

ปล. ดูเหมือนท้องฟ้าวันนี้จะไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ พระจันทร์สว่าง+มีเมฆบางๆเต็มท้องฟ้าเลย T^T อาจจะทำให้ถ่ายภาพได้ยากพอสมควร หวังว่าฟ้าจะเป็นใจให้พวกเราได้เห็นฝนดาวตกสวยๆกันนะครับ แต่ถ้าท้องฟ้าไม่เป็นใจจริงๆ ยังไงช่วงต้นเดือนมกราคมจะมีฝนดาวตกควอดแดรนต์มาให้ชมกันครับ เดี๋ยวยังไงจะมีอัพเดทข่าวเพิ่มเติมแน่นอนครับ

ที่มา : PhotographybloggerDavidkinghamphotography และ Lightstalking

บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 18/12/2013

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save