Review Sony NEX-F3 Leave a comment

Review Sony NEX-F3

         เปิดตัวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกล้องดิจิตอล Mirrorless ตระกูล NEX ซึ่งเป็นกล้องที่ได้รับการตอบรับและถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีมาตั้งแต่รุ่นแรกๆ คือ NEX-3 และ NEX-5 และมีการพัฒนารูปลักษณ์และประสิทธิภาพการทำงานมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน และตอกย้ำความเป็นผู้นำแห่งตลาด Mirrorless ด้วยการเปิดตัว Sony NEX-7 ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่ยอดเยี่ยม และมีความละเอียดสูง ปรับควบคุมการทำงานต่าง ด้อย่างสะดวกรองรับการใช้งานหนักในระดับทืออาชีพได้เป็นอย่างดี จนทำให้หลายๆ คนให้ฉายา Sony NEX-7 ว่าเป็น King of Mirrorless กันเลยทีเดียว

         และโซนี่ตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดอีกครั้งด้วยการเปิดตัวกล้อง Mirrorless รุ่นใหม่ นั่นคือ Sony NEX-F3 ซึ่งวางตัวให้เป็นกล้องสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งานกล้องดิจิตอล พัฒนาต่อเนื่องจาก NEX-C3 โดยยังคงใช้เซ็นเซอร์ภาพแบบ APS HD CMOS และใช้หน่วยประมวลผล BIONZ ที่ช่วยให้ตัวกล้องตอบสนองการใช้งานที่รวดเร็ว และให้ไฟล์ภาพที่ใสเคลียร์ ปราศจาก Noise แม้จะถ่ายภาพที่ความไวแสงสูงๆ ก็ตาม

จุดเด่นของ Sony NEX-F3 

  • เซ็นเซอร์ภาพ APS-C แบบ Exmor APS HD CMOS
  • ความละเอียด 16.1 ล้านพิกเซล
  • หน่วยประมวลผล BIONZ
  • ปรับความไวแสงได้สูงถึง ISO 25600
  • บันทึกวิดีโอคุณภาพ High Definition
  • ฟังก์ชั่น Sweep Panorama 2D และ 3D
  • ฟังก์ชั่น Picture Effect
  • ฟังก์ชั่นใหม่ Clear Image Zoom
  • ฟังก์ชั่นใหม่ Auto Portrait Framing
  • จอมอนิเตอร์ขนาด 3 นิ้ว ปรับระดับได้ถึง 180 องศา

ประสิทธิภาพ และการออกแบบ

         Sony NEX-F3 ยังคงใช้เซ็นเซอร์แบบ APS HD CMOS ความละเอียด 16.1 ล้านพิกเซล ตัวกล้องตอบสนองการทำงานที่รวดเร็ว และให้ไฟล์ภาพคุณภาพสูง จากประสิทฑิภาพของ หน่วยประมวลผล BIONZ ตัวกล้องออกแบบใหม่ มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจาก NEX-C3 เดิมอยู่บ้าง แต่มีการออกแบบและวางตำแหน่งปุ่มและแป้นปรับควบคุมการทำงานต่างๆ อยู่ในตำแหน่งเดิม และตัวกล้องมีเหลี่ยมสันมากกว่ารวมทั้งมีความสูงกว่า NEX-C3 เล็กน้อย 

         สิ่งที่ Sony NEX-F3 โดดเด่นที่สุดคือ มีแฟลชขนาดเล็กในตัว เช่นเดียวกับกล้อง Mirrorless รุ่นพี่ NEX-7 มีไกด์นัมเบอร์ 6 ที่ ISO 100/เมตร แต่ถึงจะมีแฟลชในตัว แต่ก็ยังคงช่องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ด้านบนตัวกล้องเช่นเดียวกับ NEX-5N หรือ NEX-C3 เดิม อาทิ แฟลชเสริม หรือวิวไฟน์เดอร์แบบ EVF ด้วย

Sony NEX-F3 เป็นรุ่นที่สองต่อจาก NEX-7 ที่มีแฟลชในตัว

         อีกจุดหนึ่งที่ออกแบบแตกต่างจากกล้อง Mirrorless NEX รุ่นอื่นๆ คือจอมอนิเตอร์ของ Sony NEX-F3 ซึ่งยังคงเป็นแบบปรับระดับได้ ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 920,000 พิกเซล แต่มีความพิเศษกว่า Sony NEX รุ่น อื่นๆ คือสามารถพับขึ้นด้านบนได้ถึง 180 องศา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถถือกล้องถ่ายภาพ เพื่อถ่ายภาพตนเอง (Self Portrait) ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการกดชัตเตอร์และตั้งหน่วงเวลาถ่ายภาพ 3 วินาทีอัตโนมัติ หรือใช้ฟังก์ชั่น Smile Shutter ซึ่งเป็นการออกแบบที่ยอดเยี่ยมสำหรับใครๆ ที่ชอบถ่ายภาพสวยๆ ของตนเอง เพื่อลง Facebook หรือส่งอีเมล์ ซึ่งสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้สะดวกมากขึ้น

จอมอนีเตอร์ของ Sony NEX-F3 เป็นแบบปรับระดับได้เช่นเดียวกับ NEX รุ่นอื่นๆ และพิเศษที่สามารถพับขึ้นได้ถึง 180 องศา

         ทางด้านการวางตำแหน่งปุ่มควบคุมการทำงานต่างๆ นั้น Sony NEX-F3 ยังคงมีปุ่มและแป้นควบคุมเพียงไม่กี่ปุ่มเช่นเดียวกับ NEX รุ่น อื่นๆ และสามารถปรับตั้งปุ่มต่างๆเหล่านั้นให้เป็นคีย์ลัดสำหรับปรับตั้งการทำงาน ที่ใช้งานอยู่บ่อยๆ หรือต้องปรับเปลี่ยนค่าอยู่บ่อยๆ ได้ตามที่ต้องการ โดยเฉพาะปุ่มด้านล่างสุดหรือปุ่มซอฟท์คีย์ B และตรงกลางแป้นหมุนด้านหลัง หรือปุ่มซอฟท์คีย์ C ซึ่งค่า Default จะเป็นการเลือกโหมดถ่ายภาพ โดยผู้ใช้จะต้องปรับตั้งการทำงานจากเมนูการทำงานหลักของกล้องเสียก่อน

เมื่อปรับตั้งแล้ว สามารถเรียกให้เมนูต่างๆ เหล่านั้นโชว์ที่จอมอนิเตอร์ เพื่อการปรับเปลี่ยนค่าการทำงานที่ต้องการอย่างรวดเร็ว และคีย์ลัดต่างๆ เหล่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ หรือความเหมาะสมกับการใช้งานแบบต่างๆ ได้ โดยสามารถตั้งเมนูการทำงานได้สูงสุดถึง 7 เมนู (ปุ่มซอฟท์คีย์ C 5 เมนู, ปุ่มซอฟท์คีย์ B 1 เมนูและปุ่มปรับควบคุม 4 ทิศทางด้านขวาอีก 1 เมนู) อีกส่วนหนึ่งที่แตกต่างจาก Sony NEX-C3 คือสวิทช์เปิด-ปิดการทำงานแยกออกมาต่างหากจากปุ่มชัตเตอร์ ซึ่งวางตำแหน่งไว้ที่บนกริปมือจับ ส่วนสวิทช์เปิด-ปิดการทำงานจะอยู่บนตัวกล้อง

ปุ่มต่างๆ สามารถปรับตั้งให้เป็นคีย์ลัดเข้าสู่เมนูการทำงานได้อย่างรวดเร็ว

         Sony NEX-F3 ปรับเพิ่มความไวแสง ให้สูงขึ้นจากรุ่นเดิม โดยปรับได้ตั้งแต่ ISO 200 ถึง ISO 16000 รวมทั้งเลือกใช้งานแบบออโต้ความไวแสง ซึ่งกล้องจะปรับให้ตามความเหมาะสมตั้งแต่ ISO200-3200 ทางด้านไวท์บาลานซ์ปรับเลือกการทำงานได้ทั้งแบบออโต้ โดยกล้องจะปรับให้ตามความเหมาะสมในแต่ละสภาพแสงเช่นเดียวกัน และปรับตั้งเองตามสภาพแสงแบบต่างๆ 6 แบบ รวมทั้งปรับตั้งตามค่าองศาเคลวิน และปรับตั้งแบบ Preset ได้อีกด้วย

         โหมดถ่ายภาพของ Sony NEX-F3 ยังคงมีให้เลือกใช้งานได้ครบครันเช่นเดิม และเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่สำหรับถ่ายภาพบุคคล คือ Auto Portrait Framing ซึ่งกล้องจะทำการครอปจัดองค์ประกอบภาพให้ใหม่ ให้ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยกล้องจะบันทึกภาพลงในเมมโมรี่การ์ด 2 ภาพคือเป็นภาพต้นฉบับ 1 ภาพ และภาพที่ครอปจัดองค์ประกอบใหม่แล้ว 1 ภาพ ซึ่งช่วยให้มือใหม่ที่ยังไม่มีความชำนาญในการจัดองค์ประกอบมากนัก ได้ภาพที่มีองค์ประกอบกระชับ และน่าสนใจมากขึ้น

ฟังก์ชั่นใหม่ Auto Portrait Framing ถ่ายภาพบุคคลแบบง่ายๆ โดยกล้องจะจัดองค์ประกอบใหม่ให้อัตโนมัติ 

และบันทึกทั้งภาพต้นฉบับ และภาพที่จัดองค์ประกอบใหม่แล้ว

ภาพต้นฉบับ

ภาพที่กล้องครอปให้

ภาพต้นฉบับ (ซ้าย) และภาพที่กล้องครอปจัดองค์ประกอบให้ใหม่ (ขวา)

         ส่วนโหมดที่โดดเด่นอื่นๆ ยังคงเป็นโหมด iAuto ซึ่งในกล้อง Sony NEX-F3 นี้ แบ่งโหมด iAuto ออกเป็น 2 โหมดคือ โหมด iAuto ปกติ และ iAuto+ ซึ่งปรับเพิ่มการทำงานจากโหมด iAuto เดิม โดยเพิ่มฟังก์ชั่น Auto Scene Selection และ Auto HDR เข้ามา ซึ่งกล้องจะประเมินรูปแบบภาพที่ผู้ใช้ต้องการ และปรับเลือกรูปแบบการถ่ายภาพที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้มั่นใจได้ว่าได้ภาพที่สวยงามตามที่ต้องการ โดยถึงเป็นมือใหม่ ก็ไม่ต้องพะวงว่าจะปรับตั้งกล้องถูกต้องหรือไม่

โหมด Superior Auto กล้องจะประเมินภาพที่ผู้ใช้ต้องการอย่างชาญฉลาด และปรับตั้งรูปแบบการถ่ายภาพที่เหมาะสมให้โดยอัตโนมัติ

         ความโดดเด่นของโหมดออโต้ทั้งสองแบบคือสามารถปรับเปลี่ยนค่าที่กล้องตั้งให้ได้หลายแบบ อาทิ Background Defocus ปรับฉากหลัง ให้เบลอหรือคมชัดตามที่ต้องการ, Brightness ปรับเพิ่มหรือลดความสว่าง, Color ปรับโทนสีของภาพ, Vividness ปรับเพิ่มหรือลดความสดของภาพ รูปแบบของฟังก์ชั่นต่างๆ ออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายๆ ถึงแม้ว่าผู้ใช้จะเป็นมือใหม่ หรือยังไม่เข้าใจในด้านการถ่ายภาพมากนัก ก็สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก โดยการหมุนวงแหวนควบคุมด้านหลังตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา และดูสเกลหรือการเปลี่ยนแปลงของเอฟเฟคต์ต่างๆที่จอมอนิเตอร์ จนได้ค่าตามที่ต้องการ

Sony NEX-F3 ยังคงมี Picture Effect แบบต่างๆ ให้ใช้งานได้มากมายหลายรูปแบบ

         นอกจากนี้ยังปรับเพิ่มรูปแบบ Picture Effect อีก 11 แบบ อาทิ Toy Camera, Pop Color, Posterization: Color, Posterization: B/W, Retro, Soft High Key, Partial Color Red, Partial Color Green, Partial Color Blue, Partial Color Yellow และ High Contrast Monochrome ซึ่งช่วยให้สร้างสรรค์รูปแบบภาพที่แตกต่างจากการถ่ายภาพปกติ ทำให้ถ่ายภาพได้สนุกสนานมากขึ้นอีกด้วย  

         หรือใครจะเลือกใช้แบบ Scene Mode ซึ่งเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปก็ด้เช่นเดียวกัน โดย Scene Mode ที่โดดเด่นคือ Handheld Twilight ซึ่งเหมาะสำหรับถ่ายภาพในยามค่ำคืน หลังพระอาทิตย์เพิ่งจะลับขอบฟ้า โดยไม่ต้องการใช้แฟลช เพื่อเก็บบรรยากาศแสงสีตามธรรมชาติ และช่วยให้ผู้ใช้สามารถถือกล้องถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพในสถานที่ที่มีแสงน้อยได้ โดยที่ยังคงได้ภาพที่คมชัด คุณภาพดี และปราศจาก Noise รบกวน ซึ่งกล้องจะลั่นชัตเตอร์ต่อเนื่องกัน 6 ภาพ จากนั้นจะนำทั้ง 6 ภาพมาประมวลผลใหม่ และบันทึกเป็นภาพเดียวที่มีความคมชัดสูงสุด และฟังก์ชั่น Handheld Twilight นี้ กล้องจะยึดเอาค่าการวัดแสง การปรับตั้งไวท์บาลานซ์ และการโฟกัสที่ช็อตแรกเป็นหลัก ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหว เพราะความแตกต่างของซับเจคต์ในเฟรมภาพ จะทำให้กล้องเกิดการประมวลผลผิดพลาดได้

         ส่วนผู้ที่ต้องการปรับควบคุมการทำงานต่างๆ ของ Sony NEX-F3 ทั้งหมดด้วยตนเอง ก็สามารถเลือกใช้โหมดถ่ายภาพในกลุ่ม Advanced ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพมาแล้วบ้าง อาทิ โหมด P, S, A หรือ M ซึ่งโหมดถ่ายภาพในกลุ่มนี้ สามารถเพิ่มเติม Picture Effect แบบต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน แล้เพิ่มเติมรายละเอียดของ Picture Effect ได้มากกว่าโหมด iAuto อีกด้วย โดยกดปุ่ม Option หรือปุ่มซอฟท์คีย์ B เพื่อเลือกฟังก์ชั่นย่อยๆ ของ Picture Effect นั้นๆ เช่น Partial Color เมื่อต้องการเปลี่ยนโทนสีอื่นๆ จะต้องกดปุ่ม Option จากนั้นก็หมุนแป้นควบคุมด้านหลังเพื่อเลือดสีใหม่ และกดปุ่ม OK เพื่อยืนยันการทำงาน และถ่ายภาพต่อไปได้เลย  

ปรับโทนผิวและริ้วรอยต่างๆ ให้นุ่มนวลและจางลงด้วย Soft Skin Effect

         ฟังก์ชั่น Soft Skin Effect ยังมีให้ใช้งานอยู่เช่นเดียวกับ NEX รุ่นอื่นๆ ซึ่งกล้องจะปรับริ้วรอยต่างๆ บนใบหน้าให้เนียนสวย ไร้ริ้วรอย โดยไม่ต้องปรับแต่งด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ยุ่งยากอีกต่อไป ผู้ใช้สามารถเลือกระดับของเอฟเฟคต์ได้ 3 แบบคือ Low, Medium และ High ส่วนโหมดถ่ายภาพพาโนรามาแบบ Sweep Panorama เลือกบันทึกได้ทั้งแบบ 2 มิติปกติ และแบบ 3 มิติ ซึ่งจะต้องเปิดชมภาพ 3 มิติกับโทรทัศน์ระบบ 3 มิติ ผ่านอินเตอร์เฟส HDMI โดยฟังก์ชั่น Sweep Panorama ออกแบบให้บันทึกได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับโหมดถ่ายภาพอื่นๆ โดยหลังจากที่เลือกโหมดถ่ายภาพพาโนรามาแล้ว ผู้ใช้แค่เพียงกดปุ่มชัตเตอร์ และแพนกล้องไปตามทิศทางของลูกศรชี้เท่านั้น เมื่อจบการบันทึก ซึ่งจะสังเกตได้จากแถบสีเทา กล้องจะรวมภาพให้เป็นภาพพาโนรามาที่สมบูรณ์แบบภาพเดียวโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ความพิเศษของโหมดพาโนรามาของกล้อง NEX นี้คือ สามารถเลือกทิศทางของการแพนกล้องได้จากด้านซ้ายไปด้านขวา แพนจากด้านขวาไปด้านซ้าย แพนจากด้านบนลงด้านล่าง หรือแพนจากด้านล่างขึ้นด้านบนได้เช่นเดิม

Sweep Panorama สามารถเลือกทิศทางการแพนกล้องได้หลายแบบ

       Sony NEX-F3 ยังคงมีฟังก์ชั่นที่ช่วยปรับขยายไดนามิกเรนจ์ให้กว้างขึ้น และแสดงรายละเอียดส่วนมืดและส่วนสว่างได้ครบถ้วน โดยเลือกใช้ 2 รูปแบบคือ DRO หรือ Dynamic Range Optimizer และ HDR หรือ High Dynamic Range ซึ่งทั้งสองฟังก์ชั่นใช้งานได้เฉพาะกับโหมดโปรแกรม (P), โหมดออโต้ความเร็วชัตเตอร์ (A), โหมดออโต้รูรับแสง (S) และโหมดแมนนวล (M) รวมทั้งต้องถ่ายภาพด้วยฟอร์แมท JPEG เท่านั้น

Auto HDR เลือกระดับของเอฟเฟคต์ได้ตั้งแต่ 1-6 EV และกล้องจะบันทึกทั้งภาพต้นฉบับ (ซ้าย) และภาพที่ปรับแก้ไขแล้ว (ขวา)

            ฟังก์ชั่น DRO กล้องจะบันทึกภาพที่ได้รับการปรับขยายไดนามิกเรนจ์แล้วเพียงภาพเดียว ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกระดับของการปรับขยายไดนามิกเรนจ์ได้ 5 ระดับจาก Level 1-5 ตามความเหมาะสมกับสภาพแสงหรือการใช้งานในแต่ละรูปแบบ ส่วนฟังก์ชั่น Auto HDR จะปรับขยายไดนามิกเรนจ์ของภาพให้กว้างมากกว่าปกติเช่นเดียวกัน โดยกล้องจะบันทึกภาพ 3 ภาพ จากการกดชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว โดยทั้ง 3 ภาพ จะเก็บรายละเอียดแตกต่างกันไป คือ บันทึกรายละเอียดในส่วนที่เป็นเงามืด บันทึกรายละเอียดในส่วนที่สว่าง และบันทึกรายละเอียดในส่วนที่เป็นโทนกลางๆ จากนั้นกล้องจะนำภาพทั้ง 3 ภาพมาประมวลผลอีกครั้ง ก่อนที่จะรวมเป็นภาพเดียว และบันทึกลงในเมมโมรี่การ์ด โดยกล้องจะบันทึกภาพที่ได้ลงในเมมโมรี่การ์ดทั้งภาพที่ปรับขยายไดนามิกเรนจ์แล้ว และบันทึกภาพต้นฉบับ ที่ไม่มีการปรับแก้ด้วยคู่กันทั้งสองภาพ และผู้ใช้สามารถปรับตั้งความแตกต่างระหว่างภาพทั้ง 3 ภาพได้แบบ Auto ซึ่งกล้องจะประเมินค่าให้ตามความเหมาะสม หรือผู้ใช้ตั้งเองได้ตั้งแต่ 1EV ไปจนถึง 6EV ตามลักษณะภาพและความเปรียบต่างของภาพตามที่ต้องการ

เมื่อเลือกใช้งานกับเลนส์แมนนวลโฟกัสผ่านอะแดปเตอร์ จะต้องตั้งที่ตัวกล้องที่เมนู Release without  Lens เสียก่อนจึงจะใช้งานได้

เพราะเมื่อกล้องหาเลนส์ไม่เจอ กล้องจะไม่ทำงาน ดังนั้นจึงต้องตั้งให้กล้องทำงานโดยไม่ต้องมีเลนส์

            Sony NEX-F3 ก็เช่นเดียวกับกล้อง Mirrorless NEX รุ่นอื่นๆ ที่สามารถนำเลนส์ของกล้อง SLR มาใช้งานได้โดยผ่านอะแดปเตอร์ ซึ่งมีให้เลือกมากมายทีเดียว โดยสำหรับของโซนี่เองมีให้เลือกใช้งาน 2 แบบคือ LA-EA1 และรุ่นล่าสุด LA-EA2 ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษที่มีมอเตอร์โฟกัสในตัวอะแดปเตอร์ และมีการทำงานเช่นเดียวกับกล้อง SLT คือมีกระจกกึ่งโปร่งแสงสำหรับสะท้อนแสงไปยังมอเตอร์โฟกัส ดังนั้นจึงทำให้สามารถใช้งานระบบออโต้โฟกัสกับเลนส์ออโต้โฟกัส เมาท์ A ได้ทั้งหมด ต่างจาก LA-EA1 ที่ใช้งานระบบออโต้โฟกัสได้เฉพาะกับเลนส์ที่มีมอเตอร์ในตัว (SAM, SSM) เท่านั้น ส่วนเลนส์ AF ทั่วๆ ไปจะต้องใช้หมุนโฟกัสเองแบบแมนนวลเท่านั้น

อะแดปเตอร์สำหรับใช้งานกล้อง NEX กับเลนส์เมาท์ A ของโซนี่และมินอลต้า

         นอกจากเลนส์เมาท์ A แล้ว ค่ายผู้ผลิตอิสระ ยังออกแบบอะแดปเตอร์เพื่อให้นำเลนส์ค่ายอื่นๆ มาใช้งานกับกล้อง Mirrorless NEX อีกมากมาย หลานรูปแบบและระดับราคา ซึ่งการใช้งานกับเลนส์ค่ายอื่นๆ ทั้งหมด รวมทั้งเลนส์แมนนวลโฟกัสเดิม จะต้องใช้ปรับหมุนโฟกัสเองแบบแมนนวลทั้งหมด ซึ่งกล้องตระกูล NEX รุ่นหลังๆ ตั้งแต่ NEX-C3 ขึ้นไปจะมีฟังก์ชั่น Peaking สำหรับช่วยเรื่องการโฟกัส นอกเหนือจากการปรับซูมขยายจุดโฟกัสขึ้นมา โดยเมื่อปรับโฟกัสเข้าตามตำแหน่งที่ต้องการ กล้องจะโชว์แถบสีตามขอบๆ ของซับเจคต์ที่โฟกัสชัด และแถบสีนี้สามารถเลือกได้ 3 สี คือ สีขาว สีเหลือง สีแดง และเลือกระดับความเข้มของแถบสีได้ 3 ระดับคือ Low, Medium และ High

ฟังก์ชั่น Peaking ช่วยให้ใช้งานกับเลนส์แมนนวลได้สะดวกมากทีเดียว โดยกล้องจะโชว์แถบสี ณ บริเวณที่คมชัด

โดยเลือกแถบสีได้ 3 สี และเลือกระดับของการแสดงผลได้ 3 ระดับ

         นอกจากนี้ฟังก์ชั่น Peaking ยังสะดวกกับการบันทึกวิดีโอ ซึ่งไม่สามารถซูมขยายจุดโฟกัสให้ใหญ่ขึ้นมาได้เหมือนกับภาพนิ่ง ดังนั้นจึงช่วยได้เป็นอย่างดีทีเดียว นอกจากการเปิดใช้งานฟังก์ชั่น Peaking แล้ว เมื่อใช้กับเลนส์ค่ายอื่น หรือเลนส์แมนนวลโฟกัส จะต้องเปิดเมนูการทำงาน Release Without Lens ในเมนู Set Up ให้เป็น Enable เสียก่อน จึงจะใช้งานกล้องกับเลนส์อื่นๆ ได้การปรับตั้งค่าการทำงานของกล้อง นอกเหนือจากตั้งจากปุ่มมาตรฐานที่ตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิตแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถปรับเปลี่ยน และเลือกตั้งค่าการทำงานใหม่เพื่อให้ใช้กล้องได้สะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับ NEX-C3NEX-5N หรือ NEX-7 โดยผู้ใช้สามารถตั้งปุ่มการทำงานต่างๆ ให้เป็นคีย์ลัด สำหรับปรับตั้งเมนูการทำงานที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ โดยสามารถปรับตั้งปุ่มซอฟท์คีย์ B 1 เมนู ปรับตั้งปุ่มที่วงแหวนควบคุมด้านขวาตั้งได้ 1 เมนู และปุ่มซอฟท์คีย์อีก 5 เมนู รวมเป็นทั้งหมด 7 เมนู

ปุ่ม Soft Key C สามารถตั้งให้เป็นคีย์ลัด เพื่อใช้ปรับเปลี่ยนค่าการทำงานต่างๆ อย่างรวดเร็ว

เมื่อปรับตั้งแล้ว และกดปุ่ม Soft Key C เมนูที่ปรับตั้งจะโชว์ขึ้นมาที่จอมอนิเตอร์

         การตั้งค่าต่างๆ เหล่านี้ ผู้ใช้สามารถตั้งได้อย่างอิสระตามความถนัดในการรวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาอีกด้วย สำหรับการตั้งค่าเหล่านี้ จะต้องเข้าไปตั้งจากเมนู Set Up เลือกเมนู Custom Key Setting ในขั้นแรกจะมีเมนูย่อยให้เลือก 3 เมนูคือ Right Key Setting, Soft Key B Setting และ Soft Key C Setting สำหรับปุ่ม Soft Key C ค่า Default จะกำหนดให้เป็นปุ่มเลือกโหมดถ่ายภาพ การปรับตั้งจะต้องเปลี่ยนจากค่ามาตรฐานให้เป็น Custom และเมนูย่อยๆ อีก 5 เมนู ซึ่งเป็นสีเทาๆ ในครั้งแรก จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้มขึ้นมา ซึ่งแสดงว่าสามารถปรับตั้งค่าของปุ่มต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ เมื่อปรับตั้งเสร็จแล้ว ถ้ากดปุ่ม Soft Key C เมนูที่ปรับตั้งไว้ทั้ง 5 เมนู จะโชว์ที่จอมอนิเตอร์ ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ

         Sony NEX-F3 บันทึกวิดีโอด้วยคุณภาพ Full HD ฟอร์แมท AVCHD สำหรับการนำไปปรับแต่งใช้งานระดับสูง และฟอร์แมท MPEG 4 สำหรับการเปิดชมจาก HDTV หรือจากเครื่องเล่น MP4 ทั่วไป รวมทั้งโปรแกรมเปิดชมภาพจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบบันทึกวิดีโอออกแบบให้ใช้งานง่ายๆ จากปุ่มบันทึกบนตัวกล้อง โดยการกดเพื่อบันทึก และกดอีกครั้งเพื่อหยุดบันทึก โหมดวิดีโอจะบันทึกแบบอัตโนมัติ แต่ผู้ใช้สามารถปรับเพิ่มหรือลดความสว่างได้ด้วยปุ่มชดเชยแสง หรือเพื่อความไวแสง เมื่อสภาพแสงน้อยเกินไปได้ในขณะที่กำลังบันทึก รวมทั้งเพิ่มฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น Picture Effect ได้เช่นเดียวกับโหมดถ่ายภาพนิ่ง

ส่วนต่างๆ ของตัวกล้อง

สรุปผลการใช้งาน

         สำหรับ Sony NEX-F3 เป็นกล้องที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มเติมจาก NEX C3 ดังนั้นจึงมีฟังก์ชั่นการทำงานใหม่ๆ มากขึ้น ตัวบอดี้ออกแบบใหม่ มีขนาดที่สูงกว่า NEX-C3 จุดเด่นๆ เลยคือจอมอนิเตอร์ขนาด 3 นิ้ว ที่ปรับระดับได้ถึง 180 องศา เรียกได้ว่าพับขึ้นด้านบนให้มองจากด้านหน้ากล้องได้เลย ใช่แล้วครับ เพราะออกแบบเอาไว้สำหรับถ่ายภาพตัวเองยังไงล่ะครับ

         นอกจากพับขึ้นได้แล้ว Sony NEX-F3 ยังเพิ่มเติมฟังก์ชั่นที่ตอบสนองการใช้งานของจอมอนิเตอร์ นั่นคือโหมดถ่ายภาพบุคคล ที่กล้องจะครอปตัดส่วน ให้องค์ประกอบสมบูรณ์มากขึ้นดุจผลงานของมืออาชีพ เมื่อปรับจอขึ้นด้านบน กล้องจะปรับตั้งหน่วงเวลา 3 วินาทีให้อัตโนมัติ ให้เวลาคุณเล็งกล้องและโพสท่าสวยได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถตั้งการทำงานแบบ Smile Shutter ซึ่งกล้องจะลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพโดยอัตโนมัติ เมื่อตรวจจับรอยยิ้มได้ สะดวกกับการใช้งานไปอีกแบบ

         จุดเด่นๆ ของ Sony NEX-F3 ที่ผมชอบยังคงเป็นการปรับตั้งเมนูลัด ที่เรียกมาใช้งานได้อย่างสะดวกจากปุ่มต่างๆ โดยไม่ต้องเข้าไปปรับตั้งในเมนูให้ยุ่งยากและเสียเวลา โดยผมสามารถปรับตั้งค่าคีย์ลัดตามที่ต้องการได้ถึง 7 เมนู จากแป้นควบคุมแบบ 4 ทิศทางด้านขวา 1 เมนู จากปุ่มซอฟท์คีย์ B 1 เมนู และจากปุ่มซอฟท์คีย์ C อีก 5 เมนู และผมสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความถนัด หรือลักษณะการใช้งานได้ตลอดเวลา

         โดยการทำงานนี้ เลือกใช้ได้เฉพาะกับโหมดถ่ายภาพแบบ P, A, S และ M เท่านั้น การปรับตั้งทำได้โดยกดปุ่มเมนู เลือกเมนู Set up เลือกเมนูย่อย Custom Key Setting หมุนวงแหวนควบคุมมาที่ตำแหน่งของแต่ละปุ่ม จากนั้นกดปุ่มซอฟท์คีย์ C กล้องจะโชว์ค่าที่สามารถปรับตั้งได้ อาทิ การปรับตั้งความไวแสง การปรับตั้งไวท์บาลานซ์ การปรับตั้งไดนามิกเรนจ์ หรือการปรับตั้ง Creative Style เป็นต้น สำหรับการปรับตั้งปุ่ม C ซึ่งสามารถเลือกปรับตั้งเมนูการทำงานได้ 5 เมนู และจะต้องเลือกการปรับตั้งการทำงานของปุ่มนี้ให้เป็น Custom เสียก่อน จากนั้นจึงจะตั้งค่า Custom 1-5 ได้ และเช่นเดียวกับปุ่มอื่น ค่า Custom 1 ถึง 5 นี้เลือกปรับตั้งเป็นคีย์ลัดใดๆ ก็ได้เช่นกัน และหลังจากที่ปรับตั้งเสร็จแล้ว เมื่อกดปุ่มซอฟท์คีย์ C ทั้ง 5 เมนู จะโชว์ที่จอมอนิเตอร์ ผมก็เพียงหมุนวงแหวนเลือกเมนูที่ต้องการและกดปุ่มซอฟท์คีย์ C อีกครั้ง กล้องจะโชว์เมนูที่เลือก และผมสามารถหมุนเปลี่ยนค่าที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

            สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเลนส์แมนนวลโฟกัส Sony NEX-F3 ก็มีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น โดยอันดับแรกจะต้องตั้งเมนูการทำงานให้ทำงานโดยไม่มีเลนส์เสียก่อน และสำหรับการปรับโฟกัสนั้น กล้องมีฟังก์ชั่น MF Assist สำหรับช่วยในการโฟกัส ซึ่งสามารถปรับซูมขยายภาพได้ 7.5% และ 15% เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการโฟกัสมากขึ้น โดยปุ่ม MF Assist คือปุ่มซอฟท์คีย์ B ซึ่งออกแบบให้ใช้งานได้สะดวกทีเดียว นอกจากนี้ยังมีเมนู Peaking ซึ่งกล้องจะโชว์แถบสีตามขอบของซับเจคต์เมื่ออยู่ในโฟกัส ช่วยให้การถ่ายภาพด้วยการปรับโฟกัสเอง หรือการบันทึกวิดีโอสะดวกขึ้นอีกมากทีเดียว

            สำหรับกล้อง NEX รุ่นก่อนๆ นี้ จะไม่มีแฟลชในตัว ยกเว้นรุ่นท๊อป Sony NEX-7 แต่กับ Sony NEX-F3 เป็นกล้อง NEX ตัวที่สองที่มีแฟลชในตัว ซึ่งก็คล้ายๆ กับที่มีอยู่ในกล้อง Sony NEX-7 เช่นเดียกัน ช่วยให้สะดวกกับการถ่ายภาพแบบต่างๆ อาทิ การฟิลแฟลชลบเงา หรือสร้างประกายตา เป็นต้น แต่ถ้าหากว่าต้องการแฟลชเสริม ก็มีช่องสำหรับติดกับแฟลชหรือวิวไฟน์เดอร์อิเลกทรอนิกส์ ได้เช่นเดียวกับ NEX รุ่นก่อนๆ นี้ การออกแบบตัวกล้องนั้นก็ถือว่าจับได้ถนัดมือมากกว่า NEX-C3 โดยมีสันกริปที่นูนสูงขึ้นมาพอสมควร ตำแหน่งปุ่มชัตเตอร์อยู่บนสันกริป ทำให้ไม้ต้องเอื้อมนิ้วมากดเหมือนกับอยู่บนตัวกล้อง ซึ่งช่วยให้การจับถือควบคุมถนัดมือมากขึ้นทีเดียว

จุดที่ชอบ ในความคิดเห็นส่วนตัว

  • ไฟล์ภาพคุณภาพสูง ใสเคลียร์ ไม่มี Noise รบกวนมากนัก
  • จอมอนิเตอร์ปรับระดับได้ ปรับถ่ายตัวเองได้
  • ฟังก์ชั่นและลูกเล่นต่างๆ ครบถ้วน
  • ออกแบบให้ปรับคีย์ลัดได้หลายเมนู
  • แยกช่องแบตเตอรี่กับเมมโมรี่การ์ด 
  • ออกแบบให้ตั้งคีย์ลัดเข้าเมนูหลายเมนู ทำให้ปรับตั้งกล้องได้สะดวกขึ้น
  • กริปจับได้กระชับมือดี

จุดที่ไม่ชอบ ในความคิดเห็นส่วนตัว           

  • วัสดุที่ใช้ทำตัวกล้องดูบอบบางไปหน่อย
  • ต้องชาร์จแบตเตอรี่จากตัวกล้อง (ไม่มีแท่นชาร์จมาให้ด้วย)
  • จอปรับขึ้นได้อย่างเดียว ปรับก้มไม่ได้มาก

ข้อมูลจำเพาะของ Sony NEX-F3 
เซ็นเซอร์ภาพ                  Exmor APS HD CMOS ขนาด 23.4 x 15.6 มม.

ความละเอียด                   16.1 ล้านพิกเซล effective

File Format                    RAW, JPEG, RAW+JPEG
โหมดบันทึกภาพ              iAuto, iAuto+, Scene Mode, Anti Motion Blur, Sweep Panorama,

Picture Effect, โปรแกรม (P), ออโต้รูรับแสง (S), ออโต้ความเร็วชัตเตอร์ (A), แมนนวล (M) และวิดีโอ

วิดีโอ                             Full HD 1080p

ชดเชยแสง                      +/-2 EV แบ่งละเอียดขั้นละ 1/3EV

ไวท์บาลานซ์                   Auto, ปรับตามสภาพแสง 9 แบบ สามารถปรับชิฟท์ได้อีก, ปรับตามองศา
เคลวิน และ Custom

ความไวแสง                    ออโต้ และปรับเอง ISO 200-16000

ออโต้โฟกัส                     จุดโฟกัส 25 จุด

แฟลชในตัว                     ไกด์นัมเบอร์ 6 ที่ ISO100/เมตร

จอมอนิเตอร์                    TFT Xtra Fine LCD ขนาด 3 นิ้ว 920,000 พิกเซล ปรับระดับได้

เมมโมรี่การ์ด                   MS Pro Duo, MS Pro-HG Duo, SD, SDHC และ SDXC Card

แบตเตอรี่                        Lithium-Ion NP-FW50

ขนาด                             117 x 67 x 42 มม.
น้ำหนัก                          314 กรัม (รวมแบตเตอรี่)

จัดจำหน่ายโดย บริษัท โซนี่ไทย จำกัด โทร. 0-2715-6100, www. sony.co.th

เรื่องและภาพโดย พีร วงษ์ปัญญา

ไฟล์ภาพตัวอย่างของ Sony NEX-F3

ทดสอบ Noise ที่ความไวแสงต่างๆ 

ISO200

ISO400

ISO800

ISO1600  

ISO3200   

ISO6400  

ISO12800 

ISO16000 

บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 04/07/2012

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save