รีวิว Canon EOS R7

รีวิว Canon EOS R7 กล้อง Mirrorless APS-C ที่เร็วที่สุดของ Canon เวลานี้ Leave a comment

รีวิว Canon EOS R7 ซึ่งเป็นกล้อง Mirrorless APS-C จากทาง Canon ซึ่งความสามารถเรียกได้ว่าไม่ธรรมดา มีหลายอย่างที่ผมประทับใจในกล้องตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายวีดีโอ 4K 60fps แบบไม่ครอป พอร์ทต่าง ๆ ครบ ๆ ถ่ายภาพนิ่งต่อเนื่องระดับ 30fps พร้อมความเร็วโฟกัสที่เร็วจนน่าเหลือเชื่อ รวมถึงมีการเพิ่มฟังก์ชั้นใหม่ ๆ ที่จะทำให้การถ่ายภาพสนุก ๆ ขึ้น ง่ายขึ้น รายละเอียดเป็นยังไง มีข้อดี-ข้อเสียยังไง ติดตามได้ในรีวิวนี้เลยครับ

Introduction

Canon EOS R7 & Canon EOS R10

ล่าสุดกล้อง Mirrorless เซ็นเซอร์ APS-C ของ Canon ออกมาพร้อมๆกันสองตัวนั่นก็คือ Canon EOS R10 และ Canon EOS R7 ซึ่งดูเหมือนว่า Canon จะมีการแบ่ง Segment แบบชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ซึ่งถ้าใครเป็นสาวก Canon อยู่แล้วก็น่าจะดูคุ้นเคยและเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเค้าแบ่ง Segment แบบสมัย D-SLR เลย คือยิ่งตัวเลขหลักน้อยเท่าไหร่ก็ถือว่าเป็น Segment สูงกว่า เมื่อก่อนถ้าเรียงจากเล็กสุดไปใหญ่สุดก็จะมีตระกูล 1000D , 100D , 80D , 7D หลังจากนี้ก็จะเริ่มเป็น Fullframe โดยเริ่มที่ 6D , 5D , 1D อะไรก็ว่ากันไป ซึ่งพอมาเป็น Mirrorless ยุคแรก ๆ เหมือนยังไม่ลงตัวว่าจะแบ่งยังไง เหมือนออกมาเพื่อชิมรางลองตลาด ไม่ว่าจะเป็น Canon EOS M5 หรือ M50 รวมไปถึง Fullframe ก็พวก Canon EOS R หรือ Canon EOS RP พอเห็นว่าเป็นไปได้ก็มาแบ่งชัดขึ้นก็ยุค R5 R6 R3 จนถึงตอนนี้ R10 R7 ที่เป็น APS-C ก็ชัดเจนแล้วว่ามันจะเป็นไปในทิศทางนี้

เลนส์ RF-S เม้าท์ใหม่

Canon EOS R7 ใช้ Sensor ขนาด APS-C ซึ่งเลนส์ที่ออกมาแบบตรง ๆ สำหรับเค้านั่นก็คือ RF-S นั่นเอง เป็น Mount ใหม่ ไม่ได้ไปใช้ร่วมกับตระกูล M50 หรือ M50 ii ที่ใช้ APS-C แต่อย่างใด คือพูดง่าย ๆ คือเอามาใช้ด้วยกันไม่ได้นั่นแหละ ส่วนเลนส์ RF-S ณ ตอนนี้ก็ยังมีไม่เยอะ ที่ออกมาแล้วก็จะมี

  • RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM (เป็นเลนส์คิทติดกล้องที่ผมใช้ในรีวิวนี้)
  • RF-S18-45mm f/4.5-6.3 IS STM (เป็นเลนส์คิทติดกล้อง R10)

ส่วนตัวที่คาดว่าจะมาอีกในอนาคตก็จะประมาณนี้

  • Canon RF-S 22mm f/2 STM
  • Canon RF-S 11-55mm f/4-4.5 IS STM
  • Canon RF-S 55-250mm f/4.5-7.1 IS STM
  • Canon RF-S 16-55mm f/2.8 IS USM
  • Canon RF-S 32mm f/1.4 STM

ซึ่งตัวเลือกสำหรับคนที่จะซื้อ Canon EOS R7 แล้วจะเอาไปใช้กับเลนส์อะไรได้บ้างตอนนี้ ก็คือจะสามารถไปใช้ร่วมกับเลนส์ RF ที่เป็น Fullframe ได้ แต่ก็จะครอปไปอีก 1.6x และไปใช้กับเลนส์ EF และ EF-S ของ D-SLR ทั้งหลายแหล่ ทั้งในค่ายนอกค่ายผ่าน Mount Adapter EF-EOS R นั่นแหละครับท่านผู้ชม

Canon EOS R7 Keys spec

  • APSC SIZE 32.5 Effective Megapixel Sensor พร้อมค่าตัวคูณ 1.6 เท่า
  • ถ่ายภาพต่อเนื่องสูงสุด 30 เฟรมต่อวินาที (Electronic Shutter) 15 เฟรมต่อวินาที (Mechanical Shutter)
  • Raw burst Mode with Pre-shooting พร้อมฟังก์ชันตรวจติดตามวัตถุอัตโนมัติ AF/AE
  • ระบบออโต้โฟกัส Dual Pixel CMOS AF II
  • EOS iTR* AF X High-precision Subject detection & tracking (*Intelligent Tracking and Recognition)
  • บันทึกภาพเคลื่อนไหวระดับ 4K UHD จาก 7K oversampling, 4K 60p และ Canon Log 3
  • ค่าความไวแสงปกติที่กว้างตั้งแต่ 100 ถึง 32,000 (ขยายได้ถึง 51,200)
  • ช่อง EVF ความละเอียด 2.36 ล้านจุด โดยประมาณ
  • จอแอลซีดีระบบสัมผัสที่มีความละเอียดสูง 1.62 ล้านจุด ขนาด 3.0 นิ้ว
  • ช่องใส่การ์ดรองรับการ์ด SD แบบ UHS-II จำนวน 2 ช่อง
  • ชัตเตอร์ที่ทนทานต่อการทำงาน สามารถถ่ายภาพได้มากถึง 200,000 รอบ
  • แบตเตอรี่รุ่น LP-E6NH
  • ช่องเสียบแฟลชมัลติฟังก์

Body & Design

ในส่วนของการออกแบบและดีไซน์ก็ออกมาสไตล์เดียวกับรุ่นพี่ ๆ ก่อนหน้าอย่าง R5 R6 แต่ตัวจะเล็กกว่าเล้กน้อย ซึ่งก็ออกไปทางเหมือนกล้อง D-SLR แน่นอนว่าการจับถือก็ถือว่าจับถือได้ดีทีเดียว ส่วนน้ำหนักบอดี้ก็อยู่ที่ 612กรัม ก็ยังถือว่าไม่ได้เบามากแต่ก็ไม่ได้หนักมากเช่นกัน

ปุ่มควบคุมมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ที่เห็นชัด ๆ เลยก็จะเป็นในส่วนของปุ่ม 4 ทิศทางจะไม่มีวงแหวนสำหรับหมุนได้เหมือนเดิมแล้ว จะกด 4 ทิศทางเท่านั้น ส่วนวงแหวนโดนย้ายไปรวมอยู่กับ Joystick ซึ่งเอาจริง ๆ มองดูแล้วก็ดูไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ดูแปลก ๆ แต่ในแง่การใช้งานผมบอกเลยว่าแจ่มแมวแวววาว โดยเฉพาะเมื่อเราถ่ายโดยช่องมองภาพตำแหน่งของนิ้วโป้งเราจะอยู่ตรงนั้นพอดีและมันสะดวกมากๆ

ต่อกันด้วยช่องมองภาพเลย ความละเอียด 2.36 ล้านจุด โดยมาพร้อมกับฟีเจอร์ OVF Sim. view assist ที่เค้าบอกว่าจำลองช่องมองภาพให้เหมือน OVF (optical viewfinder) หรือใน DSLR นั่นแหละ หลักการก็คือดันส่วน Shadow ให้สว่างขึ้นนั่นแหละ ให้ Dynamic range มันเยอะขึ้นเหมือนที่ตาเรามองผ่านกระจกใน OVF เอาจริง ๆ เท่าที่ลองมาผมบอกเลยว่าเฉย ๆ ไม่ได้ได้อารมณ์อารมณ์ OVF ขนาดนั้น

ในส่วนของจอแสดงผลขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1.62 ล้านจุด แน่นอนมาด้วยจอแบบ Vari-angle หรือจอพับนั่นเองทัชสกรีนได้ทั้งระบบรวมถึงเมนู ซึ่งก็เป็นจุดเด่นที่ Canon ให้มาตลอดอยู่แล้ว ใครเอาไปถ่ายตัวเองก็เรียกได้ว่าสบาย

Hot shoe เป็นแบบใหม่แล้วคือเป็น Muti interface หรือพูดง่าย ๆ ว่า Digital ได้นั่นแหละ รองรับอุปกรณ์หรือไมค์ ที่เป็น Digital ได้นั่นเองครับ

ส่วนช่องใส่การ์ดก็จะเป็นแบบ SD 2 ช่อง รองรับการ์ด SD UHS-ii 1 ช่อง และ UHS-i 1 ช่องนั่นเอง

พอร์ทเชื่อมต่อครบ

พอร์ทเชื่อมต่อใน Canon EOS R7 ก็เรียกว่าให้มาครบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ

  • ช่องไมค์ 3.5mm
  • ช่องหูฟัง 3.5mm
  • ช่องรีโมทชัตเตอร์
  • USB-C
  • Micro HDMI

ซึ่งสามารถรองรับการทำงานทั้งถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอ ไลฟ์ ได้ครบ ๆ 

แต่มีข้อสังเกตุเล็กน้อย เรื่อง Clean HDMI คือหากคุณ Live หรือต่อ HDMI เพื่ออัดแยกภายนอกคุณจะไม่สามารถอัดบันทึกได้ที่ตัวกล้อง แน่นอนว่าก็มีกล้องหลาย ๆ ตัวที่ทำไม่ได้ แต่สิ่งที่มันแปลกมาก ๆ สำหรับผมคือถ้าคุณปรับ HDMI เป็นโหมด Clean อยู่แม้ว่าคุณจะไม่ได้เสียบสาย HDMI กับกล้องคุณก็ไม่สามารถที่จะกดบันทึกที่กล้องได้เช่นกัน อันนี้ผมมองว่าไม่ make sense เลย ลองนึกภาพตามว่าถ้าคุณไลฟ์หรือต่อ Clean HDMI อยู่ แล้วอยากจะถ่ายวีดีโอปกติ คุณต้องเข้าไปเปลี่ยนโหมด HDMI ให้ไม่ Clean ก่อน ซึ่งมันไม่สะดวกเอามาก ๆ 

แล้วก็อีกเรื่องแต่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนทั่วไป แต่คนแบบผมที่ต้องอัดหน้าจอแบบไม่คลีนโชว์ให้ทุกคนดูจะมีปัญหาเล็กน้อยตรงที่ว่าเมื่อเสียบจอเข้าไปแล้วจอหลักจะดับเวลาปรับอะไรก็จะไม่ค่อยสะดวกเพราะกดทัชสกรีนไม่ได้นั่นเอง แต่ถ้าลักษณะงานไม่ใช่แบบผมก็ไม่มีอะไรต้องห่วงเลยครับ

แบตเตอรี่อึดไหม?

แบตเตอรี่ใช้ LP-E6NH ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ R5 R6 ซึ่งสามารถรองรับการเสียบชาร์จผ่าน USB-C ได้ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับชาร์จไปใช้ไปได้ก็เหมือนกับรุ่นพี่ ๆ ความจุอยู่ที่ 2,130 mAh

จากการใช้งานผมลองถ่ายตั้งแต่ ราว ๆ 10 โมงเช้า ถึงราว ๆ บ่าย 3 โมงเย็น เวลารวม ๆก็น่าจะราว ๆ 4-5 ชม. ถ่ายภาพนิ่งไปราว ๆ 641 ภาพ และวีดีโอเป็นคลิปราวได้ 67 คลิป สั้นบ้างยาวบ้าง โดยที่แบตเตอรี่เพิ่งขึ้นเตือนว่าจะหมดจริง ๆ ก็น่าจะยังถ่ายได้อีกพอสมควรนะ ถ้าถามความรู้สึกว่าอึดไหม เอาจริง ๆ ก็อึดอยู่นะ กล้อง APSC อีกค่ายที่เอาไปไปถ่ายพร้อม ๆ ยังหมดไปก่อน ความอึดผมมองว่าอยู่ในระดับดีแต่ไม่ถึงกับดีมาก ถ้าจะถ่ายวีดีโอทั้งวันยังไงพกเพิ่มอีกสักก้อนก็น่าจะดีครับ กันเหนียวไว้ก่อน

ภาพนิ่ง 32.5 ล้านพิกเซล ถ่ายต่อเนื่อง 30fps

กล้อง Canon EOS R7 ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C โดยที่มี Crop Factor ที่ 1.6x นั่นเอง ความละเอียดอยู่ที่ 32.5 ล้านพิกเซล ส่วนตัวมองว่าเยอะเหลือเฟือเรียกได้ว่าครอปสนุกกันเลยทีเดียว และยังถ่ายต่อเนื่องได้ที่ 30fps โดยชัตเตอร์จะเป็น Electronic Shutter ซึ่งถือว่าเยอะมาก ๆ ถ้าไปใช้ Mechanical Shutter จะได้ที่ 15fps ซึ่งก็ยังเยอะอยู่ดี รองรับการถ่าย Sport ได้สบาย ๆ

Buffer

ในส่วนของ Buffer ผมมองว่าให้น้อยไปหน่อยเพราะกล้องที่ถ่ายได้ระดับ 30fps นั้นควรมี Buffer ที่เยอะหน่อย ลองนึกภาพกดแปบ ๆ 4 วินาที ก็ได้ 120ภาพแล้ว ส่วน Buffer ที่ให้มาดูแล้วก็ยังไม่สัมพันธ์กับการถ่ายต่อเนื่องที่รัวขนาดนี้

ทดสอบ ISO

ISO ในภาพนิ่งหลังจากที่ได้ทดสอบแล้วก็ต้องบอกว่าส่วนตัวผมโอเคที่ราว ๆ ISO3200 ส่วน ISO6400 ก็ยังพอไหว แต่จะเริ่มเห็น noise เยอะแล้ว ส่วนที่ ISO12800 ผมมองว่ามันเยอะเกินไป อาจจะใช้ในยามคับขันมาก ๆ มากกว่า

วีดีโอ 4K 60P ไม่ครอป

ความสามารถด้านวีดีโอของ Canon EOS R7 คือสามารถถ่ายได้สูงสุดที่ 4K 60fps โดยที่ไม่ครอป ส่วนที่เค้าบอกไว้ว่า oversampling มาจาก 7K นั้นจะถ่ายได้แค่ 30fps ถ้าตั้งที่กล้องจะเป็นแบบ 4K Fine นั่นเอง

สามารถถ่าย 10bit 4:2:2 ได้ แต่จะต้องถ่ายเป็น PQ HDR และ Clog-3 ถ้าถ่ายแบบ Rec.709 ธรรมดาจะเป็น 8bit 4:2:0 และในเมนูก็ไม่สามารถเลือก 10bit หรือ bitrate ได้แต่อย่างใด มีให้เลือกแค่ resolution กับ frame rate และ IPB เท่านั้น (ไม่มี All-i ด้วย)

ทดสอบ ISO

การทดสอบ ISO ในวีดีโอผมใช้วิธีการถ่ายที่ CLog-3 และทำการใส่ Lut ให้กลับมาเป็น REC.709 ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีกว่าในภาพนิ่งนะ ที่ ISO 12800 ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีใช้งานได้ จริง ๆ ผมมีทดสอบแบบธรรมดาด้วยนะถ่ายเป็น REC.709 ตั้งแต่แรก ผลที่ได้ก็ดีไม่ต่างกันครับ

ทดสอบ Overheat

ผมลองทดสอบการ overhaet ในวีดีโอ อุณภูมิจะอยู่ราว ๆ 32 องศาเซลเซียส โดยที่ Feel like จะอยู่ที่ราว ๆ 38 องศาเซลเซียส วางไว้กลางแดด แต่จะมีแดดบ้าง ไม่แดดบ้างขึ้นอยู่กับเมฆลอยผ่าน โดยถ่ายเป็น 4K 50fps ต่อเนื่อง ที่ราว ๆ 40 นาที จะเริ่มมีเครื่องหมายความร้อนและมีสเกลความร้อนขึ้นมา 10 แท่งด้วยกัน แต่ยังเป็นแท่งเปล่า ๆ หลังจากนั้นแท่งก็จะค่อย ๆ ขึ้นทีละ 1 ไปเรื่อย ๆ ซึ่งผมมองว่าดีนะ มีการเตือนก่อนว่ามันเริ่มร้อน ไม่ใช้เตือนแปบ ๆ แล้วดับ โดยที่ผมถ่ายไปได้ 1 ชม. 16 นาที 55 การ์ดก็เต็มเสียก่อน โดยที่สเกลความร้อนก็ใกล้เต็มแล้วมาก ๆ เช่นกัน ผมเลยทำการ Format การ์ด โดยใช้เวลา ไม่เกิน 1 นาที กลับมาพร้อมถ่ายอีกรอบ สเกลความร้อนลดลงไปเยอะเหมือนกัน แสดงว่าระบายความร้อนได้ค่อนข้างดีอยู่นะ และผมถ่ายได้อยู่อีก 17 นาที 19 วินาที

รวม ๆ กันสองคลิปผมถ่ายได้ราว ๆ 1 ชม. ครึ่งเลยทีเดียวก่อนจะ overheat ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจครับในเรื่องความร้อน

Rolling Shutter

Rolling Shutter ในภาพนิ่ง

แน่นอนว่า Rolling Shutter ในภาพนิ่งจะเป็นที่ชัตเตอร์แบบ Electronic แต่ผมถ่าย Mechanical มาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความต่างเช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า Electronic ชัตเตอร์จะมี Rolling shutter พอสมควรเลยผมให้ท็อปหมุนขาตั้งซึ่งความเร็วมันก็ไม่ได้สูงมาก ถ้าเราเอาไปถ่ายกีฬาเช่นตีกอล์ฟ เบสบอล ที่มีความเร็วสูงกว่านี้รับรองไม้เบี้ยวแน่นอน ส่วนตัวผมมองว่าถ้าต้องไปถ่ายภาพกีฬาที่มีความเร็วสูง ๆ และไม่อยากให้มี Rolling shutter ผมแนะนำใช้ชัตเตอร์เป็น Mechanical ดีกว่าถ่ายได้ 15fps น้อยลงหน่อยแต่ก็หลีกเลี่ยง Rolling shutter ได้มากกว่านั่นเอง

Rolling shutter ในวีดีโอ

ที่ผมทดสอบมาก็มีให้เห็นอยู่พอสมควร แต่ไม่ได้แย่มาก อยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ จะเป็นเยอะที่สุดที่ เมื่อถ่ายที่ 4Kfine 25fps เพราะมีการ oversampled มาจาก 7K เลยทำให้ข้อมูลในการประมวลผลเยอะกว่า ส่วน 4K 50/60fps ก็จะลดหลั่นลงมา น้อยสุดก็จะเป็น 4K 25/30fps นั่นเอง

กันสั่น IBIS 8 Stop

กันสั่นของ Canon EOS R7 เป็นแบบ IBIS หรือกันสั่น5แกนในตัวกล้องนั่นเอง โดยทาง Canon เค้าเคลมไว้ว่าสามารถป้องกันการสั่นไหวได้มากสุด 8 Stop ขึ้นอยู่กับเลนส์ เช่นถ้าเป็นเลนส์ RF 24-105mm F4 จะได้ 8 stop แต่สำหรับเลนส์ที่ผมได้มารีวิวในครั้งนี้เป็นเลนส์ RF-S18-150mm f/3.5-6.3 IS STM ตัวนี้จะได้ที่ 7 Stop ครับ

กันสั่นในภาพนิ่ง

ในการทดสอบผมอยากลองว่าถ้าแบบตั้งใจถือให้ดี ๆ เลยจะได้สักกี่ Stop โดยที่ใช้การนั่งถ่ายและส่อง Viewfinder คาดว่าน่าจะนิ่งสุดแล้วสำหรับท่าในนการถ่ายด้วยมือ ถ้านิ่งกว่านี้ก็ต้องเอาแขนวางบนเข่าแล้วครับ ซึ่งนั่นไม่มันจะโกงเกินไป และไม่ได้ใช้แขนในการรับน้ำหนัก

โดยที่โหมดกันสั่นในกล้อง Canon EOS R7 จะมีให้เลือกสองอันด้วยกัน เป็นกันสั่นในกล้อง และ และเพิ่ม digital เข้ามาอีกอันด้วย

ซึ่งจากการทดสอบผมเอาช็อตที่ดีที่สุดมาให้ดูนะครับ เพราะถ้าทำได้ก็แสดงว่าหวังผลพอได้ โดยที่ผมถือได้ราว ๆ 6 stop ก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ในโหมดที่เป็น digital ก็ได้พอๆ กัน แต่เหมือนจะดีกว่านิดเดียวครับ

กันสั่นในวีดีโอ

กันสั่นในวีดีโอจะมีให้เลือกทั้งหมด 3 แบบ คือเปิดกันสั่นที่ตัวกล้องอย่างเดียว อย่างที่สองคือเปิด digital จะมีการครอปนิดหน่อย อย่างที่สามคือ digital enhance ซึ่งจะครอปเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับกันสั่นในวีดีโอภาพรวมถ้าดูผ่าน ๆ หรือมองไปที่แบบอย่างเดียว เราจะรู้สึกว่าโอ้ววววว ดีเอาเรื่อง นิ่งดีครับ เพียงแต่ถ้าเรามองในรายละเอียดมากขึ้นจะเห็นว่า ช็อตเปิดกันสั่นที่ตัวกล้องอย่างเดียวจะมีอาการขอบภาพย้วย เห็นค่อนข้างชัด โดยที่เลนส์ก็ยังไม่ ultra wide ด้วยซ้ำ เพราะอาการนี้ปกติมักจะเป็นกับเลนส์ ultra wide + กันสั่น digital แต่อันนี้เป็นตั้งแต่กันสั่นในตัวกล้องเลย ก็แอบงง ๆ อยู่

พอเราเปิดกันสั่นที่เป็น digital ส่วนที่ย้วยจะเห็นน้อยลง ส่วนนึงผมว่าน่าจะมาจากการที่เค้าครอปขอบหายไปด้วยเลยเห็นน้อยลง

สุดท้ายกันสั่นแบบ digital enhance ซึ่งจะเห็นอาการย้วยของขอบภาพน้อยที่สุด แต่ก็ครอปเยอะสุดเช่นกัน

โฟกัสโคตรดี

ระบบโฟกัสเหมือนจะยกระบบหลาย ๆ อย่างมาจากกล้องรุ่นพี่อย่าง Canon EOS R3 เรื่องความเร็วโฟกัสเป็นอย่างหนึ่งที่ผมโคตรจะประทับใจในกล้อง Canon EOS R7 เลยครับ ถือว่าทำได้ดีมาก ๆ รวดเร็วไว้ใจได้ อัลกอริทึ่มก็ค่อนข้างฉลาดเลย ถ่ายพอร์ทเทรททั่ว ๆ ไปนี้กลายเป็นขนมเลย เปลี่ยนระบบโฟกัสเป็น Servo (continue focus) แล้วก็ปล่อยให้กล้องโฟกัสไปเรื่อย ๆ เราก็ทำหน้าที่แค่รักษาองค์ประกอบภาพ แล้วก็กดชัตเตอร์ แค่นั้น

เค้ามีการเพิ่มในส่วนของระบบ EOS iTR* AF X High-precision Subject detection & tracking (*Intelligent Tracking and Recognition) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือระบบ Tracking ใหม่ใช้ระบบ AI ในการช่วยตรวจจับ Subject ซึ่งมีความฉลาดมากยิ่งขึ้น โดยที่เราสามารถเข้าไปเลือก Subject tracking ได้ด้วยว่าจะเป็น People ,Animals , Vehicles ซึ่งก็ทำงานได้ดีมาก ๆ ครับ

ฟังก์ชั่นเสริมที่เพิ่มเข้ามา

Panning

ใน SCN mode เพิ่ม Panning มาช่วยให้มือใหม่ถ่าย Panning ได้ง่ายขึ้น เพียงแต่เลือก effect ของว่าอยากได้เยอะได้น้อยที่เหลือกล้องจะไปเลือก รูรับแสง ชัตเตอร์สปีด และ ISO ให้ สำหรับมือใหม่ก็จะได้ไม่ต้องพะวงเรื่องเหล่านี้ แต่สุดท้ายแล้วตอนถ่ายเราก็ยังต้อง Pan ตาม subject และกดชัตเตอร์ให้ดี ๆ ด้วยนะครับ

Raw Burst mode

คือโหมดที่เอาไว้ถ่ายต่อเนื่องนั่นเอง โดยที่จะสามารถถ่ายได้ที่ 30fps ได้ไฟล์ Raw ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเอ้าแล้วพิเศษยังไงถ่ายปกติก็ได้ ความพิเศษของเค้าก็คือจังหวะที่เรากดชัตเตอร์เค้าจะบันทึกก่อนหน้าไป 0.5 วิ (หรือราว ๆ 15ภาพนั่นเอง) ซึ่งก็จะทำให้เราไม่พลาดช่วงเวลาแม้เราจะกดชัดเตอร์ไม่ทันก็ตาม

ส่วนฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วจากรุ่นพี่ ๆ ก็

  • multiple exposure (ถ่ายภาพซ้อน)
  • Focus bracketing (ถ่ายคร่อมโฟกัส)
  • Interval timer (ถ่ายไทม์แลปส์)
  • Time-lapse movie (ได้เป็นวีดีโอ)

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ผมขอบ่นเรื่อง Interval timer หน่อยละกันแต่คงจะไม่ได้เอาไปรวมกับข้อสังเกตตอนหลังอะนะ คือผมก็บ่นไปตั้งแต่หลายตัวก่อนหน้าแล้วสำหรับโหมดนี้คือเค้ายังมีให้เลือกจำนวนการถ่ายภาพแค่สองหลักเหมือนเดิม คือไม่ทำเป็น 3 หลักเหมือนชาวบ้านเค้าสักที คือมันก็มีให้เลือก 00 เพื่อถ่าย Unlimited อะนะ แต่คือบางทีคำนวนแล้วอยากได้ 250 เฟรม 300 เฟรม อะไรทำนองนี้ ไม่ได้อยากถ่ายไปเรื่อย ๆ เสร็จก็จะได้จบ ๆ ไป จะได้ไม่ต้องมานั่งรอนั่งนับ ในขณะที่เจ้าอื่นเค้ามีตัวเลขคำนวนให้ด้วยซ้ำว่าจะใช้เวลากี่นาที เก็ทใช่ปะครับ ทำเถอะ! ผมจะได้นอนตายตาหลับ ฮ่า ๆ

สรุป จุดเด่น-จุดด้อย

สิ่งที่ประทับใจ

  • ไฟล์ใหญ่ ไฟล์ดี
  • รัวไว 30fps เรียกได้ว่าโหด
  • โฟกัสคือของดีย์
  • วีดีโอ 4K 60fps แบบไม่ครอป
  • กันสั่นโดยรวมคือนิ่งดี
  • โหมด Paning ที่เพิ่มมาดีมากสำหรับมือใหม่

สิ่งที่ขัดใจ

  • Buffer น้อยไปนิสสสสสสส
  • ตั้ง Clean HDMI แล้วกด REC ไม่ได้ แม้จะไม่ได้เสียบสาย โคตรจะไม่ make sense
  • กันสั่นในวีดีโอแบบยังไม่ Digital แอบย้วย แม้จะยังไม่ ultra wide เลย แต่เปิดดิจิตัลดันน้อยลง

ภาพรวมของกล้อง Canon EOS R7 ถือว่าเป็นกล้องที่เน้นความเร็วโดยแท้จริง ๆ ไม่ว่าจะรัวได้เร็ว 30fps โฟกัสที่เร็วจนร้องว้าวววว หรือฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่พยายามเพิ่มมาให้กล้องถ่ายได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยรวมผมรู้สึกประทับใจกล้อง EOS R7 ตัวนี้มาก ๆ หวังว่าจะรีบ ๆ ออกเลนส์ RF-S มาไว ๆ จะได้ใช้งานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นครับ

ราคา Canon EOS R7

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save