รีวิว Canon Powershot S90

รีวิว Canon Powershot S90 Leave a comment

วันนี้เราจะมารีวิว Canon Powershot S90 เพิ่งเปิดตัวไปพร้อมๆกับ G11 และล่าสุดก็เพิ่งมีสินค้าเข้ามาหมาดๆ ทาง Zoom Camera ก็เลยจับมาทดสอบให้ดูกัน ว่าพอจะสูสีกับ G11 ได้อย่างที่คาดหวังมั้ย นอกจากนั้นก็ยังเปรียบเทียบกับ Panasonic LX3 ให้ดูข้อดีข้อเสียด้วย

Powershot S90 – คุณสมบัติทางเทคนิค

  • ความละเอียด 10 ล้านพิกเซล
  • เลนส์ซูม 28-105mm (เทียบเท่าฟอร์แมท 35mm)
  • ระบบป้องกันภาพสั่นไหว (optical image stabilization)
  • จอภาพ LCD ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 461,000 dots
  • ปรับแต่งแมนนวลได้ครบ มีโหมด P, A, S, M, C ครบ

ที่กล่าวไปเป็นคุณสมบัติของ S90 ที่เรียกได้ว่าไม่ได้แปลกใหม่อะไรนัก อาจพบได้ในกล้องคอมแพครุ่นอื่นๆ แต่ที่โดดเด่นมากๆ ได้แก่

  • Canon S90 ใช้ CCD เซนเซอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากล้องคอมแพค เทียบเท่า G11 และเป็นรุ่น high sensitivity sensor ซึ่งตอนที่ทดสอบ G11 ก็เห็นชัดๆแล้วว่าให้คุณภาพดี และ noise ต่ำอย่างที่อ้างไว้จริงๆ
  • S90 มีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับบรรดากล้องคอมแพคไฮเอนด์ทั้งหลาย ถือว่าเป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาที่สุดโดยที่ยังคงฟังก์ชั่นการปรับแต่งแบบมืออาชีพไว้อย่างครบถ้วน
  • รูรับแสงกว้างสุด f/2.0 ที่ช่วง wide angle ให้แสงมากกว่า f/2.8 ถึงสองเท่า ช่วยลดปัญหาภาพเบลอเมื่อถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้เพราะสามารถใช้ความไวชัตเตอร์ได้สูงขึ้น และยังสามารถใช้เทคนิคชัดตื้นหรือหน้าชัดหลังเบลอได้ดีกว่า
  • Lens Control Ring ถือเป็นปุ่มควบคุมแบบใหม่ที่เพิ่งมีใช้ใน S90 เป็นรุ่นแรก เป็นวงแหวนอยู่ด้านหน้าของกล้อง รอบๆเลนส์ สามารถหมุนได้เพื่อปรับค่าต่างๆ โดยที่เราสามารถตั้งค่าได้ว่าต้องการปรับค่าอะไร เช่น ซูม ชดเชยแสง ISO ปรับความไวชัตเตอร์ หรือปรับค่ารูรับแสง เป็นต้น ช่วยให้การปรับแต่งแบบแมนนวลทำได้ง่ายขึ้น เพราะปกติกล้องขนาดเล็กมักจะมีปุ่มให้ปรับไม่มาก ต้องเข้าไปในเมนูเพื่อปรับค่าต่างๆ ซึ่งสำหรับผู้ใช้งานแบบก้่าวหน้าก็อาจไม่สะดวก

ไหนๆพูดถึงสเปก Canon S90 ก็จะขอเปรียบเทียบกับรุ่นที่ใกล้เคียงกันไว้เลย ซึ่งก็ได้แก่ Canon G11 และ Panasonic LX3

รีวิว Canon Powershot S90
รีวิว Canon Powershot S90

ขนาดรูปร่างของ S90 นั้นจัดได้ว่าเป็นกล้องคอมแพคระดับไฮเอ็นด์ที่เล็กและเบาที่สุดซึ่งหากเปรียบเทียบกับ G11 และ LX3 ก็จะเห็นได้ชัดเจน

รีวิว Canon Powershot S90

หากเปรียบเทียบสเปกของทั้ง 3 รุ่น จะพบจุดที่แตกต่างดังนี้

  • ความละเอียดภาพ 10 ล้านพิกเซล และขนาดของ CCD นั้นเรียกได้ว่าเทียบเท่ากันทั้ง 3 รุ่น ที่ประมาณ 1/1.7″
  • ช่วงซูม ระยะเทเลของ Canon S90 ที่ 105mm ถือว่ากลางๆ น้อยกว่า G11 แต่ก็ยังมากกว่า LX3 แต่ระยะไวด์หรือมุมกว้างนั้น ยังสู้ LX3 ที่ 24mm ไม่ได้
  • เรื่องรูรับแสงนั้น S90 ถือว่าดีที่สุดในบรรดากล้องคอมแพคแล้ว f/2.0 เท่ากับ LX3 และดีกว่า G11 ที่ f/2.8
  • การถ่ายภาพต่อเนื่องของ S90 ถือว่าค่อนข้างช้า 0.9 ภาพต่อวินาที ในขณะที่ LX3 ทำได้ถึง 2.5fps สูงสุด 8 ภาพ แต่ S90 ได้เปรียบตรงที่ถ่ายได้จนเต็มหน่วยความจำเลย
  • S90 และ LX3 ไม่มีช่องมองภาพเนื่องมาจากขนาดกล้องที่เล็กและจอที่ใหญ่ถึง 3 นิ้ว ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจำเป็นต้องใช้หรือไม่
  • การบันทึกภาพเคลื่อนไหวถือว่าน่าผิดหวัง ที่ S90 ไม่มีความละเอียดระดับ HD ให้เลือก ปรับตั้งได้สูงสุดที่ 640×480 มีเพียง LX3 ที่บันทึกได้ความละเอียดระดับ HD แต่กลับเป็น S90 และ G11 ที่มีช่องต่อ HDMI ส่วน LX3 ไม่มี
  • ขนาดของกล้อง S90 ถือว่าเล็กที่สุดและเบาที่สุดในบรรดาทั้ง 3 รุ่น
  • ส่วนเรื่องคุณภาพของภาพนั้นคงต้องดูที่ผลทดสอบ
    ถ้าดูโดยรวมแล้ว ทั้งสามรุ่นถือว่ามีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกัน ไม่มีรุ่นไหนชนะแบบเด็ดขาด

PowerShot S90 – การออกแบบ ขนาด รูปร่าง

รีวิว Canon Powershot S90

Canon S90 ออกแบบและประกอบได้เรียบ เล็ก ให้ความรู้สึกเฟิร์มแข็งแรง แต่ถ้าพูดตรงๆเรื่องความแข็งแรงก็ถือว่ายังเป็นรอง G11 และ LX3 นิดหน่อย สำหรับเรื่องการจับใช้งาน S90 มีการออกแบบปุ่มนูนด้านหลังที่ตำแหน่งพักนิ้วโป้งช่วยให้จับได้มั่นคงขึ้น แต่เนื่องจากด้านหน้าเรียบสนิทไม่มีสันกริปนูนขึ้นมาเลย การจับอาจจะไม่กระชับนักซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แลกกับขนาดและน้ำหนักที่พกพาสะดวกของ S90

ส่วนของแฟลชในตัวของ S90 จะอยู่ด้านบน ริมตัวกล้อง ไม่มีปุ่มกดให้เด้งขึ้นมาเนื่องจากเปิด-ปิดแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยการเลือกจากปุ่มในเมนู ตัวแฟลชจะยกขึ้นช้าๆเมื่อเปิด และเลื่อนลงเก็บเมื่อปิด ให้ความรู้สึกหรูเหมือนไฟหน้ารถสปอร์ต ไม่ใช่กระเด้งขึ้นแบบสปริงเหมือน LX3 แต่ก็ต้องระวังอย่าไปกดตัวแฟลชลงโดยตรงเพื่อบังคับให้ปิด

PowerShot S90 – การใช้งาน

การควบคุม

ปกติแล้ว อุปสรรคอย่างหนึ่งของกล้องคอมแพคขนาดเล็กที่ต้องปรับตั้งค่าต่างๆก็คือปุ่มสำหรับปรับมีไม่พอ ต้องเข้าไปปรับในเมนู ทำให้ไม่สะดวกคล่องตัว เช่น รูรับแสง ความไวชัตเตอร์ iso และอื่นๆ S90 ออกแบบแก้ปัญหานี้มาได้อย่างดีโดยใช้ปุ่ม S (shortcut) เป็นปุ่มอเนกประสงค์ให้ผู้ใช้ปรับตั้งกำหนดการทำงานเองได้ แล้วแต่ผู้ใช้แต่ละคนว่าส่วนมากมักจะใช้งานปุ่มใดมากกว่า เช่น ถ้าเป็นผมก็คงใช้เป็นปุ่ม AEL หรือล็อคความจำแสง บางคนอาจจะปรับ ISO บ่อยก็กำหนดให้ปุ่มนี้ใช้ปรับค่า ISO ก็ได้ การใช้งานปุ่ม S ร่วมกับวงแหวนหมุนด้านหลังและ Lens Ring Control ด้านหน้าเลนส์ ทำให้ S90 สามารถครอบคลุมการใช้งานได้ตั้งแต่ออโต้ล้วนๆไปจนแมนนวลได้เต็มรูปแบบได้อย่างคล่องตัว แต่มีข้อท้วงติงนิดนึงคือผมไม่ค่อยชอบเสียงของวงแหวน Lens Ring ที่ดังแก๊กๆๆเวลาหมุน อยากให้เป็นแบบเงียบๆมากกว่า น่าจะได้ความรู้สึกดีกว่า

รีวิว Canon Powershot S90

จากการทดลองใช้ S90 พบกว่า การทำงานร่วมกันของปุ่มทั้ง 3 ทำให้การปรับตั้งค่าในโหมดต่างๆทำได้คล่องมาก ในโหมด Auto และ P วงแหวนด้านหน้าจะใช้ปรับระยะซูม ซึ่งเป็นสเต็ปกระโดดไม่ต่อเนื่องเหมือนใช้คันโยกสำหรับซูม ก็เลยไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ ส่วนวงแหวนด้านหลังใช้ปรับค่าชดเชยแสง (EV) ในโหมด Tv Lens Control Ring ด้านหน้าจะเปลี่ยนหน้าที่ใช้ปรับค่าความไวชัตเตอร์ และในโหมด Av จะใช้ปรับรูรับแสง ส่วนในโหมด M วงแหวนด้านหน้าจะใช้ปรับรูรับแสงและด้านหลังใช้ปรับความไวชัตเตอร์ ซึ่งการปรับค่าโดยวงแหวนหรือปุ่มหมุนทั้งสองในลักษณะนี้แม้แต่กล้อง DSLR บางรุ่นยังมีให้แค่ตัวเดียวเท่านั้น (ในรุ่นเล็ก เช่น 1000D, 450D, 500D, D3000, D5000) ทำให้หากจะปรับทั้งสองค่าต้องใช้อีกนิ้วกดปุ่มอื่นค้างเอาไว้แล้วค่อยหมุน

การซูม และโฟกัส

Canon S90 ซูมไม่ค่อยไวเท่าไหร่ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับ SX20 is ซึ่งเป็นกล้อง super zoom 20X ที่ซูมได้เร็วมาก แต่เนื่องจากช่วงซูมของ S90 ไม่ได้เยอะมากมายอะไร ก็เลยไม่เป็นปัญหา ในเรื่องการโฟกัสทำได้เร็วตามมาตรฐาน แต่ข้อที่น่าจะทำได้ดีกว่านี้คือระยะมาโครอยู่ที่ประมาณ 5cm ซึ่งถ้าถ่ายวัตถุเล็กๆเช่นเหรียญบาทก็จะได้ไม่เต็มเฟรม จุดนี้ ทั้ง G11 และ LX3 ทำได้ดีกว่ามาก มีระยะมาโครเพียง 1cm เท่านั้น

เลนส์และช่วงซูม

ช่วงซูมเลนส์ของ S90 มีระยะซูมอยู่ที่ 28-105mm ซึ่งก็ถือว่ากลางๆ ได้ช่วงเลนส์มุมกว้างและครอบคลุมถึงเทเล จริงๆแล้วก็น่าจะครอบคลุมการใช้งานส่วนใหญ่ได้เพียงพอแล้ว แต่พอมาเปรียบเทียบกับ LX3 แล้วจะเห็นได้ว่า ช่วงเลนส์มุมกว้างที่ 24mm นั้นครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าพอสมควร แตกต่างกันชัดเจน แต่ช่วงเทเลของ LX3 ก็ค่อนข้างน้อยไปนิด ถ้าใช้งานอเนกประสงค์ S90 ก็น่าจะเหมาะกว่า

รีวิว Canon Powershot S90

โหมดอัตโนมัติ

ในโหมดอัตโนมัติ (Auto) ของ Canon S90 ก็เช่นเดียวกับกล้องแคนนอนรุ่นใหม่ๆ คือตัวกล้องสามารถเลือกเปลี่ยนโหมดให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์เองได้ โดยวิเคราะห์จากภาพในซีนนั้นๆ เช่น หากส่องกล้องไปใกล้ๆวัตถุ ก็จะเป็นโหมดมาโคร ถ้ายกขึ้นที่โล่งกลางแจ้ง ก็เป็นโหมดถ่ายวิว ตรงนี้ S90 ก็ทำได้ค่อนข้างถูกต้องไม่พบปัญหาอะไร แต่ความไวยังไม่เท่าโหมด iA ของ Panasonic 

จอ LCD

จอภาพของ S90 มีขนาด 3 นิ้ว คุณภาพถือว่าดีมาก เหมือนกับ G11 ภาพที่หน้าจอคมชัด สีสด มองเห็นชัดเจนไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ด้านข้าง หรือด้านบน-ล่าง ทั้งกลางแจ้งและที่มืด มี noise รบกวนน้อยมาก แต่คอนทราสต์ของสีบนจอค่อนข้างจัด ถ้ามองภาพที่มีส่วนสว่างและมืดแตกต่างกันมากๆ จะไม่เห็นรายละเอียดเล็กๆ คือส่วนมืดก็จะออกดำไปเลย ส่วนสว่างก็จะออกขาวไปเลย ทำให้เช็ครายละเอียดสีจากจอได้ลำบากหน่อย แต่ในไฟล์ภาพจริงๆยังคงเก็บรายละเอียดส่วนสว่างและมืดไว้ได้ หากเช็คในคอมพิวเตอร์จะเห็นแตกต่าง ถ้าเทียบกับจอ LCD ของ LX3 มุมมองจะจำกัดกว่า ความสว่าง ความสดของสีสันอาจไม่เท่า S90 แต่จะรักษารายละเอียดส่วนสว่างและมืดไว้ให้เห็นบนจอได้มากกว่า

PowerShot S90 – คุณภาพของภาพถ่าย

S90 – Outdoor Photography

ในการทดสอบถ่ายภาพกลางแจ้ง แสงสว่างเพียงพอ ไม่พบปัญหาอะไร จากภาพเป็นการถ่ายย้อนแสง ถ้าใช้โหมด P และตั้งค่า i-contrast เป็น auto จะช่วยให้เก็บรายละเอียดส่วนมืดได้ดีขึ้น 

รีวิว Canon Powershot S90

จากภาพตัวอย่าง โดยรวมไม่พบปัญหา Chromatic Aberation สังเกตุได้จากขอบเส้นของภาพขยาย 100% ที่แสดงส่วนสว่างที่มีคอนทราสต์ของภาพสูง แต่พบว่าความคมของภาพต่ำกว่าผลทดสอบของ G11 นิดหน่อย โดยเฉพาะที่ระยะเทเล

S90 – Lowlight Photography

ในการถ่ายภาพกลางคืน หรือที่แสงน้อย ปัญหาโดยทั่วไปมักเป็นเรื่องของ ความสว่างของภาพ ความสั่นไหวเนื่องมาจากความไวชัตเตอร์ช้าเกินไป และเรื่องของ noise จากการทดสอบ พบว่า S90 มีจุดเด่นที่ noise ค่อนข้างต่ำ ซึ่งก็เหมือนกับ G11 ทำให้ในโหมดอัตโนมัติกล้องสามารถใช้ค่า ISO ได้สูงถึง 1600 ทำให้ใช้ความไวชัตเตอร์ได้สูงขึ้น ช่วยลดอาการสั่นไหวจากความไวชัตเตอร์ได้การวัดแสงของ S90 ทำได้ดี แต่ White Balance มีเพี้ยนบ้างนิดหน่อยหากอยู่ในแหล่งกำเนิดแสงที่หลากหลาย สังเกตุจากภาพตัวอย่างที่ 2

รีวิว Canon Powershot S90

S90 – Noise Test

ในการทดสอบ noise ของ Canon S90 เราได้ทดสอบเปรียบเทียบกับ Lumix LX3 และได้นำผลที่เคยทดสอบของ G11 มาเปรียบเทียบให้ดูที่ค่า ISO ต่างๆ

รีวิว Canon Powershot S90

โดยสรุป เป็นไปตามที่คาดไว้ คือ Canon S90 ให้ภาพที่มี noise ต่ำมาก ที่ ISO 1600 คุณภาพยังอยู่ในระดับที่ใช้งานได้ ในขณะที่ LX3 เห็น noise ชัดเจนแล้ว และที่ 3200 ยิ่งแตกต่างกันชัดเจน แต่ก็มีจุดน่าสังเกตุเหมือนกับ G11 คือความคมของภาพจะลดลงไปด้วย คาดว่าอาจมาจากกระบวนการลด noise ของ S90 ทำให้สูญเสียรายละเอียดไปบ้าง ซึ่งสำหรับ LX3 ถึงแม้ noise จะมีให้เห็นมากกว่าที่ ISO สูงๆ แต่ความคมและรายละเอียดของภาพยังคงชัดเจนอยู่

Powershot S90 – สรุปผลการทดสอบ

 ข้อดี
+ ไม่มีกล้องโปรที่มีฟังก์ชั่นปรับแต่งได้ครบถ้วนแบบนี้ในขนาดและน้ำหนักที่เล็กกระทัดรัดเท่านี้อีกแล้ว
+ Lens Control Ring, ปุ่ม S (shortcut) และปุ่มหมุนด้านหลัง ช่วยให้การปรับตั้งทำได้ง่ายและสะดวกไม่แพ้กล้องใหญ่ๆ
+ รูรับแสงกว้างสุด f/2.0 ใช้งานได้หลายหลาย ถ่ายกลางคืนง่ายขึ้น ทำชัดตื้นดีกว่า
+ มีทุกฟังก์ชั่น ใช้งานได้ตั้งแต่ออโต้แบบเด็กยังถ่ายสวยจนถึงแมนนวลเต็มรูปแบบ
+ noise ในภาพที่ ISO สูงๆอย่าง 1600, 3200 ถือว่าต่ำมาก ใกล้เคียงกับ DSLR แต่ก็มีปัญหาเรื่องรายละเอียดและความคมชัดก็ถูกลดทอนไปบ้าง

 ข้อด้อย
– ไม่มี optical viewfinder หรือช่องมองภาพ ในบางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องใช้ เช่น มืดมากๆ หรือต้องการปิดจอประหยัดแบต
– ช่วงซูม 28-105mm จริงๆก็ไม่ใช่ข้อเสีย ออกจะดีด้วยซ้ำไป แต่เสียดายที่ไม่กว้างซัก 24mm เหมือน LX3 หรือกระทั่ง Ixus 200 is รุ่นใหม่
– บันทึกภาพเคลื่อนไหวความละเอียดสูงสุด 640×480 เหมือน G11 ทั้งๆที่รุ่นเล็กๆอย่าง Ixus ยังเป็น Hi-Def กันแล้ว
– ถ่ายภาพต่อเนื่องไม่ไวนัก 0.9fps เป็นข้อด้อยของ Canon มาแต่ไหนแต่ไร

คู่แข่งทางตรงของ PowerShot S90

ในท้องตลาดตอนนี้ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีคู่แข่งที่ชนกันตรงๆกับ S90 เลย เท่าที่เห็นก็น่าจะเป็น Panasonic Lumix LX3 ที่ใกล้เคียงเพราะขนาดตัวกล้องค่อนข้างเล็ก และถือเป็นกล้องระดับพรีเมียมในบรรดากล้องคอมแพค ถ้าเปรียบเทียบสองรุ่นนี้แล้ว ถือว่าผลัดกันแพ้ชนะในแต่ละด้าน โดยในเรื่องคุณภาพของไฟล์ภาพCanon S90 มี noise ที่ ISO สูงๆน้อยกว่า แต่ก็เสียเปรียบเรื่องความคมชัดที่ ISO สูง ในเรื่องเลนส์ LX3 ให้ภาพมุมกว้างกว่า แต่ S90 ก็ให้ระยะซูมเทเลที่ยาวกว่า

ส่วน Canon G11 นั้น ผมมองว่าอาจจะแตกต่างออกไปหน่อย เพราะเน้นการใช้งานแบบแมนนวลมากกว่าและประโยชน์ใช้สอยในเรื่องช่วงซูมมากกว่า

Canon Powershot S90

ถ้าถามว่า Canon S90 ให้คุณภาพเหมือน G11 เลยมั้ย จากที่ได้สัมผัส ผมคิดว่า 95% เพราะในการปรับตั้งจริงๆก็ยังมีบางส่วนที่ G11 ทำได้หลากหลายกว่า เช่น การโฟกัสแบบ 1 point นั้น G11 จะเลือกตำแหน่งไหนก็ได้ แต่ Canon S90 จะบังคับเฉพาะกลางเฟรมเท่านั้น นอกจากนั้นในแง่คุณภาพของภาพ ส่วนตัวผมมองว่า G11 ยังเหนือกว่านิดหน่อย แต่จุดแข็งของ S90 ก็คือเป็นกล้องโปรตัวเล็กที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้คล่องตัวมาก ถ้าได้เลนส์มุมกว้างซัก 24mm และมาโครซัก 1cm จะไม่มีกล้องคอมแพคตัวไหนเทียบได้เลย

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save